สัลเลขนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Nishidhi stone with 14th century old Kannada inscription from Tavanandi forest
นิษิธิ (ನಿಷಿಧಿ) ศิลาระลึกจากศตวรรษที่ 14 บันทึกถึงการสาบานตนกระทำ สัลเลขนา จารึกด้วยอักษรกันนาดาเก่า พบที่ป่าตวนันท์ รัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย

สัลเลขนา (IAST: sallekhanā, จากสันสกฤต: สฺลลิขิต) หรือชื่ออื่น สังเลหนา (samlehna), สมาธิมรณะ หรือ สันยาสมรณะ[1] เป็นการสาบานเพิ่มเติมในข้อจริยธรรมของศาสนาไชนะ สัลเลขนา หมายถึงการอดอาหารจนถึงแก่ชีวิตโดยสมัครใจ โดยค่อย ๆ ลดการทานอาหารและน้ำลง[2] ในทางไชนะมองว่าการทำเช่นนี้เป็นการลดการยึดมั่นในความเป็นตัวตนลง[3] และเป็นอีกวิธีที่สามารถทำลายกรรมที่ก่อการเวียนว่ายตายเกิดผ่านการเลิกกิจกรรมทางกายและทางจิตไปโดยสิ้นเชิง[2] นักวิชาการไชนะไม่ถือว่าการทำเช่นนี้เป็นการฆ่าตัวตายเพราะการทำ สัลเลขนา ไม่ใช่ทั้งการที่กระทำไปด้วยตัณหา (act of passion) และไม่ได้ใช้ยาพิษหรืออาวุธในการทำ[2] หลังกล่าวสาบานตนทำ สัลเลขนา แล้ว การเตรียมเชิงพิธีกรรมและการกระทำ สัลเลขนา อาจกินระยะเวลาเป็นปี ๆ[1]

สัลเลขนา เป็นการสาบานตนที่สามารถกระทำได้ทั้งนักพรตและคฤหัสถ์[4] หลักฐานทางประวัติศาสตร์เช่นจารึก นิษิธิ (nishidhi) เสนอว่ามีการทำ สัลเลขนา ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ไปจนถึงราชินีในประวัติศาสตร์ของไชนะ[1] ในขณะที่ปัจจุบันนี้ การเสียชีวิตจาก สัลเลขนา สามารถพบได้ยากมาก[5]

มีการถกเถียงเกี่ยวกับการทำ สัลเลขนา โดยอิงสิทธิในการมีชีวิต และเสรีภาพทางศาสนา ในปี 2015 ศาลสูงรัฐราชสถานสั่งห้ามการทำ สัลเลขนา โดยระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตาย กระนั้นในปีถัดมา ศาลสูงสุดอินเดียมีคำสั่งให้ระงับคำสั่งของศาลสูงรัฐราชสถานไว้ และถือเป็นการยกเลิกการห้ามการทำ สัลเลขนา[6]

การสาบาน[แก้]

มีการสาบานตนอันยิ่งใหญ่ห้าประการ (มหวฺรต; Five Great vows) ที่ศาสนิกชนของศาสนาไชนะต้องกระทำ ได้แก่ อหิงสา (ไม่กระทำความรุนแรง), สัตยะ (ไม่โกหก), อสเตยะ (ไม่ลักขโมย), พรหมจรรยะ (การยึดไว้ซึ่งความบริสุทธิ์) และ อปริคฤห์ (การไม่ยึดถือในวัตถุ)[7] นอกจากนี้ยังมีการสาบานตนเพิ่มเติมอีกเจ็ดประการ (อนุวฺรต; seven supplementary vows) ในจำนวนนี้สามข้อเป็น คุณวฺรต (guna vrata; สาบานที่เป็นบุญ) และสี่ข้อเป็น ศึกษาวฺรต (Shiksha vrata; สาบานที่เป็นการประพฤติ) คุณวฺรต สามประการ ได้แก่ ทิควฺรต (Digvrata; ลดการเคลื่อนไหว), โภโคปโภคปริมาณา (Bhogopabhogaparimana; จำกัดทั้งวัตถุที่บริโภคได้และบริโภคไม่ได้) และ อนรฺถ-ทณฺฑฺวิกฺรมฺนา (Anartha-dandaviramana; เลิกทำบาปที่ไร้เป้าหมาย) ส่วน ศึกษาวฺรต ได้แก่ สามยิกะ (Samayika; นั่งสมาธิและจดจ่อเป็นช่วงที่จำกัด), เทสวรฺต (Desavrata; จำกัดการเคลื่อนไหวและพื้นที่ทำกอจกรรมเป็นช่วงที่จำกัด), โปฺรสโธปวาส (Prosadhopavāsa; อดอาหารเผ็นช่วงที่จำกัด) และ อติถิ-สามวิภาค (Atithi-samvibhag; ถวายอาหารแด่นักพรต)[8][9][10] สัลเลขนา เป็นการสาบานเพิ่มเติมจากการสาบานทั้งสิบสองที่กล่าวมาข้างต้น กระนั้น คุรุไชนะบางท่าน เช่น กุนทกุนทะ, เทวเสนา, ปัทมนันทิน และ วสุนันทิน จัดให้ สัลเลขนา เป็นหนึ่งใน ศึกษาวรฺต[11]

