สรจักร ศิริบริรักษ์
สรจักร ศิริบริรักษ์ | |
---|---|
เกิด | สรจักร ศิริบริรักษ์ 17 มีนาคม พ.ศ. 2498 จังหวัดบุรีรัมย์, ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 (58 ปี) หมู่บ้านอรุณนิเวศน์ แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
อาชีพ | นักเขียน,เภสัชกร |
สัญชาติ | ไทย |
แนว | นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี |
หัวข้อ | ฆาตกรรม อาชญากรรม สยองขวัญ โภชนาการ |
ผลงานที่สำคัญ | ผีหลอก (อำพรางอำยวน) ศพข้างบ้าน ศพท้ายรถ ศพใต้เตียง นักฆ่าบ้ากาม ผีหัวเราะ (ดาวโจร) วิปลาสฆาตกรรม วิญญาณครวญ |
บิดามารดา | ชัยบุรี ศิริบริรักษ์ (บิดา) สมถวิล ศิริบริรักษ์ (มารดา) |
เภสัชกร สรจักร ศิริบริรักษ์ หรือรู้จักกันในนาม สรจักร เป็นนักเขียนเรื่องสั้นแนวเขย่าขวัญ ได้รับฉายาว่าเป็น สตีเฟ่น คิง เมืองไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากผลงานเรื่องสั้นแนวเขย่าขวัญแล้ว ยังเขียนหนังสือสารคดีเกี่ยวกับนิติเวชศาสตร์ และโภชนาการอีกด้วย
นามปากกา สรจักร/สรจักร ศิริบริรักษ์/เภสัชกรสรจักร ศิริบริรักษ์
ประวัติ
[แก้]สรจักร ศิริบริรักษ์[1]เกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2498 เป็นบุตรคนที่สองของครอบครัวข้าราชการลูกห้า บิดา – นายชัยบุรี ศิริบริรักษ์ รับราชการในกรมชลประทาน และมารดา - นางสมถวิล ศิริบริรักษ์ เป็นข้าราชการครู หนึ่งปีถัดมา ครอบครัวย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในขณะนั้นเศรษฐกิจกำลังรุ่งเรืองจากผลของการเข้ามาตั้งฐานทัพของกองทัพสหรัฐในช่วงสงครามเวียดนาม ครอบครัวศิริบริรักษ์มีกิจการบังกะโลให้ทหารอเมริกันเช่า และทำฟาร์มไก่เนื้อ/ไข่ หมู วัว ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และลูกทั้งห้าคนถูกสอนให้มีส่วนช่วยในกิจการตั้งแต่เด็ก หลังจบมัธยมศึกษาปีที่สาม จากโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา สรจักรได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนวัดราชโอรส และสอบเข้าเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีความสนใจพืชสมุนไพรไทยเป็นตัวกระตุ้น หลังจบปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2521 สรจักรเลือกทำงานในชนบท โดยเริ่มงานในตำแหน่งลูกจ้างของโรงพยาบาลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช รับค่าจ้างเริ่มต้น ในอัตราเดือนละ 750 บาท และได้เรียนรู้การดำรงชีวิตแบบชาวบ้านชนบท ปลูกผัก จับปลาทะเล ดำน้ำ เดินป่าหาสมุนไพร ซึ่งประสบการณ์ตรงเหล่านี้ รวมทั้งการช่วยแพทย์ผ่าตัด ชันสูตรศพ ฉีดศพ ฯลฯ ได้กลายเป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่งในการผลิตงานเขียนในเวลาต่อมา
หลังจากศึกษาต่อปริญญาโท ด้านสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล สรจักรขอย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ กระทรวงสาธารณสุข
ผลงาน
[แก้]ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่าน[2]ด้วยดี[3] มีการพิมพ์ซ้ำทุกเล่ม เช่นศพใต้เตียง ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 27 ศพท้ายรถครั้งที่ 26 ฯลฯ รายงานผลการวิเคราะห์กลวิธีการนำเสนอเรื่องสั้นแนวหักมุมจบของสรจักร ศิริบริรักษ์ โดยผู้วิจัยนายวัฒนา ขัติวงษ์ และคณะกล่าวว่า งานเขียนมีจุดเด่นตรงที่ “กระชับ หักมุม มีเหตุผลในตัว และที่สำคัญที่สุด ความรู้วิชาการต้องเป็นจริง อ้างอิงได้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่าน พร้อม ๆ กับการได้รับความเพลิดเพลินในอรรถรส..... “ ปทุมวดี ล้ำเลิศ ได้ทำการศึกษาเชิงวิเคราะห์กลวิธีการใช้ภาษาในเรื่องสั้นแนวฆาตกรรมของสรจักร ศิริบริรักษ์
งานเขียนของสรจักร จำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม คือวรรณกรรมเรื่องสั้น งานเขียนอาชญคดี งานเขียนด้านสุขภาพ และงานเขียนจิปาถะ แต่ที่ทำให้เขามีชื่อเสียง เป็นผลงานวรรณกรรมเรื่องสั้น กับ งานเขียนอาชญคดี[4]
ผลงานเรื่องสั้นและนวนิยาย
