สะพานนรรัตน์สถาน
สะพานนรรัตน์สถาน | |
---|---|
เส้นทาง | ถนนจักรพงษ์ และถนนสามเสน |
ข้าม | คลองบางลำภู |
ที่ตั้ง | เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ตั้งชื่อตาม | เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) |
ผู้ดูแล | กรุงเทพมหานคร |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ข้อมูลจำเพาะ | |
วัสดุ | คอนกรีตเสริมเหล็ก |
ความยาว | 30.16 เมตร |
ความกว้าง | 15.8 เมตร |
ทางเดิน | 1.6 เมตร |
ที่ตั้ง | |
สะพานนรรัตน์สถาน เป็นสะพานข้ามคลองบางลำพู เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงชนะสงครามกับแขวงตลาดยอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สะพานกว้าง 15.8 เมตร ยาว 30.16 เมตร ทางเท้ากว้างด้านละ 1.6 เมตร[1]
ประวัติ
[แก้]สะพานไม่มีชื่อ
[แก้]จากเอกสาร ของกระทรวงนครบาล ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ทรงจัดทำขึ้นภายหลังจากที่ได้ทรงทำการสำรวจสภาพสะพานต่าง ๆ ภายในกรุงเทพฯ เพื่อถวายสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2430 มีใจความตอนหนึ่งกล่าวว่า
"...ตะพานทำด้วยไม้หลักแพอย่างเก่าข้ามคลองคูพระนครริมบ้านพระยานรรัตนราชมานิตย มีเสาฝั่งละ 12 ต้น กว้าง 516 ศอก ลำคลองกว้าง 12.11 วา มีกระดานปู 2 แผ่น เสาตะพานเพรียงกัดกร่อนจวนจะขาดทั้ง 24 ต้น พื้นเชิงตะพานชำรุดทั้ง 2 ฟาก ตะพานนี้ไม่ได้ความว่าผู้ใดทำ แต่เห็นจะเป็นของหลวง…"[2]
จากเอกสารดังกล่าวจึงทราบได้ว่าแต่เดิมสะพานข้ามคลองบางลำพู ที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านพระยานรรัตนราชมานิตย เป็นสะพานไม่มีชื่อ สร้างขึ้นตามแบบสะพานดั้งเดิมที่ใช้ไม้ซุงมาตอกติดกันเป็นแพเพื่อรองรับพื้นไม้ กระดาน มีเสาฝั่งละ 12 ต้น สะพานกว้าง 516 ศอก หรือประมาณ 285 เมตร ลำคลองกว้าง 12.11 วา หรือประมาณ 24.22 เมตร มีกระดานปู 2 แผ่น เสาชำรุดโดนเพรียงกัดกร่อน พื้นสะพานชำรุด ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง
สะพานเหล็กโค้ง
[แก้]จากนั้น พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อสะพานไม้ และสร้างสะพานขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นสะพานเหล็กโค้ง แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2442 ได้รับพระราชทานนามว่า "สะพานนรรัตน์สถาน” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) ซึ่งมีนิวาสสถานอยู่ใน บริเวณนั้น สะพานเหล็กนี้ก่อสร้างตามแบบเทคโนโลยีวิศวกรรมตะวันตกผสมผสานงานช่างแบบไทย แต่พื้นสะพานยังคงทำจากแผ่นไม้ มีล้อด้านล่างสำหรับชักเปิดปิด ให้เรือสัญจรผ่านได้ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับ สะพานสุประดิษฐ์
สะพานในปัจจุบัน
[แก้]พ.ศ. 2486 สะพานเหล็กโค้ง ถูกรื้อถอนแล้วสร้างใหม่เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานเป็นคอนกรีต ปลายสุดของสะพานทั้งสองฝั่งเป็นเสาคอนกรีตทรงสอบสูง[3] ด้านบนติดประดับโคมไฟบริเวณกึ่งกลางสะพานทั้งสองฝั่งมีข้อความว่า "สะพานนรรัตน์สถาน พ.ศ. 2486"[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "การศึกษาวิเคราะห์สะพานบนเกาะรัตนโกสินทร์" (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
- ↑ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารเย็บเล่มกระทรวงนครบาลรัชกาลที่ 5 ร.5. น.1/5 เรื่อง ความเห็นกรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ว่าด้วยเรื่องคลองและสะพานข้ามคลอง (ร.ศ. 1.6-4 ธันวาคม 110)
- ↑ โรม บุนนาค. "๙ สะพานข้ามคลองโอ่งอ่าง บางแห่งสร้างมาแต่สมัย ร.๕! ปัจจุบันก็ยังใช้อยู่แต่ไม่สวยเท่า!!". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ เจนจิรา สีหราช. "เรื่อง สะพานนรรัตน์สถาน : จุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างสองฟากฝั่งคลองบางลำพู" (PDF). พิพิธบางลำพู. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-06-25. สืบค้นเมื่อ 2024-02-08.