สตัดเฮาเดอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สตัดเฮาเดอร์ (ดัตช์: stadhouder) แปลตรงตัวว่า เจ้าผู้ครองสถาน [ผู้ครอบครองสถานที่ของผู้ใดผู้หนึ่ง; สันนิษฐานว่าเป็นการยืมคำศัพท์จากภาษาเยอรมัน ชตัทท์ฮัลเทอร์ (Statthalter), ภาษาฝรั่งเศส ลีเยิตน็อง (lieutenant) หรือภาษาละตินยุคกลาง ลอกูงแตเนงส์ (locum tenens)] คือคำที่ใช้อธิบายรูปแบบหนึ่งของศักดินาตำแหน่งอุปราชหรือผู้บริหารมณฑลแทนพระองค์[1] ในกลุ่มประเทศต่ำ สตัดเฮาเดอร์คือระบบจากยุคกลางและต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้ถูกยกระดับให้มีศักดิ์เทียบเท่าประมุขแห่งรัฐในทางปฏิบัติของระบอบมกุฎสาธารณรัฐ (crowned republic) ในสาธารณรัฐดัตช์ สามารถเปรียบเทียบได้กับศักดินา ลีเยิตน็อง ของฝรั่งเศส และ ผู้บริหารมณฑลแทนพระองค์ ของอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งประสงค์หลักของของตำแหน่งนี้ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นของสาธารณรัฐดัตช์ตอนต้น

ประวัติศาสตร์[แก้]

วิลเลิมที่ 1 แห่งออเรนจ์ ผู้ดำรงตำแหน่งสตัดเฮาเดอร์ในช่วงการลุกฮือของดัตช์ต่อจักรวรรดิสเปน

สตัดเฮาเดอร์ในยุคกลางถูกแต่งตั้งโดยตรงจากลอร์ดในระบบฟิวดัลเพื่อสำเร็จราชการแทน ถ้าหากลอร์ดใดมีอาณานิคมไว้ในครอบครองมากก็สามารถที่จะแต่งตั้งสตัดเฮาเดอร์ถาวรไปประจำการโดยมีอำนาจเต็มในนามของลอร์ดผู้นั้น โดยตำแหน่งนี้มีอำนาจปกครองมากกว่าตำแหน่งผู้ว่าราชการซึ่งมีอำนาจอยู่อย่างจำกัด ผู้ที่ดำรังตำแหน่งสตัดเฮาเดอร์ไม่ถูกจัดว่าอยู่ในสถานะของข้ารับใช้เหล่าเจ้าขุนมูลนายที่มีศักดิ์สูงกว่า หากเป็นเพียงผู้ปกครองซึ่งไม่มียศศักดิ์ต่อดินแดนที่ตนปกครอง ผู้ปกครองท้องถิ่นของมณฑลอิสระทั้งสิบเจ็ดแห่งประเทศต่ำ (ซึ่งเป็นดินแดนประเทศเนเธอร์แลนด์, เบลเยียม และลักเซมเบิร์กในปัจจุบัน) นำตำแหน่งนี้ไปใช้แต่งตั้งต่ออีกทอดหนึ่ง เช่น การที่ดยุกแห่งเกลเดอร์สแต่งตั้งสตัดเฮาเดอร์ไปสำเร็จราชการแทนในมณฑลโกรนิงเงิน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ดยุกแห่งเบอร์กันดีสามารถยึดครองดินแดนส่วนมากของประเทศต่ำเอาไว้ได้และตั้งเป็นดินแดนเนเธอร์แลนด์ของเบอร์กันดี ซึ่งแต่ละมณฑลในดินแดนนี้ส่วนมากต่างก็มีสตัดเฮาเดอร์ปกครองตนเองแทบทั้งสิ้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งสเปน เข้ามารับช่วงอำนาจต่อจากสมัยเนเธอร์แลนด์ของเบอร์กันดี และทรงรวบอำนาจการปกครองดินแดนประเทศต่ำทั้งหมดด้วยการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น ลอร์ดแห่งเนเธอร์แลนด์ อันเป็นตำแหน่งเจ้าเหนือหัวในระบบฟิวดัลไว้แต่เพียงผู้เดียว มีเพียงราชรัฐมุขนายกลีแยฌและดินแดนส่วนน้อยอีกสองแห่ง (อิมพีเรียลแอบบีย์สตาฟว์โล-มาลเมอดี และดัชชีบูยง) ที่อยู่นอกเหนือพระราชอำนาจของพระองค์ สตัดเฮาเดอร์ยังคงถูกแต่งตั้งและเป็นผู้แทนพระองค์ในจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 และพระราชโอรส พระเจ้าเฟลีเปที่ 2 ผู้เป็นรัชทายาทแห่งสเปนและกลุ่มประเทศต่ำ (อิสริยยศจากการเลือกตั้งในราชวงศ์จะถูกพระราชทานให้แก่รัชทายาทของจักรพรรดิคาร์ลในราชตระกูลฮับส์บูร์กออสเตรียแต่ละสาย) โดยพระราโชบายแนวรวบศูนย์อำนาจและแนวสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าเฟลีเปที่ 2 จึงทำให้อำนาจในทางปฏิบัติของสตัดเฮาเดอร์ลดลงไปอย่างมาก

