หลาและปอนด์สากล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หลาและปอนด์สากล (อังกฤษ: international yard and pound) เป็นหน่วยชั่งตวงวัดสองหน่วยซึ่งกำหนดโดยผู้แทนจากหกประเทศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 หกประเทศดังกล่าวได้แก่สหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ ข้อตกลงระหว่างผู้แทนทั้งหกประเทศกำหนดความยาวหนึ่งหลาให้เท่ากับ 0.9144 เมตรพอดี และมวลหนึ่งปอนด์ให้เท่ากับ 0.45359237 กิโลกรัมพอดี[1]

ประวัติ[แก้]

อาคารรัฐสภาสหราชอาณาจักรถูกเพลิงไหม้เสียหายในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1834 ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นรวมไปถึงตุ้มน้ำหนักและแท่งความยาวมาตรฐานสำหรับหน่วยชั่งตวงวัดแบบอังกฤษซึ่งเก็บรักษาอยู่ภายในด้วย รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงจัดทำหน่วยวัดมาตรฐานขึ้นใหม่เพื่อทดแทนหน่วยวัดมาตรฐานที่เสียหายซึ่งเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 1855 แท่งความยาวมาตรฐานหนึ่งหลาหรือ "ไม้หลา" จำนวนสองแท่งถูกส่งไปยังสหรัฐเพื่อให้ใช้เป็นหน่วยมาตรฐานของสหรัฐด้วย

ต่อมาใน ค.ศ. 1866 รัฐสภาสหรัฐได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้หน่วยวัดระบบเมตริกในการค้าได้ แม้ว่าจะยังไม่ได้กำหนดให้เป็นหน่วยหลักก็ตาม ในกฎหมายฉบับดังกล่าวมีตารางสำหรับแปลงหน่วยระหว่างระบบอังกฤษและระบบเมตริก ซึ่งรวมถึงนิยามความยาวหนึ่งเมตรเทียบกับหนึ่งหลา และหนึ่งกิโลกรัมเทียบกับหนึ่งปอนด์ หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1893 ได้มีคำสั่งเมนเดนฮอลล์ให้เปลี่ยนมาตรฐานความยาวในสหรัฐจากเดิมที่อิงตามมาตรฐานของอังกฤษไปอิงตามระบบเมตริกแทน[2][3] ซึ่งมาจากเหตุปัจจัยสองประการ ประการแรกได้แก่แท่งความยาวมาตรฐานที่ได้รับมาจากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1855 พบว่าไม่เสถียรและหดสั้นลงอย่างเห็นได้ชัด ประการที่สองได้แก่สหรัฐร่วมลงนามในอนุสัญญาเมตริกเมื่อ ค.ศ. 1875 และได้รับแท่งความยาวมาตรฐานเมตริกซึ่งถูกนำไปใช้เป็นมาตรฐานต่อไป

ในสหราชอาณาจักรได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติชั่งตวงวัดใน ค.ศ. 1897 โดยอนุญาตให้ใช้ระบบเมตริก[4] และได้ออกประกาศสภาองคมนตรีฉบับที่ 411 (ค.ศ. 1898) กำหนดหน่วยเมตรและกิโลกรัมตามหน่วยหลาและปอนด์[5] นิยามของสหราชอาณาจักรจะนิยามกลับกันเพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดให้ความยาวหนึ่งหลาอังกฤษมีค่าเท่ากับ 36/39.370113 เมตร[6]

ขณะเดียวกันในทศวรรษ 1890 อัลเบิร์ต อะบราฮัม ไมเคิลสันได้ทำการทดลองเกี่ยวกับอินเทอร์เฟอโรเมทรี เขาได้ข้อสรุปใน ค.ศ. 1903 และเผยแพร่ต่อสาธารณะว่าสามารถใช้คลื่นแสงเพื่อกำหนดหน่วยความยาวได้ ใน ค.ศ. 1908 นักวิจัยสองคณะซึ่งคณะหนึ่งนำโดยไมเคิลสันได้กำหนดหน่วยความยาวของแท่งความยาวเมตรมาตรฐานโดยใช้คลื่นแสง ต่อมาใน ค.ศ. 1927 สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศได้ยอมรับนิยามคลื่นแสงใน ค.ศ. 1908 เป็นมาตรฐานเพิ่มเติม[7]

ใน ค.ศ. 1930 สถาบันมาตรฐานแห่งสหราชอาณาจักร (บีเอสไอ) ได้ยอมรับนิยามความยาวหนึ่งนิ้ว ให้เท่ากับ 25.4 มิลลิเมตรตามข้อกำหนดที่ยอมรับใน ค.ศ. 1927 ในขณะที่สมาคมมาตรฐานแห่งสหรัฐ (เอเอสเอ) ยอมรับนิยามเดียวกันใน ค.ศ. 1933 และภายใน ค.ศ. 1935 ภาคธุรกิจใน 16 ประเทศได้ยอมรับนิยามดังกล่าวซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า "นิ้วอุตสาหกรรม"[8][9] ใน ค.ศ. 1946 ที่ประชุมวิทยาศาสตร์เครือจักรภพแห่งอังกฤษได้แนะนำให้ประเทศในเครือจักรภพแห่งอังกฤษใช้นิยามความยาวหนึ่งนิ้วให้เท่ากับ 25.4 มิลลิเมตรพอดี และหนึ่งหลาหรือ 36 นิ้วให้เท่ากับ 0.9144 เมตรพอดี[10][note 1] สมาคมมาตรฐานแห่งประเทศแคนาดา (ซีเอสเอ) ได้ยอมรับมาตรฐานดังกล่าวใน ค.ศ. 1951[11]

