สมเด็จพระราชินีเซ็นดีง ด็อนด็อกโดลัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซ็นดีง ด็อนด็อกโดลัม
พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระราชินีเซ็นดีง ด็อนด็อกโดลัม
สมเด็จพระราชินีแห่งมองโกเลีย
ครองราชย์29 ธันวาคม ค.ศ. 1911 –
ค.ศ. 1923
ก่อนหน้าตำแหน่งสถาปนาใหม่
ถัดไปสมเด็จพระราชินีเกอเนอพิล
ประสูติ15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876(1876-11-15)
จังหวัดเฮ็นตี, มองโกเลียภายใต้ราชวงศ์ชิง
สวรรคตค.ศ. 1923 (47 ปี)
อูลานบาตาร์, ราชอาณาจักรมองโกเลีย
ฝังพระศพหุบเขาซาการ์มอริต แม่น้ำซาลเบ, อูลานบาตาร์
ชายาใน บอจด์ ข่าน
พระนามเต็ม
ด็อนด็อกโดลัม ทเซน อูล์ซิน เออร์ ฑากิณ
พระราชบิดาไม่ปรากฏพระนาม
พระราชมารดาไม่ปรากฏพระนาม
ศาสนาศาสนาพุทธแบบทิเบต

สมเด็จพระราชินีเซ็นดีง ด็อนด็อกโดลัม (Цэндийн Дондогдулам; 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876 - ค.ศ. 1923) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีของมองโกเลีย และเป็นพระอัครมเหสีในบ็อกด์ ข่าน

พระประวัติ[แก้]

ด็อนด็อกโดลัม ประสูติในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876 (บางแหล่งข้อมูลระบุว่าประสูติในปี ค.ศ. 1874) ประสูติที่จังหวัดเฮ็นตี[1] เขตบายัน-อดาร์กา ทรงพบกับบ็อกด์ ข่าน ซึ่งขณะนั้นถูกเรียกว่า "บ็อกด์ กาเกน" ในปีค.ศ. 1895 โดยยังไม่ได้ทรงครองราชย์ บ็อกด์ กาเกนเดินทางไปเยือนอารามเออเดอนีซู และทั้งคู่พบกันอีกครั้งในปีค.ศ. 1900 ที่อารามอามาร์บายัสการันต์[2] ด็อนด็อกโดลัมขณะนั้นทำงานเป็นคนรับใช้ในภรรยาเอกของ จูง วัน ทซ็อกบาดรัช ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่ติดตามบ็อกด์ กาเกนมาถึงมองโกเลีย[3] ที่ถูกเรียกว่าบ็อกด์ กาเกน เพราะมีความเชื่อตามศาสนาพุทธนิกายมหายานทิเบต ที่ว่า บอดจ์ กาเกน คือ ร่าวอวตารองค์ที่ 8 ของจอว์ซาน ดัมบา คูทักต์ (Jebtsundamba Khutuktu) โดยการยอมรับของทะไลลามะที่ 13 กับเท็นไป วังชุก ปันเชนลามะที่ 8 และทรงส่งมาให้ปกครองพุทธศาสนาในมองโกเลีย[4]

ในปีค.ศ. 1902 ด็อนด็อกโดลัมได้เสกสมรสกับบ็อกด์ กาเกน, จอว์ซาน ดัมบา คูทักต์ องค์ที่ 8 ทั้งสองได้รับเลี้ยงโอรสบุญธรรม 1 พระองค์ ที่มีการระบุชื่อว่า คูบิลกัน ยัลกูซาน-ฮูทักต์ (ไม่ปรากฏชะตากรรมของโอรสคนนี้หลังการปฏิวัติมองโกเลีย) ทั้งสองพระองค์บูชาเทพฑากิณีและพระโพธิสัตว์ตารา (มองโกเลีย: Цагаан Дарь Эх) ในปี ค.ศ. 1903 ได้มีการจัดสรรระบบ อัยมัก (Aimag) ซึ่งเป็นระบบจังหวัดของมองโกเลีย ได้มีการสร้างวัดเออรค์-ฑากินิน-อายกิม-คูรัล ขึ้นที่ศูนย์กลางของเมืองหลวง[5] หลังจากมีการประกาศเอกราชมองโกเลียในปี ค.ศ. 1911 ด็อนด็อกโดลัมได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "อูล์ซิน เออร์ ฑากิณ" แปลว่า "พระมารดาแห่งฑากิณีรัฐ" ซึ่งก็คือ ตำแหน่งสมเด็จพระราชินี ตามพระสวามีที่ครองราชย์เป็นบอดจ์ ข่านแห่งมองโกเลีย