ในปี ค.ศ. 1581 ระหว่างการก่อการกำเริบดัตช์ มณฑลดัตช์ส่วนมากประกาศอิสรภาพด้วยการผ่านร่างพระราชบัญญัติเพิกถอน (Act of Abjuration) ระบบผู้แทนพระองค์โดยสตัดเฮาเดอร์ในแถบเนธอร์แลนด์ตอนเหนือที่เกิดการกบฏจึงหมดอำนาจลง (ลอร์ดในระบบฟิวดัลผู้อยู่เหนือหัวเหล่าสตัดเฮาเดอร์ถูกล้มล้าง) อย่างไรก็ตามระบบผู้แทนนี้ยังคงดำเนินต่อไปในประเทศที่ก่อตั้งใหม่นามว่าสาธารณรัฐแห่งสหเนเธอร์แลนด์ทั้งสิบเจ็ด สหมณฑลทั้งสิบเจ็ดดิ้นรนที่จะประยุกต์แนวคิดและสถาบันในระบบฟิวดัลที่มีอยู่ให้เข้ากับสภาวการณ์ใหม่ โดยในการปรับตัวครั้งนี้มีความคิดโน้มเอียงไปในแนวทางอนุรักษนิยม ทั้งที่พวกเขาได้ทำการปฏิวัติโค่นล้มพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองเพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขา สตัดเฮาเดอร์จึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของลอร์ดอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นผู้ปกครองยศศักดิ์สูงที่สุดแทน โดยได้รับการแต่งตั้งจากรัฐของแต่ละมณฑล ซึ่งแม้ว่าสตัดเฮาเดอร์แต่ละคนจะสามารถดำรงตำแหน่งประจำเฉพาะแต่มณฑลของตน แต่สตัดเฮาเดอร์หลายคนนิยมดำรังตำแหน่งนี้ในหลาย ๆ มณฑลพร้อมกันในเวลาเดียว โดยปกติแล้วอำนาจปกครองสูงสุดจะถูกใช้โดยรัฐอธิปไตยของแต่ละมณฑล ส่วนสตัดเฮาเดอร์มีอำนาจเล็กอยู่บ้างเล็กน้อยเช่นการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับล่าง หรือในบางกรณีมีสิทธิอันชอบธรรมในการแต่งตั้งคณะมนตรีในสภาผู้สำเร็จราชการแทน ซึ่งคณะมนตรีเหล่านี้จะทำการเลิอกผู้นำของสภาจากรายชื่อผู้สมัคร ในขณะที่คณะมนตรีแต่งตั้งสมาชิกเพิ่มเติมแก่สภาได้ด้วยตัวพวกเขาเอง สตัดเฮาเดอร์จึงสามารถเข้าไปมีอิทธิพลทางอ้อมในการกำหนดนโยบายทั่วไปได้อย่างมาก ในมณฑลเซลันด์ เจ้าชายแห่งออเรนจ์ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งสตัดเฮาเดอร์ของแต่ละมณฑลไว้มากที่สุดในช่วงภายการหลังลุกฮือต่อต้านสเปน และยังดำรงศักดิ์เป็น ขุนนางที่หนึ่ง (First Noble) นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นสมาชิกสภาประจำมณฑล และดำรงตำแหน่งมาร์ควิสแห่งเฟเรอและฟลิสซิงเงินเป็นพระยศมาแต่ประสูติอีกด้วย

