ห้างแบดแมน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ห้างแบดแมน ภาพจาก Twentieth Century Impressions of Siam

ห้างแบดแมน (อังกฤษ: Harry A. Badman & Co.) เป็นห้างสรรพสินค้าในอดีตในกรุงเทพมหานคร เริ่มดำเนินกิจการในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันถูกรื้อถอนและทำเป็นลานจอดรถกองสลาก

ประวัติ[แก้]

ประวัติการก่อตั้งมีสองข้อมูลที่แตกต่างกันไป Twentieth Century Impressions of Siam ระบุว่าก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2427 ส่วน Seaport of the Far East ระบุว่าก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2422[1]

แต่เดิมนั้นห้างแบดแมนตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ต่อมาได้ย้ายมายังบริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงทำพิธีเปิดอาคารห้างใหม่ของนายแบดแมนด้วยพระองค์เองในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2450 ต่อมานายแบดแมนเกษียณอายุแล้วกลับไปเปิดร้านชื่อเดียวกันที่บ้านเกิดในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภายหลังห้างเลิกกิจการ ทางราชการได้ใช้เป็นตึกกรมโฆษณาการในสมัยประชาธิปไตยในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้พัฒนาเป็นสำนักงานโฆษณาการ กรมโฆษณาการ และกรมประชาสัมพันธ์ ต่อมามีการรื้อถอนทั้งหมดหลังถูกเพลิงไหม้เสียหายจากเหตุพฤษภาทมิฬ[2]

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พื้นที่ดังกล่าวได้ใช้ตั้งพลับพลาชั่วคราวสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ทอดพระเนตรกระบวนพยุหยาตราสถลมารค[3]

การดำเนินกิจการ[แก้]

ห้างแบดแมนเป็นห้างที่จำหน่ายสินค้าหรูหรา เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่นำมาขายแต่เป็นของฝรั่งทันสมัย เช่น สุรา ยารักษาโรค พืชไร่ที่ต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ เครื่องเงิน เครื่องเงินลงยา นาฬิกาข้อมือ เครื่องเพชรนิลจินดา อานม้าหรือบังเหียนม้า เครื่องเรือนที่ชาวจีนผลิต เครื่อนเรือนเลียนแบบเครื่องเรือนโบราณ เครื่องแบบข้าราชการทั้งพลเรือนและทหาร ห้างแบดแมนจึงกลายเป็นห้างที่เจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์เข้ามาซื้อสินค้ากันมาก[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. อรรถชัย ลิ้มเลิศเจริญวนิช. "การใช้พื้นที่ของถนนราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียงนับแต่แรกเริ่ม-ปัจจุบัน (พ.ศ.2442-2548)" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 35.
  2. "กำเนิด "แบดแมน" อดีตห้างดัง ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ฮิตในหมู่ขุนนาง-ชนชั้นสูง". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก: กรมสมเด็จพระเทพฯ-ฟ้าหญิงสิริวัณณวรี ทอดพระเนตรขบวนเสด็จฯ เลียบพระนคร". www.sanook.com/news. 2019-05-05.
  4. "เปิดตำนานห้างหรู ณ บางกอก". หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ.