หลวงปู่ยิ้ม จนฺทโชติ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
หลวงปู่ยิ้ม จนฺทโชติ (2387-2453) วัดหนองบัว พระเถราจารย์แห่งจังหวัดกาญจนบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว (วัดศรีอุปลาราม) ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ท่านได้เป็นอาจารย์สอนด้านวิปัสสนาและคาถาอาคมให้แก่พระหลายรูป อาทิ พระโสภณสมาจารย์ (เหรียญ) วัดศรีอุปลาราม, พระเทพมงคลรังษี (ดี) วัดเทวสังฆาราม, พระกาญจนวัตรวิบูลย์ (สอน) วัดทุ่งลาดหญ้า, พระโสภณสมณกิจ (หัง) วัดเหนือ, พระราชมงคลวุฒาจารย์ (ใจ) วัดเสด็จ และหนึ่งในศิษย์ฆราวาสคนสำคัญของท่าน คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
ชาติภูมิ
[แก้]หลวงปู่ยิ้ม เป็นชาววังด้ง จ.กาญจนบุรี เกิดปีมะโรง เดือนห้า วันอังคาร พ.ศ. 2387 เป็นบุตร นายยิ่ง นางเปี่ยม บิดามารดาประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ล่องไปขายที่ปากอ่าวแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม
อุปสมบทและการศึกษา
[แก้]ครั้นได้อายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โดยมี พระอาจารย์กลีบ วัดหนองบัว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แดง วัดเหนือ และพระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า จนฺทโชติ เมื่อบวชเรียนแล้วเรียนอักษรขอม ภาษาบาลี มงคลทีปนี มูลกัจจายน์ พระมาลัย พระเจ้า 10 ชาติ ท่องสูตรสนธิจนช่ำชอง สามารถท่องจำพระปาฏิโมกข์สวดได้แต่พรรษาที่ 2 ด้วยท่านชอบวิชาความรู้ จึงได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์แดงพระคู่สวดว่า เมืองบางช้าง (สมุทรสงคราม) มีพระอาจารย์เก่ง ๆ หลายวัด วิชาแขนงต่าง ๆ ไม่ซ้ำกัน ท่านจึงได้มุ่งมาทางเมืองบางช้าง ซึ่งท่านมีความคุ้นเคยอยู่ตั้งแต่สมัยที่ติดตามครอบครัวล่องแพไม้ไผ่ไปขาย
วัดแรกที่ท่านเข้าไปศึกษา คือ วัดบางนางลี่น้อย อำเภออัมพวา มีพระพระปลัดทิม อุปัชฌาย์เก่าแก่ของวัด เรียนทางน้ำมนต์โภคทรัพย์ ยุคนั้นเชื่อว่าใครได้อาบน้ำมนต์วัดนี้ คนจนก็จะรวย ถ้าเป็นขุนนางก็จะได้เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ พระปลัดทิมมีวิชาทำผงทางเมตตามหานิยม และวิชาโหราศาสตร์ ฤกษ์ล่าง ฤกษ์บนต่างๆ ปัจจุบันวัดนี้ได้ถูกน้ำเซาะตลิ่งจมหายไปในแม่น้ำแม่กลองแล้ว วัดต่อมาคือ วัดลิงโจน ต่อมาเรียกว่า วัดปากสมุทรสุดคงคา คืออยู่ปากอ่าวแม่กลอง กับพระพ่วง ท่านมีวิชาทำธงกันอสุนีบาตสายฟ้า และพายุคลื่นลม ชาวเรือทะเลนับถือมาก วิชาหวายลงอักขระของท่าน ทำเป็นรูปวงกลม ว่ากันว่าเวลาขาดน้ำจืด เอาหวายโยนลงทะเลแล้วตักน้ำ ภายในวงหวายจะได้น้ำจืดทันที ลูกอมหมากทุย ก็ลือชื่อ พระรูปนี้สำเร็จจินดามณีมนต์เรียกปลาเรียกเนื้อได้แบบพระสังข์ทอง อาจารย์ต่อมาคือ พระกลัด วัดบางพรม อัมพวา เรียนทางมหาอุด ผ้าเช็ดหน้าทาง มหานิยม เชือกคาดเอวถักเป็นรูปกระดูกงู กันเขี้ยวงาและทางคงกระพันชาตรี ท่านองค์นี้ย่นหนทางได้ ข้ามแม่น้ำลำคลองไม่ต้องใช้เรือแพ และ พระแจ้ง วัดประดู่ อัมพวา เรียนทางแพทย์แผนโบราณ มีดหมอปราบภูติผีปีศาจ ทางมหาประสาน เชือกคาดชื่อตะขาบไฟหรือไส้หนุมาน มีดตะกรุดคู่อยู่หัวเชือก จากนั้นท่านยังได้ไปศึกษาอยู่กับพระอาจารย์ในถ้ำพุพระ (ถ้ำขุนแผน)เมืองกาญจนบุรี พระอาจารย์องค์นี้มีอายุร้อยกว่าปี ชำนาญอภิญญามีอิทธิคุณถึงล่องหนหายตัวได้ ตามประวัติบันทึกของพระโสภณสมาจารย์กล่าวว่า "พระยิ้มชอบทางรุกขมูลธุดงค์วัตร ออกพรรษาแล้วเข้าป่าเจริญสมาธิในป่าลึก ท่านรู้จักภาษา นก กา สัตว์ป่าทุกชนิด จิตกล้าเข้าทุกที จะทำเครื่องรางชนิดใดก็ขลังไปทุกอย่าง"
มรณภาพ
[แก้]หลวงปู่ยิ้ม จนฺทโชติ ถึงแก่มรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2453 สิริอายุได้ 66 ปี เมื่อท่านได้ถึงมรณภาพแล้ว ตำรับตำราต่าง ๆ ของท่านก็เป็นมรดกตกทอดมาถึงเจ้าคุณพระโสภณสมาจาร (เหรียญ)วัดหนองบัว และสานุศิษย์ที่สืบทอดวิชาก็ได้สร้างเครื่องรางเจริญรอยตามแบบท่านสืบมาจนปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]ข้อมูลจาก : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง https://www.pra-maeklong.com/2021/02/PhuYim-WatNongBoa.html