ในระบบราชการส่วนกลางของสาธารณรัฐ สตัดเฮาเดอร์แห่งมณฑลเซลันด์และฮอลแลนด์มักจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพสหมณฑล และพลเรือเอกสูงสุดแห่งกองทัพเรือสหมณฑล แม้ว่าจะไม่เคยมีสตัดเฮาเดอร์คนไหนเคยบัญชาการรบทางทะเลด้วยตนเองเลย ในกองทัพสตัดเฮาเดอร์สามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง ส่วนในกองทัพเรือสามารถทำได้เพียงลงนามแต่งตั้งในคำสั่งจากสภาราชนาวีทั้งห้า อำนาจทางกฎหมายมีอยู่ค่อนข้างจำกัดและโดยกฎหมายแล้วสตัดเฮาเดอร์เป็นมากกว่าเพียงเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตามอำนาจที่แท้จริงบางครั้งก็มีมากกว่านั้น โดยเฉพาะในบรรยากาศแห่งกฎอัยการศึกช่วงสงครามแปดสิบปี ภายหลังปี ค.ศ. 1618 เจ้าชายเมาริตส์แห่งออเรนจ์ทรงปกครองด้วยระบบเผด็จการทหาร และเจ้าชายวิลเลิมที่ 2 แห่งออเรนจ์ก็ทรงปฏิบัติตาม

ผู้นำในการการลุกฮือของชาวดัตช์คือเจ้าชายวิลเลียมที่ 1 แห่งออเรนจ์ ในปี ค.ศ. 1572 ทรงถูกแต่งตั้งให้เป็นสตัดเฮาเดอร์ประจำมณฑลฮอลแลนด์ซึ่งเป็นมณฑลแรกที่ก่อการลุกฮือ ด้วยอิทธิพลและเกียรติยศส่วนพระองค์ต่อมาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตำแหน่งของพระองค์ และได้ถ่ายทอดสู่สมาชิกราชวงศ์ เช่น เจ้าชายเมาริตส์แห่งออเรนจ์ในปี ค.ศ. 1618 และเจ้าชายวิลเลิมที่ 3 แห่งออเรนจ์ในปี ค.ศ. 1672 ซึ่งได้ทรงขยายฐานอำนาจโดยการแทนที่สมาชิกสภาเมืองด้วยบุคคลส่วนพระองค์ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถูกเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงแห่งนิติบัญญัติ (Wetsverzettingen) จากการข่มขู่ เหล่าสตัดเฮาเดอร์พยายามที่จะขยายสิทธิ์ของตนในการลงนามในกิจการต่าง ๆ ผลก็คือหลังจากที่เจ้าชายวิลเลิมที่ 2 สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1650 ผู้แทนในมณฑลฮอลแลนด์, เซลันด์, ยูเทรกต์, แค็ลเดอร์ลันด์ และโอเฟอไรส์เซิล ไม่ทำการแต่งตั้งสตัดเฮาเดอร์ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อ จนในที่สุดด้วยสภาวะการณ์อันบีบคั้นจากเหตุการณ์เลวร้ายในปี ค.ศ. 1672 ที่รู้จักกันในนาม ศักราชแห่งความหายนะของดัตช์ (Rampjaar) จึงได้มีการแต่งตั้งสตัดเฮาเดอร์องค์ใหม่ขึ้นดำรงตำแหน่ง และหลังจากการสวรรคตของเจ้าชายวิลเลียมที่ 3 ในปี ค.ศ. 1702 ก็ได้มีการละเว้นแต่งตั้งสตัดเฮาเดอร์องค์ใหม่ ทั้งสองเหตุการณ์นี้เรียกว่า สมัยไร้สตัดเฮาเดอร์ครั้งที่หนึ่ง และ สมัยไร้สตัดเฮาเดอร์ครั้งที่สอง

ภายหลังการรุกรานโดยฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1747 คณะผู้สำเร็จราชการแทนถูกกดดันจากมวลชนเคลื่อนไหวส่วนมากที่เรียกร้องให้วิลเลิมที่ 4 เจ้าชายแห่งออเรนจ์ สตัดเฮาเดอร์แห่งมณฑลฟรีสลันด์และโกรนิงเงิน ขึ้นดำรงตำแหน่งสตัดเฮาเดอร์แห่งทุกมณฑล ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1747 สำนักแห่งสตัดเฮาเดอร์จึงได้มีการลำดับรัชทายาทขึ้น และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สาธารณรัฐที่มีผู้ดำรงตำแหน่งสตัดเฮาเดอร์ครบทุกมณฑลในเดียวกัน จากเหตุการณ์นี้จึงได้มีการเฉลิมพระยศแก่เจ้าชายวิลเลิมใหม่ว่า สตัดเฮาเดอร์-เคเนอราล (stadhouder-generaal; ซึ่งแปลจากภาษาอังกฤษได้ว่า อัครรัชทายาทสตัดเฮาเดอร์)

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของวิลเลิมที่ 4 อย่างสุดวิสัยในปี ค.ศ. 1751 พระราชโอรสอันทรงพระเยาว์ของวิลเลิมที่ 4 ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสตัดเฮาเดอร์ต่อภายใต้การสำเร็จราชการแทนโดยพระมารดา การสำเร็จราชการแทนในครั้งนี้สร้างความขุ่นเคืองอย่างมากในหมู่ประชาชน ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มชาตินิยมขึ้นในปี ค.ศ. 1780 แรกเริ่มคณะชาตินิยมนี้ทำการเข้ายึดสภาเมืองหลายแห่ง จากนั้นจึงเข้ายึดสภาแห่งมณฑลฮอลแลนด์และฟรีสลันด์ตะวันตก และในท้ายที่สุดได้ทำการปลุกระดมอาสาสมัครพลเรือนเพื่อต่อต้านคณะขุนนางของราชวงศ์ออเรนจ์ นำพาประเทศชาติเข้าสู่ขอบเหวแห่งการเกิดสงครามกลางเมือง ต่อมาปรัสเซียได้เข้าแทรกแทรงทางการทหารในปี ค.ศ. 1787 ส่งผลให้วิลเลิมที่ 5 เจ้าชายแห่งออเรนจ์ ทรงสามารถปราบปรามฝ่ายต่อต้านได้เป็นผลสำเร็จ และผู้นำของการกบฏในครั้งนี้หลายคนก็ได้ลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส

การล้มเลิก[แก้]

คณะผู้ลี้ภัยกลับมายังเนเธอร์แลนด์พร้อมกับกองกำลังฝรั่งเศสในฤดูหนาวปี ค.ศ. 1795 และได้ข้ามแนวป้องกันทางน้ำดัตช์ที่กลายเป็นน้ำแข็ง วิลเลิมที่ 5 แห่งออเรนจ์-นัสเซาจึงเสด็จลี้ภัยไปยังอังกฤษ สำนักสตัดเฮาเดอร์ของพระองค์จึงถูกโค่นล้มในปี ค.ศ. 1795 เมื่อกองกำลังปฏิวัติของฝรั่งเศสสถาปนาสาธารณรัฐปัตตาเวียขึ้นแทน ตั้งแต่ ค.ศ. 1572 ในเนเธอร์แลนด์ตอนใต้ ลอร์ดในราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็ยังคงแต่งตั้งสตัดเฮาเดอร์ไปประจำแต่ละมณฑลจนกระทั่งถูกฝรั่งเศสบุกยึดในปี ค.ศ. 1794

แหล่งข้อมูลและอ้างอิง[แก้]

  1. Entry Stadhouder in M. Philippa et al. (2003-2009) Etymologisch Woordenboek van het Nederlands. Etymologiebank.nl. (ดัตช์)