สมเด็จพระราชินีเซ็นดีง ด็อนด็อกโดลัมและพระสวามีทรงมีความคิดสร้างสรรค์และทรงร่วมสร้างตำหนักที่ประทับด้วยพระองค์เอง และทรงใช้ตำหนักเป็นศูนย์กลางที่ตั้งของคณะช่างศิลปการ พระนางด็อนด็อกโดลัมทรงทำตามธรรมเนียมโบราณของชนชั้นสูงในการรับอุปการะเด็กอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเด็กที่ครองครัวไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูหรือบิดามารดาเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ หนึ่งในนั้นคือ แอล.มอร์ดอร์ซ ซึ่งพระนางรับอุปการะ โดยต่อมาจะเป็นนักประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงของมองโกเลีย[6]

สมเด็จพระราชินีทเซ็นดีง ด็อนด็อกโดลัมสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1923 หนึ่งปีก่อนที่พระสวามีจะสวรรคต ซึ่งเป็นวันที่ 15 ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงสุดท้าย[7] พระบรมศพได้ถูกเผาที่ต้นทางของแม่น้ำซาลเบ ใกล้อูลานบาตาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระนางและพระสวามีประทับในช่วงฤดูร้อน หุบเขาต้นแม่น้ำถูกเรียกว่า "ซาร์กามอริต"

พระบุคลิกอุปนิสัย[แก้]

พระบรมสาทิสลักษณ์ ด็อนด็อกโดลัม "อูล์ซิน เออร์ ฑากิณ" หรือ "พระมารดาแห่งฑากิณีรัฐ" วาดโดยมาร์ซาน ชาราฟ จิตรกรชาวมองโกเลีย

สมเด็จพระราชินีด็อนด็อกโดลัมทรงเป็นผู้ที่มีความรู้ มีความสามารถในการอ่านอักษรมองโกเลียและภาษาทิเบตได้อย่างดีเยี่ยม ประชาชนชาวมองโกลเคารพพระองค์อันเนื่องมาจากความทรงปัญญาของพระองค์ รวมถึงทรงมีการศึกษาและมีสามารถอ่านพระไตรปิฎก ตำราธรรม บทกลอนในทำนองสรภัญญะที่ไพเราะ พระอาจารย์ส่วนพระองค์ของพระนางด็อนด็อกโดลัม คือ ทซอร์ซิ ลูซานดอนด็อบ ได้ถวายพระอักษรให้พระนางทรงมีความรู้ในด้านวัตรปฏิบัติและพิธีกรรมของพระพุทธศาสนา และพระนางทรงเข้าไปมีบทบาทในรัฐสภาคูรัลของมองโกเลียด้วย[1] สมเด็จพระราชินีทรงเป็นผู้ที่มีอารมณ์อ่อนไหว ร่าเริง เฉลียวฉลาด กระตือรือร้นและมีลักษณะเป็นสตรีผู้ทรงอำนาจ[3] จากการบันทึกในแหล่งข้อมูลบางแหล่งระบุว่า สมเด็จพระราชินีด็อนด็อกโดลัมทรงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีต้อนรับเพื่อเป็นเกียรติแก่ซันโดโม ราชทูตจากราชวงศ์ชิง ที่เขตมองโกเลียส่วนนอก แม้ว่าเขาจะถูกส่งมาในฐานะตัวแทนของจักรพรรดิชาวแมนจูของราชวงศ์ชิงก็ตาม พระราชินีเป็นแกนนำในการสนับสนุน ขอดจ์ กาเกน พระสวามีในการต่อสู้เพื่อสร้างเอกราชของราชอาณาจักรมองโกเลีย[6] ตามบันทึกของปีเตอร์ คอสลอฟ นักสำรวจชาวรัสเซีย บันทึกว่า พระนาง "...เสด็จประพาสพร้อมพระราชสวามีทั่วทุกหนแห่ง ทรงร่วมเก็บเกี่ยวหัวหอม ตกปลา แต่ไม่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์สุรา"[8] ฟรานส์ ออกัสต์ ลาร์สัน มิชชันนารีชาวสวีเดน ซึ่งเคยเข้าเฝ้าทั้งสองพระองค์บ่อยครั้ง ได้บันทึกว่า "ชาวมองโกลไม่เคยพูดคุยกับพระนางอย่างคนธรรมดา แต่พูดคุยในฐานะที่พระนางเป็นเทพี ทรงเป็นสตรีนักปฏิบัติและยึดหลักเหตุผล และทำหน้าที่ภรรยาอย่างสง่างาม พระนางเป็นเหมือนผู้ปัดเป่าความมืดมิดในอารามของพระพุทธองค์ที่มีมาแต่ก่อนให้มลายสิ้นไป พระนางเป็นมิตรสหายที่สนุกสนาน เป็นผู้แนะแนวทางที่ดีและชี้จุดประเด็นอย่างดีเยี่ยม บ็อกด์ ข่านคงจะทรงยินดีปรีดาภาคภูมิใจในตัวพระนาง"[9]

