สาธารณรัฐแห่งจดหมาย
สาธารณรัฐแห่งจดหมาย (อังกฤษ: Republic of Letters, จากละติน: Respublica literaria) หรือ สาธารณรัฐแห่งหนังสือ เป็นชื่อประชาคมทางปัญญาทางไกลในศตวรรษที่ 17 ตอนปลายและศตวรรษที่ 18 ในทวีปอเมริกาและยุโรป เป็นประชาคมที่ส่งเสริมการสื่อสารระหว่างนักคิดหรือนักวิชาการในยุคเรืองปัญญาหรือในฝรั่งเศสเรียกว่า ฟีโลซฟ (philosophe) ซึ่งแปลว่า "นักปราชญ์" ประชาคมนี้อุบัติขึ้นในศตวรรษที่ 17 โดยผู้จัดตั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นประชาคมระหว่างชาติของนักวิชาการและนักวรรณคดีต่าง ๆ ในขณะที่ยังตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ[1] ประชาคมระหว่างชาตินี้เป็นรากฐานของสาธารณรัฐแบบอภิปรัชญา อันเป็นสาธารณรัฐที่เป็นนามธรรม นอกจากนี้ เนื่องจากข้อจำกัดทางสังคมของสตรีเพศ สาธารณรัฐแห่งจดหมายส่วนใหญ่จึงมีแต่สมาชิกผู้ชาย นักวิชาการหลายคนจึงมักใช้คำว่า "สาธารณรัฐแห่งจดหมาย" และ "บุรุษแห่งอักขระ" (men of letters) สลับกัน[ต้องการอ้างอิง]
การติดต่อกันทางจดหมายที่เขียนด้วยมือมีความจำเป็นต่อบทบาทหน้าที่ของประชาคมเพราะการติดต่อกันแบบนี้ได้ช่วยเพิ่มความสะดวกในการสื่อสารระหว่างปัญญาชนหรือนักวิชาการที่อยู่ห่างไกลกันมาก สมาชิกของประชาคมทั้งหมด หรือเปรียบเทียบว่าเป็น "พลเมือง" ทั้งหมดของสาธารณรัฐจากศตรรษ 17 แห่งนี้ ได้ติดต่อกันทางจดหมาย และแลกเปลี่ยนเอกสารและจุลสารต่าง ๆ กัน นอกจากนี้ สมาชิกยังถือว่าตนมีหน้าที่ในการชวนผู้อื่นให้เข้ามาอยู่ร่วมกันในสาธารณรัฐของตนผ่านการขยายการติดต่อระหว่างกัน[2]
การใช้คำว่า "สาธารณรัฐแห่งจดหมาย" ปรากฏขึ้นครั้งแรกในภาษาละติน คือ "Respublica literaria" ซึ่งปรากฏในจดหมายของฟรานเชสโก บาร์บาโร ซึ่งเขียนถึงโปกโจ บรักโชลีรี และลงวันที่เป็นวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1417[3] คำนี้มีการใช้เพิ่มขึ้นในศตวรรษที่ 16 และ 17 จึงทำให้ในช่วงหลังของศตวรรษที่ 17 มีวารสารชั้นนำหลายชื่อที่ได้ใช้คำนี้ในชื่อบทความต่าง ๆ [4] ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ปีแอร์ แบล เป็นคนแรกที่แปลคำนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสในวารสารของตนใน ค.ศ. 1684 ที่มีชื่อว่า Nouvelles de la République des Lettres ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า "ข่าวคราวจากสาธารณรัฐแห่งจดหมาย" อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางคนมีความเห็นไม่ลงรอยกัน โดยบางคนให้เหตุผลว่า คำนี้มีต้นกำเนิดตั้งแต่สมัย อุตมรัฐ ของเพลโต [5] ซึ่งเป็นงานเขียนจากสมัยประมาณ 375 ปีก่อนคริสตกาล และมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Republic (สาธารณรัฐ หรือ กิจการสาธารณะ) ความยุ่งยากในการพิสูจน์จุดกำเนิดของคำนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นคำที่อยู่เฉพาะภายในความคิดของสมาชิก ซึ่งไม่เหมือนกับวงสังคมวรรณคดีหรือวิชาการ[4]ซึ่งมีการตีพิมพ์เป็นส่วนประกอบหลัก
อนึ่ง นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันยังอภิปรายกันอยู่เรื่องความสำคัญของสาธารณรัฐแห่งจดหมายในด้านความมีอิทธิพลของประชาคมนี้ต่อยุคเรืองปัญญา[6] แต่นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายอังกฤษส่วนใหญ่ แม้ว่ามีความเห็นประเด็นอื่นไม่ตรงกันเพียงใด ก็ยังมีความเห็นเดียวกันเสมอว่า สาธารณรัฐแห่งจดหมายกับการเรืองปัญญาในยุคเรืองปัญญานั้น มีความแตกต่างกัน[7]
ดูเพิ่ม
[แก้]- ร้านกาแฟ, ซึ่งเป็นที่ที่สมาชิกใช้แลกเปลี่ยนความเห็นกันในสมัยนั้น
- สารานุกรม หรือพจนานุกรมอันเป็นระบบว่าด้วยวิทยาศาสตร์ ศิลปกรรม และหัตถกรรม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Dalton 2003, p. 7.
- ↑ Goodman 1994, p. 17.
- ↑ Hans Bots, Françoise Waquet, La Rèpublique des Lettres, Paris: Belin - De Boeck, 1997, pp. 11-13 (on the first uses of the term).
- ↑ 4.0 4.1 Goldgar 1995, p. 2.
- ↑ Lambe 1988, p. 273.
- ↑ "Mokyr, J.: A Culture of Growth: The Origins of the Modern Economy. (eBook and Hardcover)". press.princeton.edu. สืบค้นเมื่อ 2017-02-07.
- ↑ Brockliss 2002, p. 8.