สะพานตากสินมหาราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานตากสินมหาราช
สะพานตากสินมหาราชมองจากท่าเทียบเรือประมง
พิกัด12°29′02″N 102°03′35″E / 12.4838°N 102.0598°E / 12.4838; 102.0598
เส้นทาง ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต กม. 75+011
ข้ามแม่น้ำจันทบุรี
ที่ตั้งตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ และ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
ชื่อทางการสะพานตากสินมหาราช
ชื่ออื่นสะพานแหลมสิงห์
ตั้งชื่อตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ผู้ดูแลกรมทางหลวงชนบท
เหนือน้ำสะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรี
ท้ายน้ำอ่าวไทย
ข้อมูลจำเพาะ
วัสดุคอนกรีตเสริมแรง
ความยาว1,060 เมตร (3,480 ฟุต)
ความกว้าง11 เมตร (36 ฟุต)
ประวัติ
ผู้สร้างสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท
วันเริ่มสร้าง20 พฤษภาคม พ.ศ. 2548
วันสร้างเสร็จพ.ศ. 2550
งบก่อสร้าง179.57 ล้านบาท
วันเปิด2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
สถิติ
การจราจรโดยเฉลี่ย6,577 คัน/วัน (พ.ศ. 2565)
ที่ตั้ง
แผนที่

สะพานตากสินมหาราช หรือ สะพานแหลมสิงห์ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ และตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นส่วนหนึ่งของถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ขนาด 2 ช่องจราจร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวงชนบท

สะพานตากสินมหาราช เป็นสะพานที่มีความยาวที่สุดในภาคตะวันออก คือมีความยาว 1,060 เมตร[1]

ประวัติ[แก้]

สะพานตากสินมหาราชมองจากป้อมไพรีพินาศ

สะพานตากสินมหาราช หรือที่ถูกเรียกชื่อเดิมโดยคนในพื้นที่ว่า สะพานแหลมสิงห์ เป็นสะพานที่ก่อสร้างขึ้นโดย สำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท[2] เพื่อแก้ไขปัญหาที่แต่เดิมหากประชาชนจะไปมาหาสู่กันทั้งสองฝั่งจะต้องใช้เรือในการสัญจรข้ามฟาก[3] หากจะขนส่งสินค้าทางการเกษตรและประมงจะต้องเดินทางอ้อมไปยังตัวเมืองในการข้ามไปอีกฝั่ง ทำให้เสียเวลาในการเดินทาง โดยสะพานตากสินมหาราชนั้นช่วยลดระยะเวลาในการสัญจรไปมาหาสู่กัน ลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและประมงซึ่งแต่เดิมต้องใช้ระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ให้สามารถเชื่อมต่อและใช้เส้นทางในการคมนาคมขนส่งในเส้นทางพื้นที่ชายฝั่งได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพในการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายทะเลภายในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและใกล้เคียง โครงการก่อสร้างดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของถนนเฉลิมบูรพาชลทิต[4]

สะพานตากสินมหาราช เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2548[5] และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2550 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 179,570,000 บาท เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 16.09 น.[2] โดยมีรัฐมนตรีว่าการทระทรวงคมนาคมเดินทางมาเป็นพิธีเปิด[4] ซึ่งอำเภอแหลมสิงห์ได้จัดกิจกรรมในการเฉลิมฉลองสะพานตั้งแต่วันที่ 1-5 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ทั้งการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปิน การแข่งขันกีฬาต่าง ๆ อาทิ เรือเร็ว เรือคยัค เดินวิ่งมินิมาราธอน การปั่นจักรยานเสือภูเขา รวมถึงการออกร้านขายสินค้าขึ้นชื่อในท้องถิ่นให้แก่นักท่องเที่ยวเฉลิมฉลองร่วมกัน[2] และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ชื่อสะพานว่า "สะพานตากสินมหาราช" เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552[5]

ข้อมูลสะพาน[แก้]

สะพานตากสินมหาราช เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความกว้างสะพาน 8 เมตร ความกว้างทางเท้า 3 เมตร มีความยาวสะพาน 1,060 เมตร โดยในปี พ.ศ. 2565 มีค่า PCU อยู่ที่ 6,577 คัน/วัน[6] เหนือน้ำขึ้นไปคือสะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรี[a] ในพื้นที่ตำบลเกาะขวาง และตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี ท้ายน้ำคือปากน้ำจันทบุรีและอ่าวไทย

การจราจร[แก้]

สะพานตากสินมหาราชประกอบด้วย 2 ช่องจราจร

สะพานตากสินมหาราช เป็นส่วนหนึ่งของถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ในสายทางหลวงชนบท รย.4036 มีขนาด 2 ช่องจราจร สวนทางกัน พื้นผิวจราจรคอนกรีต ฝั่งตะวันออกอยู่ในตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เชื่อมต่อฝั่งตะวันออกในตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี[1]

