ข้ามไปเนื้อหา

สุภาษิตศรีสวัสดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุภาษิตศรีสวัสดิ์
ผู้ประพันธ์หมื่นพรหมสมพัตสร (มี)
ประเทศประเทศสยาม
ภาษาภาษาไทย
ประเภทวรรณกรรมคำสอน, แบบเรียน

สุภาษิตศรีสวัสดิ์ หรือ ศรีสวัสดิ์วัด เป็นวรรณกรรมคำสอนที่แต่งโดยหมื่นพรหมสมพัตสร (มี) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติของสามเณร ศิษย์วัด และบุคคลทั่วไป ในเรื่องของการตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน หลักในการปฏิบัติตนของสามเณร ศิษย์วัด ต่อพระสงฆ์ขณะปฏิบัติกิจของสงฆ์ และหลักในการดำเนินชีวิตของสามเณร ศิษย์วัด และบุคคลทั่วไป[1]

วรรณกรรมมีลักษณะคำประพันธ์แบบกลอนสวด คำประพันธ์มี 452 บท แต่งด้วยกาพย์ยานี 11 กาพย์สุรางคนางค์ 28 และกาพย์ฉบัง 16 สลับกันไป เริ่มต้นด้วยบทประณามพจน์หรือบทไหว้ครู และบอกจุดประสงค์ของการแต่ง คือ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาและเพื่อเป็นคำสอนให้ปฏิบัติตาม จากนั้นจึงกล่าวถึงคำสอนในเรื่องต่าง ๆ และจบด้วยการบอกชื่อผู้แต่ง กล่าววิพากษ์วิจารณ์ตนเอง และสุดท้าย คือ อธิษฐานให้ตนเองได้ถึงนิพพานและมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ตามขนบของวรรณกรรม

ต้นฉบับมีทั้งเอกสารสมุดไทยและสมุดฝรั่ง เก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ทั้งหมด 5 เล่ม มีฉบับหนึ่งระบุว่าขุนสารานิกร (โพล้ง) คัดลอกและสอบทานเมื่อ พ.ศ. 2401 จึงสันนิษฐานว่าน่าจะแต่งก่อนปีคัดลอก คือน่าจะแต่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[2]

สุภาษิตศรีสวัสดิ์ ถือเป็นตำราเรียนในระบบการศึกษาไทยโบราณ เดิมมีผู้สันนิษฐานว่าเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน แต่เมื่อสอบทานพบว่าเป็นวรรณกรรมภาคกลางซึ่งแต่งโดยนายมี ดังมีหลักฐานแสดงในคำประพันธ์ท้ายเรื่องด้วย ดังนั้นจึงเป็นวรรณกรรมภาคกลาง ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ[3] บรรจุอยู่ในแบบเรียนประถมศึกษาสมัยหนึ่ง ใช้เป็นบทอาขยาน คือบทที่ว่า "วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล" เช่นปรากฏใน ดรุณศึกษา แต่งโดย ฟ. ฮีแลร์[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กฤษฎิ์ สุรนัคครินทร (กรกฎาคม–ธันวาคม 2562). ""ศรีสวัสดิ์วัด" วรรณกรรมคำสอนที่ทรงคุณค่า". วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. 7 (2).{{cite journal}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  2. "สุภาษิตศรีสวัสดิ์ : คำสอนกุลบุตรผู้ศึกษาในสำนักสงฆ์". วารสารราชบัณฑิตยสถาน. 39 (3).
  3. "คำชี้แจงในการตรวจสอบต้นฉบับเรื่องศรีสวัสดิ์วัด". วัชรญาณ.
  4. วัฒภูมิ ทวีกุล. ""วิชาเหมือนสินค้า..." แต่ทว่า ฟ.ฮีแลร์ไม่ได้แต่ง". โรงเรียนอัสสัมชัญ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-01. สืบค้นเมื่อ 2023-10-25.