ที่ระลึกถึงพระนาง[แก้]

  • พระราชวังฤดูหนาวของบอดจ์ ข่าน ที่อูลานบาตาร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ ได้มีการจัดนิทรรศการเพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระราชินีเซ็นดีง ด็อนด็อกโดลัม โดยมีการจัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ของพระราชินี และมีรูปหล่อหุ่นขี้ผึ้งของพระนางจัดแสดงด้วย
  • นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2011 ที่สถานที่ประสูติของสมเด็จพระราชินีด็อนด็อกโดลัมในจังหวัดเฮ็นตี มีอนุสรณ์สถาน "Монголын их хатдын өргөө" เป็นการสร้างเพื่ออุทิศแด่องค์คาตุน หรือพระราชินีของชาวมองโกลที่มีพระราชประวัติอันโดดเด่น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Д. Гомбосvрэн «Хувь зохиолын тeрелх мэргэх ухаантай» Эх Дагина
  2. Бадарчи О. С., Дугарсурэн Ш. Н. Богд хааны амьдралын он дарааллын товчоон. Улаанбаатар: Хаадын сан, 2000 — с.188
  3. 3.0 3.1 Тудэв Л. (ред.) VIII Богд хаан. Улаанбаатар: Хаадын сан, 1998. — с.24-25.
  4. Knyazev, N.N. The Legendary Baron. - In: Legendarnyi Baron: Neizvestnye Stranitsy Grazhdanskoi Voiny. Moscow: KMK Sci. Press, 2004, ISBN 5-87317-175-0 p. 67
  5. หลังจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งมองโกเลีย ได้เปลี่ยนวัดเป็นโรงละครสัตว์ เมื่อสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลียล่มสลาย วัดและสำนักสงฆ์ได้ถูกสร้างใหม่อีกครั้ง
  6. 6.0 6.1 Сухбаатар Д. Дондогдулам — «Мать-Дакини» Монгольского государства
  7. Бадарчи О. С., Дугарсурэн Ш. Н. Богд хааны амьдралын он дарааллын товчоон. Улаанбаатар: Хаадын сан, 2000. — с.188
  8. Козлов П. К. Тибет и Далай-лама. М.: КМК, 2004. ISBN 5-87317-176-9 сс. 106—107
  9. Larson F.A. Larson Duke of Mongolia. Boston, Little, Brown: and Co., 1930 — p. 128