หมากรุก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชุดหมากรุกสากลสำหรับผู้เล่น 3 คน

หมากรุก เป็นเกมกระดานประเภทหนึ่งที่ลักษณะคือ ผู้เล่นสองฝ่ายเลือกเดินตัวหมากของฝ่ายตนเองบนกระดานที่กำหนด โดยตัวหมากแต่ละประเภทสามารถเลือกเดินได้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ผู้เล่นมีเป้าหมายคือการ "รุกจน" ตัวขุนของฝ่ายตรงข้าม (ทำให้ตัวขุนของอีกฝ่ายไม่สามารถเดินต่อไปได้) เกมหมากรุกทั่วโลกมีหลายชนิด โดยแต่ละชนิดใช้กระดาน ตัวหมาก และกติกาที่แตกต่างกัน เช่น หมากรุกไทย หมากรุกสากล หมากรุกจีน หมากรุกญี่ปุ่น หมากรุกเกาหลี เป็นต้น หมากรุกประเภทต่างๆ มีที่มาทางประวัติศาสตร์ร่วมกันจากเกมจตุรงค์ ซึ่งมีเล่นกันในอินเดียสมัยโบราณ

ประวัติ[แก้]

การเล่นหมากรุกปรากฏในประเทศอินเดียมาหลายพันปี ชาวอินเดียอ้างว่าหมากรุกเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระรามไปล้อมเมืองลงกา นางมณโฑเห็นทศกัณฐ์เป็นกังวลกับการสงคราม จึงได้นำกระบวนสงครามตั้งทำเป็นหมากรุกขึ้นให้ทศกัณฐ์เล่นแก้รำคาญ ชาวอินเดียเรียกหมากรุกว่า "จตุรงค์" เพราะเหตุที่นำกระบวรพล 4 เหล่าทำเป็นตัวหมากรุก คือ พลช้าง 1 พลม้า 1 พลเรือ 1 พลราบ (เบี้ย) 1 มีพระราชา (ขุน) เป็นจอมทัพ ตั้งเล่นบนแผ่นกระดานจัดขึ้นเป็นตาราง 64 ช่อง วิธีเล่นหมากรุกเดิมที่เรียกว่าจัตุรงค์นั้น ไม่เหมือนอย่างที่เล่นกันในปัจจุบัน มีอธิบายอยู่ในหนังสือมหาภารตะว่า เป็นตัวหมากรุก 4 ชุด แต้มสีต่างกัน สีแดงชุดหนึ่ง สีเขียวชุดหนึ่ง สีเหลืองชุดหนึ่ง สีดำชุดหนึ่ง ในชุดหนึ่งนั้น ตัวหมากรุกมีขุน 1 ตัว ช้าง (โคน) 1 ตัว ม้า 1 ตัว เรือ 1 ตัว เบี้ย 4 ตัว รวมเป็นหมากรุก 8 ตัว สมมติว่าเป็นกองทัพของประเทศหนึ่ง ชุดทางขวามือสมมติว่าอยู่ประเทศทางตะวันออก พวกทางซ้ายมือว่าอยู่ประเทศตะวันตก ชุดข้างบนอยู่ประเทศทางทิศเหนือ ชุดข้างล่างอยู่ประเทศทิศใต้ คนเล่น 4 คนต่างถือหมากรุกคนละชุด แต่การเล่นนั้น พวกที่อยู่ทแยงมุมกัน เป็นสัมพันธมิตรช่วยกันรบกับอีกฝ่ายหนึ่ง ลักษณะเดินตัวหมากรุกอย่างจัตุรงค์นั้น ขุน ม้า เบี้ย เรือ เดินอย่างกับหมากรุกที่เราเล่นกัน ส่วนช้างนั้นเดินทแยงแต่ให้ข้ามตาใกล้เสีย 1 ตา (เหมือนกับการเดินของช้างในหมากรุกจีนที่ไม่มีการขัดขาเกิดขึ้น) แต่การที่จะเดินต้องใช้ทอดลูกบาศก์ ลูกบาศก์นั้นทำเป็นสี่เหลี่ยมแท่งยาวๆ มี 4 ด้าน 2 แต้มด้านหนึ่ง 3 แต้มด้านหนึ่ง 4 แต้มด้านหนึ่ง 5 แต้มด้านหนึ่ง คนเล่นจะทอดลูกบาศก์เวียนกันไป ถ้าทอดได้แต้ม 5 บังคับเดินขุนหรือเบี้ย ถ้าทอดได้แต้ม 4 ต้องเดินช้าง ถ้าทอดได้แต้ม 3 ต้องเดินม้า ถ้าทอดได้แต้ม 2 ต้องเดินเรือ ต่อมา ราว พ.ศ. 200 มีมหาอำมาตย์คนหนึ่งชื่อ สัสสะ ได้นำการเล่นจตุรงค์มาคิดดัดแปลงให้เล่นได้ 2 คน และเลิกวิธีทอดลูกบาศก์ ให้เดินแต้มโดยใช้ปัญญาความคิดเอาชนะกัน เช่นเดียวกับอุบายการสงคราม

กระบวนหมากรุกที่ว่ามหาอำมาตย์สัสสะคิดถวายใหม่นั้น คือรวมตัวหมากรุกซึ่งเดิมเป็น 4 พวกนั้นให้เป็นแต่ 2 พวก ตั้งเรียงฝ่ายละฟากกระดาน (เช่นเดียวกับหมากรุกที่เราเล่นกันทุกวันนี้) เมื่อจัดเป็นกระบวนเป็น 2 ฝ่าย จะมีพระราชาฝ่ายละ 2 องค์ไม่ได้ จึงลดขุนเสีย 1 ตัว คิดเป็นตัวมนตรี (เม็ด) ขึ้นมาแทน หมากรุกอย่างที่มหาอำมาตย์สัสสะคิดแก้ไขนี้ ต่อมาแพร่หลายไปถึงนานาประเทศ ชาวประเทศอื่นจึงได้คิดดัดแปลงแก้ไขตามนิยมกันในประเทศนั้นอีกชั้นหนึ่ง หมากรุกที่เล่นในนานาประเทศทุกวันนี้จึงผิดเพี้ยนกันไปบ้าง แต่เค้ามูลยังเป็นแบบเดียวกัน เพราะต้นแบบแผนได้มาจากอินเดียเช่นเดียวกัน

ชนิดของหมากรุก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • Pritchard, D. B. (2007). The Classified Encyclopedia of Chess Variants. John Beasley. ISBN 978-0-9555168-0-1.
  • Pritchard, D. B. (2000). Popular Chess Variants. Batsford Chess Books. ISBN 0-7134-8578-7.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]