สงครามมิทริเดทีส
สงครามมิทริเดทีส | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ราชอาณาจักรพอนตัส | |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
สาธารณรัฐโรมัน | ราชอาณาจักรพอนตัส และพันธมิตร | ||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
ส่วนใหญ่เป็นแมยิสเตร็ดฝ่ายออปติเมตส์ แต่บางครั้งเป็นฝ่ายปอปปูเลรีส | พระเจ้ามิทริเดทีสที่ 6 แห่งพอนตัส พระราชโอรส และแม่ทัพอื่น ๆ |
สงครามมิทริเดทีส เป็นความขัดแย้งสามครั้งระหว่างสาธารณรัฐโรมันกับพระเจ้ามิทริเดทีสที่ 6 กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรพอนตัสที่ครอบครองพื้นที่รอบทะเลดำ สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่าง 88–63 ปีก่อนคริสตกาล มูลเหตุมาจากพระเจ้ามิทริเดทีสผนวกมณฑลเอเชียของโรมันเข้ากับอาณาจักรของพระองค์ ตามด้วยการสังหารหมู่เอเชียติกเวสเปอร์ หรือชาวโรมันที่อาศัยอยู่ในหลายเมืองในอานาโตเลีย[1] สงครามมิทริเดทีสครั้งที่หนึ่งจึงอุบัติขึ้นเมื่อโรมส่งกองทัพมายึดดินแดนคืน แม้จะต้องเผชิญกับการลุกฮือในกรีซและดินแดนอื่น ๆ โดยมีพระเจ้ามิทริเดทีสหนุนหลัง และความขัดแย้งภายในโรมระหว่างฝ่ายออปติเมตส์กับปอปปูเลรีส[2] แต่สงครามครั้งแรกที่เริ่มขึ้นใน 88 ปีก่อนคริสตกาลจบลงด้วยชัยชนะของโรม ทั้งสองฝ่ายลงนามในสนธิสัญญาดาร์ดานอส ซึ่งระบุให้เขตแดนทั้งสองฝ่ายกลับไปเหมือนก่อนสงคราม[3]
เนื่องจากสนธิสัญญาดาร์ดานอสให้ผลประโยชน์ในเอเชียน้อยแก่โรมไม่มาก ลูกิอุส ลิกินิอุส มูเรนา แม่ทัพโรมซึ่งได้รับคำสั่งให้ยึดดินแดนคืนจึงก่อสงครามครั้งที่สองใน 83 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อทราบข่าวมูเรนารุกรานดินแดนของตน พระเจ้ามิทริเดทีสส่งแม่ทัพกอร์ดิอุสให้มายึดดินแดนคืนจนปะทะกับทัพโรมัน มูเรนาที่พ่ายแพ้หนีไปฟรีเจียและได้รับคำสั่งจากกงสุลซัลลาให้เลิกทัพเนื่องจากพระเจ้ามิทริเดทีสไม่ได้ละเมิดสนธิสัญญา สงครามครั้งที่สองจบลงใน 81 ปีก่อนคริสตกาลด้วยชัยชนะของพอนตัส และมูเรนาถอนทัพกลับโรม[4]
73 ปีก่อนคริสตกาล ทัพพระเจ้ามิทริเดทีสปะทะกับทัพโรมันที่นำโดยมาร์กุส เอาเรลิอุส กอตตาและได้รับชัยชนะในยุทธการที่แคลซีดอน ยุทธการครั้งนี้เป็นการปะทะกันครั้งแรกในสงครามครั้งที่สาม[5] ครั้งนี้พระเจ้ามิทริเดทีสเป็นพันธมิตรกับสมเด็จพระเจ้าไทกราเนสมหาราชแห่งอาณาจักรอาร์มีเนียผู้มีกองทัพที่แข็งแกร่ง ด้านโรมส่งกงสุลลูกัลลัสเป็นผู้นำทัพ ลูกัลลัสประสบชัยชนะเหนือทัพพอนตัสและอาร์มีเนียในยุทธการที่คาบิราและไทกราโนเซอร์ตา แต่การรุกไปข้างหน้าหยุดชะงักหลังลูกัลลัสพ่ายในยุทธการที่อาร์ตาซาตาและเซลา อีกด้านหนึ่ง ปอมปีย์ กงสุลโรมันอีกคนสามารถปราบโจรสลัดซีลีเชียที่สนับสนุนโดยพระเจ้ามิทริเดทีสได้สำเร็จ ทำให้ปอมปีย์ได้ขึ้นเป็นผู้นำทัพแทนลูกัลลัส[6] ต่อมาปอมปีย์ร่วมมือกับพระเจ้าฟราอาเตสที่ 3 แห่งจักรวรรดิพาร์เธีย บุกพอนตัสและอาร์มีเนียจนสามารถยึดภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกได้เกือบทั้งหมด[7] สงครามครั้งนี้จบลงเมื่อพระเจ้าไทกราเนสยอมจำนนต่อโรม ด้านพระเจ้ามิทริเดทีสที่หลบหนีไปไครเมียเพื่อหวังจะตั้งทัพมาสู้กับโรมใหม่ประสบความล้มเหลว จึงพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายพระเจ้ามิทริเดทีสสั่งให้ทหารปลงพระชนม์พระองค์[8] หลังสงครามโรมได้อาณาจักรอาร์มีเนียของพระเจ้าไทกราเนสและอาณาจักรราชวงศ์แฮสโมเนียในยูเดียมาเป็นรัฐบริวาร[9] และรวมอาณาจักรพอนตัสเข้ากับบิธีเนีย กลายเป็นมณฑลบิธีเนียและพอนตัส[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Cary, Max; Scullard, Howard Hayes (1975). History of Rome: Down to the Age of Constantine. New York City, United States: Springer. p. 231. ISBN 9781349024155.
- ↑ "6 Civil Wars that Transformed Ancient Rome". HISTORY. August 28, 2015. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.
- ↑ Gillespie, Alexander (2013). The Causes of War: Volume 1: 3000 BCE to 1000 CE. London, United Kingdom: Bloomsbury Publishing. p. 52. ISBN 9781782255970.
- ↑ Sampson, Gareth C. (2013). The Collapse of Rome: Marius, Sulla and the First Civil War. Barnsley, South Yorkshire, United Kingdom: Pen and Sword. p. 90. ISBN 9781473826854.
- ↑ Brennan, T. Corey (2000). The Praetorship in the Roman Republic: Volume 2: 122 to 49 BC. Oxford, United Kingdom: Oxford University Press. p. 562. ISBN 9780195114607.
- ↑ "Cilician Pirates". Livius.org. April 26, 2019. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.
- ↑ "Mithridates VI". Ancient History Encyclopedia. December 4, 2017. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.
- ↑ "Appianus, XVI, §111". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-15. สืบค้นเมื่อ 2019-11-18.
- ↑ "The Provinces of the Roman Empire, from Caesar to Diocletian, Vol. II". The Project Gutenberg. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.
- ↑ "Pontus (kingdom)". Livius. May 9, 2019. สืบค้นเมื่อ November 18, 2019.