เงื่อนไข[แก้]

Sallekhana as expounded in the Jain text, Ratna Karanda Sravakachara
สัลเลขนา สาธกในคัมภีร์ไชนะ รัตนกรันท์ ศราวกาจาร (Ratnakaranda śrāvakācāra)

สัลเลขนา สามารถทำได้ทั้งใน คฤหัสถ์ และ นักพรต และในคัมภีร์ของไชนะมีการระบุถึงเงื่อนไขที่บุคคลหนึ่งจะกระทำได้โดยเหมาะสม[1][12][13] เป็นต้นว่า หากคฤหัสถ์จะกระทำ ต้องมีนักพรตควบคุมประกอบด้วย[14]

สัลเลขนา เป็นการกระทำโดยสมัครใจทุกครั้ง และกระทำหลังการประกาศสาบานตนในสาธารณะ และห้ามมีเครื่องมือหรือสารอื่นมาเกี่ยวข้องในการกระทำ เนื่องจากการทำ สัลเลขนา จะสิ้นสุดที่การตาย ผู้ที่จะทำจะต้องมีมิตรสหายหรือคุรุทางจิตวิญญาณรับรู้ด้วย[15] ในบางกรณี ศาสนิกชนไชนะที่ป่วยด้วยโรคที่อยู่ในระยะสุดท้ายอาจทำ สัลเลขนา ซึ่งจะต้องขออนุญาตจากคุรุของตนก่อน[16][note 1] การกระทำ สัลเลขนา ที่สำเร็จลุล่วงจะต้องเป็นการตายที่ "ทำไปโดยบริสุทธิ์", โดยสมัครใจ, วางแผนไว้ก่อน, กระทำด้วยความสงบ สันติ และสุข และทำไปด้วยการชจัดสิ่งทางโลกออกและเพ่งไปที่จิตวิญญาณ[4][2]

กระบวนการ[แก้]

ระยะเวลาของการทำ สัลเลขนา อาจยาวนานเป็นวันถึงเป็นปี[1][18] ในส่วนที่หกของ รัตนกรันทะ ศราวกาจาระ (Ratnakaranda śrāvakācāra) สาธกถึง สัลเลขนา และขั้นตอนการทำไว้[19] ว่า

พึงละทิ้งอาหารแข็งทีละนิด พึงเปลี่ยนเป็นนมและหางนมแทน จากนั้นละทิ้งเสีย พึงเปลี่ยนเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำปรุงกลิ่น [จากนั้น] ละทิ้งน้ำเสียเช่นกัน และอดอาหารด้วยความมานะเต็มที่ พึงละทิ้งร่างกาย[กายหยาบ] ทำทุกวิธีทางเพื่อให้จิตใจคำนึงถึงเพียงปัญจนมัสการมนตร์

— รัตนกรันทะ ศราวกาจาระ (127–128)[19]

นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามห้าประการ (อติจาร) ได้แก่: ความต้องการจะเกิดใหม่อีกเป็นมนุษย์, ความต้องการจะเกิดใหม่อีกเป็นเทวดา, ความต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป, ความต้องการที่จะตายโดยเร็ว และ ความต้องการที่จะมีชีวิตที่มีความรู้สึก (sensual life) ในชาติหน้า นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามอื่น ๆ ได้แก่ การระลึกถึงความเมตตาจากมิตร, การระลึกถึงความสุขที่มี และการยืดยาวความสุขต่อไปในอนาคต[20][21][22]

ในวรรณกรรม[แก้]

อจรงคสูตร (ป. 500 ปีก่อนคริสต์กาล –  100 ปีก่อนคริสต์กาล) สาธกถึงการปฏิบัติ สัลเลขนา สามแบบไว้ คัมภีร์ของเศวตามพรในยุคแรก[note 2] ศราวกปัชญาปตี (Shravakaprajnapti) ระบุว่าการทำ สัลเลขนา กระทำได้รวมถึงผู้ที่ไม่ใช่นักพรตด้วย ใน ภควตีสูตร (2.1) สาธกถึง สัลเลขนา อย่างละเอียด ระบุว่าสกันทกัตยยาน (Skanda Katyayana) นักพรตของมหาวีระก็กระทำ สัลเลขนา คัมภีร์ยุคศตวรรษที่ 4 รัตนกรันทศราวกาจาร และ นวบทปฺรกรณ (Nava-pada-prakarana) ของเศวตามพร มีสาธกถึงรายละเอียดไว้เช่นกัน นวบทปฺรกรณ ระบุสิบเจ็ดวิธีของการ "ตายโดยสมัครใจเลือก" ที่ซึ่งรับรองไว้แค่สามวิธีที่เข้ากันกับคำสอนของไชนะ[11]

