สมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สมาคมวิทยุอาสาสมัคร)
สมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร
HS1AB
ที่อยู่
190 ซอยเพชรเกษม 62/3 แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพฯ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออังกฤษ Volunteer Radio Association
สถาปนา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2524
ผู้ก่อตั้ง พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์
สถานะทางกฏหมาย สมาคม


สมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร (อังกฤษ: Volunteer Radio Association, VRA) เป็นสมาคมวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 ปัจจุบันเป็นสถานีควบคุมข่ายการสื่อสารวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทางความถี่ 144.900 MHz. โดยมีสัญญาณเรียกขานว่า HS1AB ซึ่งเป็นองค์กรวิทยุสมัครเล่นที่จดทะเบียนนิติบุคคล เป็นสมาคมที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ให้การรับรอง[1]

ความเป็นมา[แก้]

จุดเริ่มต้น[แก้]

กิจการวิทยุอาสาสมัคร (Volunteer Radio) เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2524 โดยกรมไปรษณีย์โทรเลข (ขณะนั้น พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข) โดยได้จัดสรรความถี่วิทยุย่าน 144.000 -146.000 MHz. หรือที่เรียกว่า "Two Meter Band" ซึ่งเป็นความถี่ในย่านวิทยุสมัครเล่น รวมทั้งการนำเอาประมวลสัญญาณ คือ Q-Codes ที่ใช้ในกิจการวิทยุสมัครเล่นสากล มาใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในข่ายนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้น 2 ประการคือ

เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้อาสาสมัครช่วยเหลือสังคมส่วนรวมโดยการรายงานข่าวปัญหาสำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ในท้องถิ่น ในสาธารณสถานให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับทราบและแก้ไขปัญหาได้ทันเหตุการณ์ โดยใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ตนครอบครองเป็นเครื่องมือรายงานข่าว ซึ่งใช้วิธีการรายงานข่าวเช่นเดียวกับการรายงานข่าวการจราจร และข่าวอุบัติภัยของสมาชิกของสถานีวิทยุกระจายเสียง จส.100 และ สวพ.91 ในปัจจุบันนี้ แตกต่างกันที่เครื่องมือสื่อสารที่ใช้รายงานข่าวเท่านั้น

เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเทคนิคการติดต่อสื่อสารในกิจการวิทยุสมัครเล่น แต่ไม่มีโอกาสกระทำได้เช่นเดียวกับนานาประเทศซึ่งได้มีความเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า กิจการวิทยุสมัครเล่นมีบทบาท และเป็นกลไกสำคัญในการวิจัยพัฒนากิจการวิทยุคมนาคมของโลก ทั้งนี้ เนื่องจาก ส่วนราชการของรัฐคือ สภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น ยังมีความหวาดระแวงว่า กิจการวิทยุสมัครเล่นจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ จึงได้ประวิงหน่วงเหนี่ยว แช่เย็นไว้ไม่ยอมให้กรมไปรษณีย์โทรเลขดำเนินการตามที่ได้ขอไป

นักวิทยุอาสาสมัครทุกคนจึงได้ถือว่า วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญยิ่งของกลุ่มนักวิทยุอาสาสมัคร และชมรมนี้ได้มีบทบาทในการอาสาสมัครช่วยเหลือบ้านเมืองประเทศชาติในรูปแบบต่าง ๆ มากมายหลายประการ จนเป็นที่ยอมรับของส่วนราชการและสังคมเมืองไทยในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังกล่าวได้ว่า กิจการวิทยุอาสาสมัครนี้เองที่ได้ปูรากฐานให้กิจการวิทยุสมัครเล่นของประเทศไทย ฟื้นตัวขึ้นใหม่ ก่อตัวเป็นรูปร่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2530 และเจริญเติบใหญ่ มีสมาชิกมากมายมาจนทุกวันนี้

ถวายสัญญาณเรียกขาน[แก้]

พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ได้นำเรื่องการจัดตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัครนี้กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบ เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นการส่วนพระองค์ พระองค์ท่านได้รับสั่งว่า “เป็นการดี พวกเขา (นักวิทยุอาสาสมัคร) จะได้ภาคภูมิใจ” และได้ทรงรับสัญญาณเรียกขาน “วีอาร์-009” ที่พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นสัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ โดย พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ ใช้สัญญาณเรียกขานประจำตัวว่า “วีอาร์-001” เป็นการยืนยันว่า พระองค์ท่านได้ทรงเข้าร่วมในข่ายวิทยุอาสาสมัครตั้งแต่วันนั้น ชมรมนักวิทยุอาสาสมัครใช้สัญญาณเรียกขานประจำสถานีว่า “วีอาร์-… (VR-…) ” ไม่ได้ใช้สัญญาณเรียกขาน “HS-…” ดังเช่นนักวิทยุสมัครเล่นสากล เนื่องจากเหตุผลทางด้านบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้น[2]

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2524 นักวิทยุอาสาสมัครทุกคนได้มีโอกาสรับฟังพระราชกระแสของพระองค์ท่านผ่านข่ายวิทยุอาสาสมัครเป็นครั้งแรก ภายหลังที่นักวิทยุอาสาสมัครได้ร่วมกันกล่าวคำถวายพระพรทางวิทยุในวันพระชนมพรรษาปีนั้นว่า “วีอาร์ 001 จาก วีอาร์ 009 ขอขอบใจวีอาร์ทุกคน” ทำให้นักวิทยุอาสาสมัครทุกคนที่ได้มีโอกาสได้รับฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว บางท่านขนลุกซู่ บางท่านน้ำตาไหลด้วยความปิติยินดีเป็นล้นพ้น ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเข้าร่วมในข่ายวิทยุอาสาสมัคร โดยได้ทรงทดสอบสัญญาณ รายงานสถานภาพของสถานี หรือ เช็คเนตกับศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ของกรมไปรษณีย์โทรเลขตามระเบียบที่วางไว้เป็นประจำ พระองค์ท่านได้ทรงเคร่งครัดต่อระเบียบข้อบังคับกฎเกณฑ์กติกาของชมรมวิทยุอาสาสมัคร เช่นเดียวกับนักวิทยุอาสาสมัครทั่วไป ทรงจดจำประมวลสัญญาณ หรือ Q-Codes ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในข่ายได้อย่างแม่นยำ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักดีว่านักวิทยุอาสาสมัครจำนวนไม่น้อยมีความสนใจที่จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมในด้านเทคนิคการติดต่อสื่อสารทางวิทยุเพื่อพัฒนาตนเองให้มีทักษะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่พระองค์ท่านได้ทรงมีความรู้ และประสบการณ์ในเทคนิคแขนงนี้สูงกว่า เนื่องจากได้ทรงผูกพันอยู่กับเรื่องการสื่อสารทางวิทยุมาก่อนเป็นเวลานานกว่า 13 ปี จึงทรงพระกรุณาที่จะพระราชทานความรู้เพิ่มเติมให้แก่นักวิทยุอาสาสมัครอยู่เป็นประจำ เครื่องรับ-ส่งวิทยุประจำที่ซึ่งได้ทรงใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในข่ายวิทยุอาสาสมัครเป็นเครื่องวิทยุยี่ห้อ “YAESU” รุ่น FT-726 ซึ่งเป็นเครื่องยี่ห้อและรุ่นเดียวกับที่ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ใช้ เครื่องวิทยุดังกล่าวมีหน้าปัด มีปุ่มควบคุมบังคับการทำงานในหน้าที่ต่าง ๆ ค่อนข้างสลับซับซ้อน สร้างความยุ่งยากสับสนแก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯไม่น้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำวิธีใช้ที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ใช้เครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ประสบปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ อาทิ การรบกวนในลักษณะการผสมคลื่นระหว่างกัน (Intermodulation) การแผ่กระจายคลื่นที่ไม่ต้องการ (Spurious Radiations) จากสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน และจากสถานีวิทยุคมนาคมอื่น ๆ ซึ่งเป็นผลจากความถี่ที่ใช้งานคลาดเคลื่อน อัตราการผสมคลื่น (Modulation Index) มากเกินพิกัด เป็นต้น