เดือนตุลาคม ค.ศ. 1958 คณะกรรมการชั่งตวงวัดสากลได้แนะนำว่าหน่วยเมตรควรจะนิยามตามคลื่นแสงสีส้มจากอะตอมคริปทอน-86 ซึ่งข้อแนะนำดังกล่าวทำให้ผู้แทนจากหกประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักได้แก่ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ สหรัฐ และสหราชอาณาจักรตกลงที่จะให้นิยามหน่วยหลาสากลและปอนด์สากลอิงตามหน่วยเมตรและหน่วยกิโลกรัม โดยกำหนดให้หนึ่งหลาสากลเท่ากับ 0.9144 เมตรพอดี และหนึ่งปอนด์สากลเท่ากับ 0.45359237 กิโลกรัมพอดี[1] หนึ่งหลาสากลสั้นกว่าหนึ่งหลาอิมพิเรียลประมาณ 2 ไมโครเมตร ในขณะที่หนึ่งปอนด์สากลเบากว่าหนึ่งปอนด์อิมพิเรียลประมาณ 0.6 มิลลิกรัม[12]

คณะกรรมาธิการมาตรฐานแห่งสหรัฐเริ่มใช้หน่วยหลาสากลและปอนด์สากลซึ่งบัญญัติตามระบบเมตริกตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1959[13][14] ในประเทศออสเตรเลีย หน่วยดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับที่ 142 ประจำ ค.ศ. 1961 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1964[15] ส่วนในสหราชอาณาจักรได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติชั่งตวงวัดให้ใช้หน่วยปอนด์สากลและหลาสากลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1964[16]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ซึ่งทำให้หนึ่งฟุตหรือ 12 นิ้วมีความยาวเท่ากับ 30.48 เซนติเมตรพอดีเช่นกัน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 United States. National Bureau of Standards (1959). Research Highlights of the National Bureau of Standards. U.S. Department of Commerce, National Bureau of Standards. p. 13. สืบค้นเมื่อ 31 July 2019.
  2. National Bureau of Standards, Refinement of values for the yard and pound
  3. Bewoor, Arand K; Kulkarni, Vinay A (2009). Metrology & Measurement. Tata McGraw-Hill Education. p. 18. ISBN 978-0-07-014000-4. สืบค้นเมื่อ 16 September 2012.
  4. John Mews, บ.ก. (1897). "Statutes of the Realm - 60-61 Victoria". The Law journal reports. Vol. 66. London: The Law Journal Reports. p. 109. สืบค้นเมื่อ 16 September 2012.
  5. Great Britain; Pulling, Alexander; Great Britain. Statute Law Committee (1904). The statutory rules and orders revised: being the statutory rules and orders (other than those of a local, personal, or temporary character) in force on December 31, 1903 ... Vol. 13 (2nd ed.). section 4 - Weights and Measures: HMSO. pp. 4:25–27. สืบค้นเมื่อ 17 September 2012.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  6. Connor, R D (1987). The Weights and Measures of England. H.M. Stationery Office. ISBN 978-0-11-290435-9. สืบค้นเมื่อ 17 September 2012.
  7. Estermann, Immanuel (1959). Classical Methods. Academic Press. p. 27. ISBN 978-0-12-475901-5. สืบค้นเมื่อ 16 September 2012.
  8. National Conference on Weights and Measures; United States. Bureau of Standards; National Institute of Standards and Technology (U.S.) (1936). Report of the ... National Conference on Weights and Measures. U.S. Department of Commerce, Bureau of Standards. p. 4. สืบค้นเมื่อ 2 August 2012.
  9. Wandmacher, Cornelius; Johnson, Arnold Ivan (1995). Metric Units in Engineering--going SI: How to Use the International Systems of Measurement Units (SI) to Solve Standard Engineering Problems. ASCE Publications. p. 265. ISBN 978-0-7844-0070-8. สืบค้นเมื่อ 2 August 2012.
  10. Report of the British Commonwealth Scientific Conference. Official Conference, London, 1946. Cmd. 6970. H.M. Stationery Office, 1946
  11. Canadian Journal of Physics, 1959, 37(1): 84, 10.1139/p59-014
  12. "Synchronize Yardsticks!". Popular Mechanics. Hearst Magazines. March 1959. p. 248.
  13. Lewis Van Hagen Judson; United States. National Bureau of Standards (1976). Weights and measures standards of the United States: a brief history. Dept. of Commerce, National Bureau of Standards : for sale by the Supt. of Docs., U.S. Govt. Print. Off. pp. 30–1. สืบค้นเมื่อ 16 September 2012.
  14. National Conference on Weights and Measures; United States. Bureau of Standards; National Institute of Standards and Technology (U.S.) (1957). Report of the ... National Conference on Weights and Measures. U.S. Department of Commerce, Bureau of Standards. pp. 45–6. สืบค้นเมื่อ 2 August 2012.
  15. Australian Government ComLaw Weights and Measures (National Standards) Regulations - C2004L00578
  16. Thoburn v Sunderland City Council [2002] EWHC 195 (Admin) (18 February 2002)