Panchashaka ระบุคร่าว ๆ ถึงการทำ สัลเลขนา ส่วน Dharmabindu ไม่มีเขียนถึง ทั้งสองเล่มที่กล่าวมานี้เป็นงานประพันธ์ของหริภัทร (ป. ศตวรรษที่ 5) คัมภีร์จากศตวรรษที่ 9 "อาทิปุราณะ" โดย ชินเสนา มีระบุถึงการทำ สัลเลขนา สามแบบ คัมภีร์จากศตวรรษที่ 10 Yashastilaka โดย โสมเทพ มีสาธกถึงการทำ สัลเลขนา เช่นกัน เหมจันทระ (ป. ศตวรรษที่ 11) บรรยายถึง สัลเลขนา ไว้สั้น ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เล่าถึงการกระทำ สัลเลขนา ในคฤหัสถ์ (ศราวกาจาร) โดยละเอียด[1][11][2]

ในกฎหมาย[แก้]

ในวันที่ 31 สิงหาคม 2015 ศาลสูงสุดอินเดียรับคำอุทธรณ์จาก อขิล ภารัต วรรษิย ทิคัมพร ไชน ปริษัท (Akhil Bharat Varshiya Digambar Jain Parishad) สั่งยกเลิกคำสั่งของศาลสูงรัฐราชสถานที่ให้การทำ สัลเลขนา ผิดกฎหมายไปเมื่อปีก่อน[6][23][24][25]

หมายเหตุ[แก้]

  1. According to Somasundaram, Sallekhana is allowed in Jainism when normal religious life is not possible because of old age, extreme calamities, famine, incurable disease or when a person is nearing their death.[17]
  2. เศวตามพร กับ ทิคัมพร เป็นสองนิกายหลักของศาสนาไชนะ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Sundara, A. "Nishidhi Stones and the ritual of Sallekhana" (PDF). International School for Jain Studies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 28 February 2018. สืบค้นเมื่อ 21 April 2017.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Dundas 2002, pp. 179–181.
  3. Vijay K. Jain 2012, p. 115.
  4. 4.0 4.1 Battin 2015, p. 47.
  5. Dundas 2002, p. 181.
  6. 6.0 6.1 Ghatwai, Milind (2 กันยายน 2015), "The Jain religion and the right to die by Santhara", The Indian Express, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2016
  7. Tukol 1976, p. 4.
  8. Vijay K. Jain 2012, p. 87-91.
  9. Tukol 1976, p. 5.
  10. Pravin K. Shah, Twelve Vows of Layperson เก็บถาวร 11 พฤษภาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Jainism Literature Center, Harvard University
  11. 11.0 11.1 11.2 Williams 1991, p. 166.
  12. Wiley 2009, p. 181.
  13. Tukol 1976, pp. 7–8.
  14. Jaini 1998, p. 231.
  15. Jaini 2000, p. 16.
  16. Battin 2015, p. 46.
  17. Somasundaram, Ottilingam; Murthy, AG Tejus; Raghavan, DVijaya (1 ตุลาคม 2016). "Jainism – Its relevance to psychiatric practice; with special reference to the practice of Sallekhana". Indian Journal of Psychiatry (ภาษาอังกฤษ). 58 (4): 471–474. doi:10.4103/0019-5545.196702. PMC 5270277. PMID 28197009.
  18. Mascarenhas, Anuradha (25 สิงหาคม 2015), "Doc firm on Santhara despite HC ban: I too want a beautiful death", The Indian Express, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ธันวาคม 2015
  19. 19.0 19.1 Champat Rai Jain 1917, pp. 58–64.
  20. Williams 1991, p. 170.
  21. Tukol 1976, p. 10.
  22. Vijay K. Jain 2011, p. 111.
  23. Anand, Utkarsh (1 กันยายน 2015), "Supreme Court stays Rajasthan High Court order declaring 'Santhara' illegal", The Indian Express, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กันยายน 2015
  24. "SC allows Jains to fast unto death", Deccan Herald, Press Trust of India, 31 สิงหาคม 2015, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 กันยายน 2015
  25. Rajagopal, Krishnadas (28 มีนาคม 2016) [1 September 2015], "Supreme Court lifts stay on Santhara ritual of Jains", The Hindu, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2016

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]