เรื่องการรบกวนจากสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานีวิทยุคมนาคมจนเป็นเหตุให้เกิดการรบกวน มีเสียงจากรายการวิทยุกระจายเสียงเข้ามาสอดแทรกระหว่างการติดต่อสื่อสารนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน เนื่องจากในบริเวณสวนจิตรลดา มีสถานีวิทยุกระจายเสียง อ.ส. ซึ่งมีกำลังส่งสูง ตั้งอยู่ไม่ห่างจากพระตำหนักฯ มากนัก การติดต่อสื่อสารทางวิทยุของพระองค์ท่านจึงถูกสถานีวิทยุแห่งนี้รบกวนมาแล้ว และได้ทรงทดลองศึกษาค้นคว้าจนกระทั่งสามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ได้ ดังนั้น เมื่อได้ทรงสังเกตพบในระหว่างที่ได้ทรงรับฟังสัญญาณจากศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ว่า กำลังประสบปัญหาถูกรบกวนจากสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ซึ่งมีกำลังส่งสูงและตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน จึงได้ทรงพระกรุณาพระราชทานแนะนำให้มีการตรวจสอบระบบสายดิน (Ground) ของไมโครโฟน และสายที่เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องวิทยุ ด้วยเหตุผลว่า หากระบบสายดินไม่ดี ต่อไว้ไม่แน่น หรือ ขั้วต่อรอยต่อไม่สะอาดเป็นสนิม จะเกิดการชักนำเอาสัญญาณวิทยุกระจายเสียงเข้ามาทำให้เกิดการรบกวนขึ้นได้ หากระบบสายดินเป็นปกติเรียบร้อยดี คงจะต้องต่อวงจรกรองสัญญาณย่านต่ำ (Low Pass Filter) เพื่อป้องกันการรบกวนอีกชั้นหนึ่ง

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในขณะที่ทรงเฝ้าฟังการทำงานของศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” อยู่ ได้ทรงสังเกตพบว่า มีสัญญาณอื่นแปลกปลอมเข้ามารบกวนในช่องสัญญาณความถี่กลางของศูนย์ฯ มีความแรงสูงมากเป็นเหตุให้ไม่สามารถรับฟังสัญญาณจากสถานีลูกข่ายได้ พระองค์ท่านได้ทรงพระกรุณาแนะนำให้ศูนย์ฯ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนที่เรียกว่า “คาวิตี้ ฟิลเตอร์ (Cavity Filter) ” ซึ่งศูนย์ฯ ใช้งานอยู่ ให้มีขีดความสามารถในการบั่นทอนความแรงของสัญญาณวิทยุที่มีความถี่ไม่ตรงกับช่องปฏิบัติงานให้ได้มากยิ่งขึ้นจึงจะสามารถขจัดปัดเป่าปัญหาการรบกวนได้ โดยได้รับสั่งอธิบายทางอากาศให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ และนักวิทยุอาสาสมัครที่ร่วมรับฟังอยู่ในข่ายในขณะนั้นโดยการเปรียบเทียบความหมายของ “คาวิตี้” ให้เข้าใจได้ง่ายว่า “คาวิตี้ แปลว่า ช่องโหว่ เช่นเดียวกับช่องโหว่ของฟันที่ทำให้เราปวดฟัน…”

ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ใช้เสาสายอากาศที่มีความสูงมาก อยู่ในที่โล่งแจ้งพอสมควร จึงประสบปัญหาเรื่องอสุนีบาต หรือ ฟ้าลง เป็นประจำ ในขณะที่ฝนฟ้าคะนองรุนแรง เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ บางคนอยู่ในอาการหวาดผวา ไม่อยากที่จะปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกับสถานีลูกข่ายในสภาพอากาศเช่นนั้น ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำที่เป็นหลักวิชา ข้อปฏิบัติ และวิธีการป้องกันฟ้าผ่าให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ได้มีความรู้และเข้าใจ เช่น การปรับปรุงระบบสายดิน ฯลฯ