เนื่องจากความสูงของสะพานที่มีช่องสำหรับให้เรือประมงสามารถลอดผ่านได้ ทำให้บริเวณจุดสูงสุดกลางสะพานมีพื้นที่สำหรับเบี่ยงเพื่อจอดแวะชมวิวทิวทัศน์เพื่อชมความงามของปากแม่น้ำจันทบุรี[1]

แหล่งท่องเที่ยว[แก้]

สะพานตากสินมหาราชนั้น มีจุดชมวิวอยู่บริเวณจุดสูงสุดของสะพาน หากมองไปยังฝั่งอ่าวไทยสามารถรับชมความสวยงามของปากแม่น้ำจันทบุรี ท่าเรือประมงของชาวแหลมสิงห์ และหากมองเข้ามายังฝั่งแม่น้ำจันทบุรีจะสามารถมองเห็นกระชังปลาและวิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้านของชาวแหลมสิงห์เช่นกัน[3] ซึ่งในอดีตมีการใช้เครื่องมือทำประมงพื้นบ้านที่เรียกว่าโพงพาง และหลักรอ แต่เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวขวางทางเดินของน้ำในฤดูน้ำหลากและขัดขวางการสัญจรทางเรือจึงมีคำสั่งให้กรมประมง กรมเจ้าท่า และตำรวจน้ำรื้อถอนเครื่องมือดังกล่าวบริเวณแม่น้ำจันทบุรีบริเวณใกล้เคียงกับสะพาน[7]

นอกจากนี้สะพานตากสินนั้นยังช่วยเชื่อมต่อเส้นทางการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยนักท่องเที่ยวนั้นสามารถเดินทางมาเที่ยวที่หาดแหลมสิงห์ และเดินทางไปเที่ยวยังหาดเจ้าหลาวได้โดยใช้สะพานตากสินมหาราชและไปตามเส้นทางเฉลิมบูรพาชลทิต รวมถึงสามารถใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางตามชายฝั่งทะเลเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งแต่เดิมจะต้องใช้เรือข้ามฝากในการเดินทางข้ามฝั่ง หรือหากใช้รถยนต์จะต้องวิ่งอ้อมไปอีกเส้นทางซึ่งใช้ระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร[4]

สถานที่สำคัญใกล้เคียง[แก้]

แหล่งท่องเที่ยว[แก้]

ระเบียงภาพ[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. สะพานชุมชนที่กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ก่อสร้างหรือรับโอนมาจากกรมโยธาธิการมาอยู่ในการดูแล โดยสะพานนี้รหัส จบ.006 เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงท้องถิ่น สายท่าแฉลบ–เกาะลอย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "สะพานตากสินมหาราช จันทบุรี (แหลมสิงห์) ชมวิวทะเลและเส้นขอบฟ้าแบบชิลๆ". www.ceediz.com.
  2. 2.0 2.1 2.2 "จันทบุรีจัดกิจกรรมฉลองเปิดสะพานข้ามแม่น้ำจันท์". mgronline.com. 2008-04-18.
  3. 3.0 3.1 "[รีวิว] "สะพานแหลมสิงห์" อีกหนึ่งจุดชมวิวที่สวยที่สุดของจันทบุรีที่ต้องมาเยือน | จันท์จี๊ดด - กินเที่ยวพัก แล้วคุณจะรักจันทบุรี". www.chanjeed.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-05-02.
  4. 4.0 4.1 4.2 ที่ผ่านมา, สายลม. "พาแม่เที่ยวจันท์ 3 วัน 2 คืน :: สะพานตากสินมหาราช - วัดเขาแหลมสิงห์ - ศาลเจ้าพ่อแหลมสิงห์". README.ME.
  5. 5.0 5.1 คณะกรรมการบริหารงานอำเภอแหลมสิงห. แผนพัฒนาอำเภอ 4 ปี (พ.ศ. 2561-2564) ฉบับทบทวนในรอบปี พ.ศ. 2562 อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เก็บถาวร 2023-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  6. บัญชีสะพานทางหลวงชนบท ประจำปีงบประมาณ 2566 เก็บถาวร 2023-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (drr.go.th)
  7. "ได้แต่มอง! ขอยืดเวลาไม่เป็นผล จนท.รื้อโพงพางเมืองจันท์". www.thairath.co.th. 2015-09-24.
สะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรีในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานข้ามแม่น้ำจันทบุรี
สะพานตากสินมหาราช
ท้ายน้ำ
อ่าวไทย