[แก้]ผลงานเรื่องสั้นของสรจักรมีประมาณ 200 เรื่อง สำนักพิมพ์มติชนได้นำมารวมเล่มเป็นชุด เรียกกันว่า “สามศพ สามผี สองวิญญาณ” ดังนี้
- ชุดสามศพ ประกอบด้วยรวมเรื่องสั้น 3 เล่ม คือ ศพใต้เตียง ศพข้างบ้าน และ ศพท้ายรถ
- ชุดสามผี ประกอบด้วยรวมเรื่องสั้น 3 เล่ม คือ ผีหัวเราะ ผีหัวขาด และ ผีหลอก
- ชุดสองวิญญาณ ประกอบด้วยรวมเรื่องสั้น 2 เล่ม คือ วิญญาณครวญ และ คนสองวิญญาณ
- คนดีตายหมดแล้ว รวมเรื่องสั้นจากชุดศพ
- แค้นของคนตาย รวมเรื่องสั้นจากชุดสามผี
- อำพรางอำยวน เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของสรจักร (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 7 2538)
- เล่าสู่กันฟัง
- จับโกหกนอตตรามุส
- ฆาตกรโรคจิต
- ฆาตกรสาว เสื้อกาวน์เลือด
- นักฆ่าบ้ากาม
- กามวิปริต จิตวิปลาส
- จิตกาธาน เป็นนวนิยายเรื่องเดียวของผู้เขียน
สารคดีและบทความ
[แก้]- เลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้เป็นฆาตกร
- เภสัชโภชนา
- สุดยอดสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
ผลกระทบ
[แก้]11 ธันวาคม พ.ศ. 2550 บล็อก partybkk ได้แจ้งข่าวว่าสรจักรจะหยุดการเขียนหนังสือด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ และ นักฆ่าบ้ากาม[5]เป็นงานเขียนอาชญาคดีเรื่องสุดท้ายของสรจักร[6] มีการขอนำผลงานของสรจักรเผยแพร่ในเว็บไซต์เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น ศักดิ์สิทธิ์ นามสุวรรณ การทำภาพยนตร์ขนาดสั้นเพื่อประกวด การเชิญไปบรรยาย การเผยแพร่ทางวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนเรื่องสั้นรุ่นหลัง[7]
การเสียชีวิต
[แก้]สรจักร ศิริบริรักษ์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ที่บ้านพักส่วนตัวที่เขตสายไหม กรุงเทพฯ สิริอายุได้ 58 ปี[8]
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 56 เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งเหตุมีผู้เสียชีวิต ในบ้านพักย่านพหลโยธิน เขตสายไหม เมื่อตรวจสอบพบว่าผู้เสียชีวิตคือ นายสรจักร ศิริบริรักษ์ นักเขียนหนังสือแนวสยองขวัญชื่อดัง ซึ่งพบศพอยู่ในบ่อปลาคาร์ฟหลังบ้าน ที่มีน้ำลึกกว่า 2 เมตร ใกล้ห้องนอน
ทั้งนี้ จากการสอบถาม นายสุรศักดิ์ รักหมาน อายุ 37 ปี ผู้ที่อาศัยร่วมกับนายสรจักร เล่าว่าอาศัยในบ้านหลังนี้และคอยดูแลนายสรจักร ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน มากว่า 13 ปีแล้ว เมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน นายสรจักรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากมีอาการปอดบวมแทรกซ้อน
โดยก่อนเกิดเหตุ เมื่อเวลา 11.00 น. ของวานนี้ นายสุรศักดิ์ ได้ให้ยาแก่นายสรจักร ก่อนจะหลับไปทั้งคู่ แต่เมื่อตื่นขึ้นมาไม่พบนายสรจักรที่เตียง จึงเดินตามหาและ พบศพนายสรจักรในบ่อน้ำของบ้าน[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ บทสัมภาษณ์โดยสุรศักดิ์ รักหมาน 10 มีนาคม 2553 ไม่สงวนลิขสิทธิ์
- ↑ เว็บบอร์ดPantip
- ↑ suusedbook
- ↑ "yurijujidan". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-03. สืบค้นเมื่อ 2010-10-24.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-27. สืบค้นเมื่อ 2010-10-24.
- ↑ http://www.oknation.net/blog/partybkk
- ↑ "www.mattha.ob.tc". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-17. สืบค้นเมื่อ 2010-10-24.
- ↑ วงการน้ำหมึกช็อค!นักเขียนดัง"สรจักร ศิริบริรักษ์" เจ้าของเรื่องสั้น"ศพใต้เตียง" เสียชีวิตแล้ว
- ↑ วงการน้ำหมึกเศร้า!นักเขียนดังเจ้าของฉายา 'สตีเฟ่น คิง เมืองไทย' เสียชีวิตแล้ว
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2498
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2556
- บุคคลจากจังหวัดบุรีรัมย์
- บุคคลจากจังหวัดนครราชสีมา
- เภสัชกรชาวไทย
- นักเขียนชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา
- บุคคลจากโรงเรียนวัดราชโอรส
- นิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- เสียชีวิตจากการจมน้ำ