วิธีการติดต่อสื่อสารในข่ายวิทยุอาสาสมัครเป็นแบบซิมแปล็กซ์ (Simplex) ซึ่งผู้ส่งข่าว จะต้องกดคีย์ที่ไมโครโฟนเพื่อบังคับให้เครื่องส่งวิทยุทำงานส่งก่อน แล้วจึงพูดส่งข้อความไปพร้อมกับคลื่นวิทยุนำสัญญาณ หรือ คลื่นพาห์ (Carrier Wave) เมื่อส่งข้อความจบ จึงจะกล่าวคำว่า “เปลี่ยน” แล้วจึงปล่อยคีย์ เพื่อเปิดโอกาสให้คู่สถานีโต้ตอบกลับมาได้ มีอยู่บ่อยครั้งที่มีการกดคีย์ที่ไมโครโฟนนี้ค้างไว้ ทำให้เครื่องส่งวิทยุนั้นส่งคลื่นวิทยุนำสัญญาณแผ่กระจายออกมาตลอดเวลาทั้งโดยเจตนาเพราะไม่มีวินัยไร้มารยาทในการติดต่อสื่อสาร และทั้งโดยไม่เจตนา เป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้ช่องสัญญาณความถี่นั้นติดต่อกันได้ บางทีก็ใช้วิธีกดคีย์ไมโครโฟนเข้าแทรกในจังหวะเวลาช่องว่างระหว่างการสนทนา มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในขณะที่กำลังพระราชทานคำแนะนำในด้านวิชาการให้แก่ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ได้มีการกระทำในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นระยะสั้น ๆ หลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรวจสอบความแรงของสัญญาณ และความถี่ของสถานีวิทยุที่กดคีย์เข้ามาแล้ว ทรงทราบว่า เป็นสัญญาณที่แปลกปลอมเข้ามา จึงได้รับสั่งให้ผู้ที่กำลังรับฟังพระราชกระแสอยู่ว่า “คงเป็นเพราะเราผูกขาดความถี่มานานพอสมควร คนอื่นอยากเข้ามา ถ้าเข้ามาก็เชิญ วีอาร์-009 เคลียร์ ไม่ต้องเบรก” (เคลียร์=Clear เป็นภาษาพูดของนักวิทยุอาสาสมัครแจ้งความประสงค์ขอเลิกการติดต่อ เบรก=Break เป็นภาษาพูดของนักวิทยุอาสาสมัครแจ้งความประสงค์ขอเข้าแทรกระหว่างการสนทนาในช่องสัญญาณทางวิทยุของคู่สถานีหนึ่ง)

ดังที่ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งในการจัดตั้งชมรมนักวิทยุอาสาสมัคร คือ การอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมส่วนรวมโดยการรายงานข่าวปัญหาสำคัญต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในท้องถิ่นชุมชม สาธารณสถาน ให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับทราบและแก้ไขปัญหาได้ทันเหตุการณ์โดยใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ตนครอบครองเป็นเครื่องมือรายงานข่าว ในด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ชมรมวิทยุอาสาสมัครได้ร่วมปฏิบัติการกับกองบังคับการสายตรวจ และปฏิบัติการพิเศษ กรมตำรวจ ซึ่งมีศูนย์ควบคุมข่ายใช้สัญญาณเรียกขานว่า “ผ่านฟ้า” หรือที่ประชาชนรู้จักกันทั่วไปว่า “ศูนย์ 191” ในการจัดสายตรวจร่วมโดยใช้รถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุของนักวิทยุอาสาสมัครเป็นรถยนต์สายตรวจโดยมีนักวิทยุอาสาสมัครเป็นผู้ขับ และปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานวิทยุรายงานข่าวนั่งคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยนักวิทยุอาสามัครเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ของตนว่า มิได้มีอำนาจในการจับกุมหรือปราบปรามคนร้ายตามกฎหมายแต่อย่างใด วิธีการนี้ได้ช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดรถสายตรวจของกรมตำรวจซึ่งไม่เพียงพอได้เป็นอย่างมาก

ปรับใช้สัญญาณเรียกขานสากล[แก้]

หลังจากการประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2530 จึงเป็นการยอมรับสถานะของกิจการวิทยุสมัครเล่นให้ถูกต้องตามกฎหมาย สมาคมถึงได้ใช้สัญญาณเรียกขาน HS1AB เป็นสัญญาณเรียกขานประจำสถานี และรับช่วงต่อการปฏิบัติงานด้านการสื่อสารวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อจากศูนย์ควบคุมข่ายย่านวิทยุสมัครเล่น (ศูนย์สายลม) ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2533[3]

วัตถุประสงค์[แก้]

สมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร จัดตั้งขึ้นเพือวัตถุประสงค์ ดังนี้[4]

  1. ดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และความมั่นคงของชาติ
  2. พัฒนาบุคลากรที่มีทักษะด้านการสื่อสารด้วยวิทยุ และเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ทันสมัย
  3. พัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  4. เผยแพร่เกี่ยวกับการใช้วิทยุคมนาคมที่ถูกต้องให้กับประชาชนและหน่วยงาน รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  5. สร้างมิตรภาพและสัมพันธภาพระหว่างนักวิทยุให้มีการรวมกลุ่มเป็นองค์กรที่มีความเข็มแข็ง ในการดูแลการใช้ทรัพยากรความถี่และการสื่อสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  6. สมาคมไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือศาสนา
  7. สมาคมไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับการเมือ

การดำเนินงาน[แก้]

ปัจจุบันสมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร มีหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมข่ายวิทยุสมัครเล่นในเขตกรุงเทพมหานคร สัญญาณเรียกขาน HS1AB ผ่านทางความถี่ VHF ช่อง 144.900 MHz. รวมถึงเฝ้าฟังช่อง 145.000 MHz. ซึ่งเป็นช่องสำหรับเรียกขานและแจ้งเหตุฉุกเฉิน และเป็นความถี่กลางในการประสานระหว่างหน่วยงานของรัฐและข่ายวิทยุสมัครเล่น และช่องสถานีทวนสัญญาณ 145.6750 MHz dup-600 โทน 67.0 ร่วมกับศูนย์สื่อสารสายลมของ กสทช. โดยรับแจ้งเหตุและรายงานสภาพการจราจร รวมถึงการแจ้งเตือนและรายงานข่าวประชาสัมพันธ์ประจำวัน และเป็นข่ายในการสื่อสารสำรองในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐ[5]

สนับสนุนด้านการสื่อสารในเหตุการณ์ฉุกเฉิน[แก้]

สมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร มีบทบาทด้านการสื่อสารในการฝึกซ้อมค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย (SEARCH AND RESCUE EXERCIS : SAREX) ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองทัพอากาศ กรมการบินพลเรือน กองบินตำรวจ สถาบันการบินพลเรือน เพื่อฝึกซ้อมการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์จริง[6]

จิตอาสาพระราชทาน[แก้]

สมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร ได้มีบทบาทหลายครั้งในการร่วมอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารในฐานะจิตอาสาพระราชทาน โดยบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยงานหลักในศูนย์สื่อสารประสานงาน ใน ศูนย์อาสาสมัคร Volunteer For Dad มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ[7] และการถวายพระเพลิง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายใต้สัญญาณเรียกขาน HS1AB สนามหลวง ผ่านทางช่องความถี่[8] ย่านสมัครเล่น 144.900 MHz. 145.000 MHz. 145.4750 MHz. สถานีทวนสัญญาณ 145.675 MHz. dup- 0.600 145.650 MHz Dup-0.600 และความถี่ประชาชน (Citizen Band) ช่อง 41 ความถี่ 245.500 MHz.

การผลิตบุคลากรด้านวิทยุสมัครเล่น[แก้]

สมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร เป็นส่วนนึงของการเสริมสร้างและพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นด้วยการเป็นศูนย์ในการจัดอบรมและสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น คือการฝึกอบรมความรู้เพื่อให้ผู้เข้ารับการสอบมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นก่อนการสอบ และการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นโดยไม่ต้องผ่านการฝึกอบรม โดย กสทช. จะประกาศกำหนดการฝึกอบรมและการสอบทุกปี

อ้างอิง[แก้]

  1. รายชื่อองค์กรวิทยุสมัครเล่นที่จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นสมาคมที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รับรอง (www.nbtc.go.th)
  2. ""พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์" ผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย "วีอาร์ 009"". คมชัดลึกออนไลน์. 2017-10-25.
  3. https://pantip.com/topic/33135833
  4. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศนายทะเบียนสมาคม ประจำกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคม (soc.go.th)
  5. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. "ดีอีเอส หนุนสมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร VRA จัดโครงการพัฒนา-ฝึกอบรมฯ สร้างเครือข่ายกว่า 1000 คนทั่วประเทศ เน้นสื่อสารในภาวะฉุกเฉินช่วยงานภาครัฐ". www.mdes.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. กลับมาอีกครั้ง “SAREX 2019” การฝึกซ้อมค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย ประจำปี 2562 ที่กองบิน 23 อุดรธานี (prd.go.th)
  7. รองเลขาธิการ กสทช. ลงพื้นที่สนามหลวงตรวจสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสถานีชั่วคราวพร้อมให้บริการประชา (nbtc.go.th)
  8. admin. "ช่องความถี่ประสานงาน HS1AB สนามหลวง" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).