หลวงพ่อเขียน ธมฺมรกฺขิโต
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
หลวงพ่อเขียน ธมฺมรกฺขิโต (เขียน ธัมมรักขิโต) | |
---|---|
![]() | |
ชื่ออื่น | หลวงพ่อเขียน |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | วันเสาร์เดือน4ปีขาล พ.ศ. 2399 (108 ปี) |
มรณภาพ | 21 ธันวาคม พ.ศ. 2507 |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดสำนักขุนเณร จังหวัดพิจิตร |
บรรพชา | พ.ศ. 2411 |
อุปสมบท | พ.ศ. 2420 |
พรรษา | 87 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดสำนักขุนเณร |
หลวงพ่อเขียน ธัมมรักขิโต พระเกจิดังแห่ง วัดสำนักขุนเณร ตำบลวังตะกู อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร พระอริยสงฆ์ผู้ทรงวาจาศักสิทธิ์เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของเหล่าสาธุชนและคณะศิษยานุศิษย์ มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ จนได้รับการยกย่องจากชาวเมืองพิจิตร
ประวัติ
[แก้]หลวงพ่อเขียน มีนามเดิมว่า เสถียร จันทร์แสง เกิดเมื่อ วันเสาร์ เดือน 4 ปีขาล ตรงกับ พ.ศ. 2399 ที่บ้านตลิ่งชัน ตำบลชอนไพร อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายทอง และนางปลิด จันทร์แสง มีพี่น้องร่วมท้อง 5 คน ท่านเป็นคนที่ 3
บรรพชา
[แก้]เมื่ออายุได้ 12 ปี พ.ศ. ๒๔๑๑ เกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงขออนุญาตจากบิดามารดาเข้าบรรพชา ที่วัดทุ่งเรไร ในขณะที่เป็นสามเณร ได้ศึกษาอักขระกับท่านสมภาร พออ่านออกเขียนได้ และได้เรียนภาษาขอม ควบคู่ไปกับภาษาไทย เนื่องด้วยท่านมีความขยันหมั่นเพียร ในการเขียนอ่าน ท่านสมภารจึงได้เปลี่ยนชื่อจาก "เสถียร" มาเป็น "เขียน" นับแต่บัดนั้น
อุปสมบท
[แก้]เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้อุปสมบทที่ วัดภูเขาดิน (หรืออีกชื่อหนึ่งว่า วัดภูกระดึง) ซึ่งอยู่ใกล้กับปากน้ำป่าสัก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีพระอธิการประดิษฐ์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการสอน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อย่างไรก็ตาม หลังจากท่านอุปสมบทได้ 1 พรรษา โยมบิดา-มารดา ได้มารบเร้าขอให้ลาสิกขาบท เพื่อไปแต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่ง แต่หลวงพ่อเขียนได้ปฏิเสธด้วยมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะบวชตลอดชีวิตในพระพุทธศาสนา
วัดวังตะกู
[แก้]จากนั้นท่านได้เดินทางมาที่บ้านวังตะกู อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ในปีนั้นทางวัดวังตะกูขาดพระจำพรรษา ทางกำนันตำบลวังตะกูและชาวบ้านได้นิมนต์ท่านให้จำพรรษาที่วัดนี้ ต่อมาท่านได้เริ่มศึกษา ปริยัติธรรมที่วัดเสาธงทอง จังหวัดลพบุรีมีพระอาจารย์ทองป็นผู้สอนท่านอยู่ที่วัดนี้นาน 9 ปี ต่อมาหลวงพ่อเขียนได้เข้ามาศึกษาต่อที่วัดรังษี กรุงเทพมหานครมีท่านเจ้าคุณธรรมกิตติเป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้นต่อมาทางวัดรังษีจะโอนเป็นธรรมยุตนิกายแต่ท่านไม่ยอมจึงได้กลับมาที่วัดเสาธงทองอีกครั้ง ท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดเสาธงทองได้ 9 พรรษา กำนันตำบลวังตะกูและชาวบ้านได้มานิมนต์หลวงพ่อเขียนให้มาจำพรรษาที่วัดวังตะกูหลวงพ่อเขียนท่านรับนิมนต์และได้มาจำพรรษาที่วัดวังตะกูอีกวาระหนึ่งตั้งแต่นั้นมา
วัดสำนักขุนเณร
[แก้]หลวงพ่อเขียนได้อยู่ที่วัดวังตะกูจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2491 กำนันเถาว์ ทิพย์ประเสริฐ บ้านสำนักขุนเณร ตอนนั้นท่านยังเป็นกำนันตำบลวังงิ้วพร้อมด้วญาติโยมได้มานิมนต์ท่านให้ไปจำพรรษาที่วัดสำนักขุนเณรซึ่งอยู่ห่างกันกับวัดวังตะกูเพียง 5 กม.เท่านั้น หลวงพ่อท่านเดินทางไปมาระหว่าง 2 วัดนี้มิได้ขาดจนปี พ.ศ. 2493 หลวงพ่อเขียนจึงตัดสินใจจำพรรษาที่วัดสำนักขุนเณรตั้งแต่นั้นมา
มรณภาพ
[แก้]หลวงพ่อเขียน มีโรคประจำตัวท่านอยู่โรคหนึ่ง นั่นก็คือ โรคหืด ซึ่งเป็นโรคที่ทรมานท่านเป็นอย่าง มาก เมื่อเวลาโรคกำเริบ แต่หลวงพ่อจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา เพราะท่านระงับด้วยขันติธรรม ต่อมา เมื่อท่านชราภาพมากขึ้นทุกขณะ ท่านฉันภัตตาหารไม่ค่อยจะได้ ทำให้เรี่ยวแรงหมดไปทุกที คณะกรรมการวัด และศิษยานุศิษย์ จึงได้นำหลวงพ่อไปรักษา ที่สถานพยาบาลในตลาดบางมูลนาก แต่ เนื่องจากความชรา และโรคกำเริบ สุดความสามารถของแพทย์จะรักษาท่านได้ ท่านก็ถึงแก่มรณภาพ ด้วยอาการสงบ ในคืนวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เวลา ๒๓.๕๐ น. สิริรวมอายุได้ ๑๐๘ ปี
อ้างอิง
[แก้]- ประวัติหลวงพ่อเขียน (เขียน ธัมมรักขิโต) เก็บถาวร 2010-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์ของวัดสำนักขุนเณร (www.luangprokhean.com)
- เรื่องราวอันเป็นตำนานของหลวงพ่อเขียน วัดสำนักขุนเณร