องค์กรยุวชนเพื่อความยุติธรรม
องค์กรยุวชนเพื่อความยุติธรรม (Angkatan Pemuda Insaf) เป็นองค์กรที่แยกตัวออกมาจากพรรคชาตินิยมมลายูเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2489 เป็นกลุ่มที่ดำเนินนโยบายแบบหัวรุนแรง บทบาทของกลุ่มนี้เริ่มเด่นชัดในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นกลุ่มที่ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในฐานะผู้ปลดแอกมลายูจากอังกฤษ และยังติดต่อกับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาที่เป็นฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับๆ เป้าหมายที่แท้จริงของกลุ่มนี้คือต้องการรวมมาเลเซียเข้ากับอินโดนีเซียเป็นสมาพันธ์ของชาวมลายู
ใน พ.ศ. 2488 เริ่มมีแนวโน้มว่าญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม กลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงจึงตั้งองค์กรสหภาพชาวอินโดนีเซียแห่งคาบสมุทรเพื่อประกาศเอกราชร่วมกันแต่ไม่สำเร็จ อินโดนีเซียภายใต้การนำของซูการ์โนประกาศเอกราชต่างหาก ส่วนอังกฤษกลับมาครอบครองคาบสมุทรมาลายาตามเดิม กลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงจึงตั้งพรรคชาตินิยมมลายูขึ้น
การเมืองในมาลายาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ แผนการตั้งสหภาพมาลายาที่ให้โอกาสชนกลุ่มอื่นๆที่ไม่ใช่ชาวมลายูและกีดกันสิทธิของชนชั้นปกครองเดิมคือสุลต่านถูกชาวมลายูคัดค้าน จนต้องล้มเลิกไป หันมาใช้รูปแบบสหพันธรัฐมาลายาแทน เกิดกลุ่มการเมืองใหม่ที่เรียกว่าพรรคแนวร่วมชาตินิยมมลายูหรืออัมโน เมื่ออังกฤษดำเนินนโยบายเอียงไปทางกลุ่มสุลต่านและอัมโน บางส่วนของพรรคชาตินิยมมลายูได้แยกตัวออกมาเพื่อประสานงานกับกลุ่มฝ่ายซ้ายอื่นๆและเพื่อต่อรองกับกลุ่มอนุรักษนิยม
แนวทางขององค์กรยุวชนด้วยความยุติธรรมเป็นไปด้วยความรุนแรงกว่าพรรคชาตินิยมมลายู หัวหน้ากลุ่มคืออาหมัด โบเอสตามานที่เคยเป็นสมาชิกกลุ่มยุวชนภายใต้การสนับสนุนของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คำขวัญประจำองค์กรคือ Merdeka Dengan Durah (เสรีภาพที่ได้มาด้วยเลือด) ด้วยการเน้นการต่อสู้ด้วยความรุนแรง ทำให้อังกฤษเห็นว่ากลุ่มนี้เป็นภัยต่อประเทศ องค์กรยุวชนฯจึงถูกประกาศให้เป็นกลุ่มนอกกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2490 สมาชิกของกลุ่มพยายามรวมตัวกันอีกครั้งในชื่อ กลุ่มยุวชนมลายูหัวรุนแรงหรือกลุ่มปาริม เพื่อต่อต้านการตั้งสหพันธรัฐมาลายา กลุ่มนี้สลายตัวไปหลังเหตุการณ์การก่อจลาจลของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2491
อ้างอิง
[แก้]- สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B กทม. ราชบัณฑิตยสถาน. 2539