ป้อมไพรีพินาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ป้อมไพรีพินาศ
Phairi Phinat Fort
ปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในป้อมไพรีพินาศ
ปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในป้อมไพรีพินาศ
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทป้อมปราการ
สถาปัตยกรรมป้อมปืนใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์
เมืองตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
ประเทศประเทศไทย
พิกัด12°28′36″N 102°03′27″E / 12.4766°N 102.0574°E / 12.4766; 102.0574
เริ่มสร้างพ.ศ. 2377
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน

ป้อมไพรีพินาศ ตั้งอยู่บนเขาแหลมสิงห์ หมู่ 1 ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นป้อมที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2377 เพื่อเตรียมรับศึกญวณที่อาจจะยกมาทางทะเล แต่เดิมไม่มีชื่อจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลจันทบุรี ทรงพระราชทานนามป้อมนี้ว่า ป้อมไพรีพินาศ ซึ่งอยู่คู่กับป้อมพิฆาฏข้าศึก (ป้อมพิฆาตปัจจมิตร)[1]

ป้อมสร้างขึ้นบริเวณปากแม่น้ำ อยู่บนเขาแหลมสิงห์ ซึ่งเป็นเขาขนาดเล็ก ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 172 เมตร บริเวณหินชายฝั่ง ที่มีลักษณะคล้ายกับสิงโตหมอบ (จึงเรียกว่า "แหลมสิงห์") บนเขาแหลมสิงห์เป็นทำเลที่เหมาะกับการตั้งป้อมปืน สามารถมองเห็นข้าศึกที่เข้ามาทางทะเลได้แต่ไกล

ป้อมไพรีพินาศ มี 3 ชั้น คือชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นล่าง มีการก่อสร้างลักษณะเป็นปีกกา โดยใช้การถมดินเป็นใบเสมาป้อมอันใหญ่ เรียงติดต่อกันไปเหมือนปีกกา โอบเขาทั้งสอง ตัวป้อมเป็นแบบก่ออิฐถือปูน กว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร ผนังหนา 60 เซนติเมตร ใกล้กันมีคลังกระสุนดินดำ ก่อด้วยปูน ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2.8 เมตร[2]

ปัจจุบันบริเวณป้อมปืนได้มีการปรับภูมิทัศน์ มีกระบอกปืนใหญ่ 2 กระบอก วางให้เห็นว่าเคยเป็นจุดที่เป็นป้อมปืน และมีห้องเก็บกระสุนดินดำที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 โดยประกาศเป็นพื้นที่โบราณสถานประมาณ 17 ไร่ 58 ตารางวา[3]

เจดีย์อิสระภาพ[แก้]

เจดีย์อิสระภาพ ภายในป้อมไพรีพินาศ

เจดีย์อิสระภาพ เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ภายในป้อมไพรีพินาศ สร้างขึ้นโดยพระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ ผู้ว่าราชการเมืองตราด ร่วมกับชาวจันทบุรีสร้างขึ้นมาบริเวณเขาแหลมสิงห์เพื่อเป็นที่ระลึกในการประกาศอิสระภาพหลังประเทศฝรั่งเศสได้ถอนกำลังออกจากจังหวัดจันทบุรี[4]

ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์อิสระภาพเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน เจดีย์เป็นทรงระฆังในผังกลม พร้อมกับฐานบัวคว่ำบัวหงายชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนที่รองรับองค์ระฆัง มีลักษณะยืดสูง เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง ประกอบกับบัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหานปล้องไฉนและปลียอด ฐานของเจดีย์เป็นแบบประทักษิณพร้อมทั้งพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจตุรัส มีการประดับด้วยกระเบื้องเคลือบปรุลายแบบของจีน พร้อมกับกำแพงแก้วแบบเตี้ยภายในฐานล้อมรอบเจดีย์ โดยเป็นศิลปะในยุครัตนโกสินทร์ ของศาสนาพุทธ นิกายเถราวาท[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "โบราณสถานป้อมไพรีพินาศ". กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "โบราณสถานป้อมไพรีพินาศ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี". สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. "สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี". www.rbru.ac.th.
  4. Gplace. "เจดีย์อิสรภาพ". Gplace.
  5. "เจดีย์อิสรภาพ จ.จันทบุรี - ศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : Arts in Southeast asia". db.sac.or.th.