สุมิตรา สุจริตกุล
สุมิตรา สุจริตกุล เป็นนางข้าหลวงในรัชกาลที่ 6 และเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียง เกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2450 ที่บ้านบนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างวัดระฆังกับโรงพยาบาลศิริราช ปัจจุบันคือ บริษัทเรือของคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ผู้เป็นน้องสาว เป็นบุตรของพระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ) กับเจ้าบุญปั่น สิงหลกะ เมื่ออายุได้ 9 ปี เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ได้เริ่มเรียนเปียโนเพลงฝรั่งจากมาดามมากาเร็ต เมื่ออายุได้ 13 ปี ได้ไปเรียนเปียโนเพลงไทยจากเจ้าบัวชุ่ม ณ เชียงใหม่ ต่อมา บิดาได้พามาถวายตัวต่อรัชกาลที่ ๖ และอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระสุจริตสุดา ขณะอายุได้ 16 ปี ได้เริ่มเล่นเปียโนถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่นั้นมา พระสุจริตสุดา ได้หาครูมาสอนเพิ่มเติมให้หลายคน คือ พระยาสาครสงคราม (สุริเยศ อมาตยกุล) หลวงชาญเชิงระนาด พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) และจางวางทั่ว พาทยโกศล
หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จสวรรคต ท่านยังอยู่ในพระอุปการะของพระสุจริตสุดา จน พ.ศ. 2469 ได้ตั้งวงดนตรีหญิงชื่อ วงดนตรีนารีศรีสุมิตร ได้อัดแผ่นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ เพลงตับในเรื่องวิวาห์พระสมุทร คือ เพลงโยนดาบ จีนหน้าเรือ สามเส้า ปี่แก้วน้อย ตะนาวแปลง เพลงจากเรื่องพระยาราชวังสัน คือ เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง และเพลงพญาโศก และเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกแผ่นเสียงเพลงพญาโศกด้วยการเดี่ยวเปียโน เมื่อ พ.ศ. 2470
สุมิตราได้สมรสกับ นายสุทัศน์ สุจริตกุล มหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ นายฉันหุ้มแพร ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีบุตรธิดาด้วยกันรวม ๗ คน เมื่อสามีถึงแก่กรรมแล้ว ท่านต้องสอนเปียโน เลี้ยงลูกมาตั้งแต่บัดนั้น ขายที่ดินส่งลูกเรียนหนังสือ ซื้อเปียโนด้วยเงินผ่อน จนมีไว้ในบ้านถึง 3 เครื่อง ตั้งแยกกันไว้ 3 ห้องมีศิษย์มาเรียนพร้อมกัน 3 คน ท่านก็วิ่งรอกสอน 3 ห้องพร้อมกัน ได้เงินค่าสอนชั่วโมงละ 30 บาท สอน 3 ชั่วโมง ได้เงิน 90 บาท แต่ต้องเสีย 100 บาท ให้ลูกสาวไปเรียนเปียโนกับฝรั่งที่มาสอนให้เพียงชั่วโมงเดียว ด้วยความหวังว่าลูกของท่านจะได้เป็นนักเปียโนที่ดีกว่ามารดา และท่านก็ได้สมใจของท่าน ลูกของท่านสำเร็จการศึกษาทั้งภายในและนอกประเทศและทุกคนประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว
คุณสุมิตรา อยู่กับบุตรีคนสุดท้องชื่อ อาจารย์ชวลิดา เครือสิงห์( สุจริตกุล) หรือครูหมู ซึ่งเป็นครูสอนเปียโนอยู่ที่ โรงเรียนดนตรีสยามกลการได้ถ่ายทอดความสามารถจากมารดามาไว้อย่างครบครัน ท่านเคยได้รับพระราชทานเงินเลี้ยงชีพจากสมเด็จพระครีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2529 รวมอายุได้ 79 ปี
อ้างอิง
[แก้]* http://sirindhornmusiclibrary.mahidol.ac.th/musiclibrary/index.php?ac=hall_of_fame/hall_of_fame_dataperson&id=67&languages=th#001[ลิงก์เสีย]