สงครามคิมเบรียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามคิมเบรียน

เส้นทางที่คาดว่าชนเผ่าคิมบรีและทิวทันใช้อพยพ
โรมันชนะ
คิมบรีและทิวทันชนะ
วันที่113–101 ปีก่อนคริสตกาล (12 ปี)
สถานที่
ยุโรปกลาง ใต้และตะวันตก, นอริคัมและกอล
ผล

โรมันชนะ

  • ทัพโรมันและเจอร์แมนิกเสียหายอย่างหนัก
  • สาธารณรัฐโรมันเสื่อมถอยอย่างช้า ๆ
คู่สงคราม
สาธารณรัฐโรมัน
เซลติเบเรียน
คิมบรี
ทิวทัน
อัมโบรน
ทิกูรินี
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
กาอิอุส มาริอุส
ควินตุส ลูตาติอุส กาตุลุส
ควินตุส เซอร์วิลิอุส แกปิโอ
แกนัส มัลลิอุส แม็กซิมุส
แกนัส ปาปิลิอุส การ์โบ
ลูกิอุส กัสซิอุส ล็องกีนุส 
ลูกิอุส กัลเปอร์นิอุส ปิโซ 
มาร์กุส ยูนิอุส ซิลานุส
โบอิโอริกซ์  (คิมบรี)
ลูจิอัส  (คิมบรี)
แคลโอดิกัส (เชลย) (คิมบรี)
ซีซอริกซ์ (เชลย) (คิมบรี)
ดิวิโก (ทิกูรินี)
ทิวโทบอด (เชลย) (ทิวทัน)
ความสูญเสีย
หนัก ทหารโรมันมากกว่า 110,000 คนถูกฆ่า ถูกฆ่า 340,000+ คน[1]
ตกเป็นทาส 150,000 คน (ชาวคิมบรี 60,000 คนและชาวทิวทัน 90,000 คน)[2]

สงครามคิมเบรียน หรือ สงครามคิมบริก (ละติน: Bellum Cimbricus) เป็นความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐโรมันกับชนเผ่าคิมบรี ทิวทัน อัมโบรนและทิกูรินี ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มชนเจอร์แมนิกและชาวเคลต์ที่อพยพมาจากคาบสมุทรจัตแลนด์ เกิดขึ้นระหว่าง 113–101 ปีก่อนคริสตกาล สงครามคิมเบรียนเป็นความขัดแย้งแรกนับตั้งแต่สงครามพิวนิกครั้งที่สองที่โรมและอิตาเลียเผชิญกับภัยคุกคามอย่างจริงจัง

ช่วงเวลาของสงครามส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในและการจัดการกองทัพโรมัน สงครามนี้ยังส่งผลต่อกาอิอุส มาริอุสที่ตำแหน่งกงสุลของเขากำลังท้าทายอำนาจสถาบันการเมืองของโรม สงครามคิมเบรียนร่วมกับสงครามยูเกอร์ไทน์ ทำให้มาริอุสตัดสินใจปฏิรูปกองทัพ

แม้จะสูญเสียอย่างหนักในยุทธการที่อะเราซิโอและยุทธการที่นอเรอา ซึ่งนับเป็นความปราชัยครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามพิวนิกครั้งที่สอง แต่ท้ายที่สุดโรมเป็นฝ่ายชนะ ด้านชนเผ่าเจอร์แมนิกถูกทัพโรมันทำลายจนเกือบหมดสิ้น แต่มีบันทึกว่าบางส่วนที่รอดชีวิตเข้ากับกลาดิอาตอร์ที่ก่อกบฏในสงครามทาสครั้งที่สาม[3]

การอพยพและความพ่ายแพ้ของโรมช่วงแรก[แก้]

บันทึกโรมันบางแหล่งระบุว่าราว 120–115 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่าคิมบรีละทิ้งถิ่นฐานเดิมแถบทะเลเหนือเนื่องจากอุทกภัย (ขณะที่สตราโบบันทึกว่าไม่น่าเป็นไปได้[4]) คาดว่าเดินทางลงมาตะวันออกเฉียงใต้และพบกับชาวทิวทันที่เป็นมิตรและอาจจะมีความเกี่ยวข้องกัน ก่อนที่ทั้งสองเผ่าจะเอาชนะชนเผ่าสกอร์ดิสชีและโบไยที่อาศัยอยู่แถบยุโรปกลาง ใน 113 ปีก่อนคริสตกาล คิมบรีและทิวทันมาถึงแม่น้ำดานูบในนอริคัม และปะทะกับเทาริสชี ชนเผ่าเคลต์สายหนึ่งที่เป็นพันธมิตรกับโรม ชนเผ่าเทาริสชีสู้ไม่ได้จึงขอความช่วยเหลือจากโรม[5]

112 ปีก่อนคริสตกาล แกนัส ปาปิลิอุส การ์โบ กงสุลโรมันเดินทัพไปที่นอริคัมและสั่งให้คิมบรีและทิวทันออกจากพื้นที่ทันที เริ่มแรกคิมบรียินยอมจากไปแต่โดยดี แต่หลังพบว่าโรมันวางกำลังซุ่มโจมตีพวกเขา คิมบรีก็เข้าโจมตีจนทัพโรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในยุทธการที่นอเรอา

จากนั้นคิมบรีเดินทางลงมาทางตะวันตกที่กอล 109 ปีก่อนคริสตกาล คิมบรีรุกเข้าแกลเลียนาร์โบเนนซิส เอาชนะทัพโรมันของมาร์กุส ยูนิอุส ซิลานุส 107 ปีก่อนคริสตกาล ทัพคิมบรี-ทิวทัน-ทิกูรินีเอาชนะทัพโรมันได้อีกครั้งในยุทธการที่เบอร์ดิกาลา และสังหารลูกิอุส กัสซิอุส ล็องกีนุส กงสุลผู้นำทัพ

หายนะที่อะเราซิโอและมาริอุสเข้ามาบัญชาการ[แก้]

105 ปีก่อนคริสตกาล แกนัส มัลลิอุส แม็กซิมุส กงสุลและควินตุส เซอร์วิลิอุส แกปิโอ โปรกงสุลโรมันแต่งทัพขนาดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามพิวนิกครั้งที่สองไปที่แม่น้ำโรน ใกล้ออร็องฌ์ แต่ด้วยความไม่ลงรอยระหว่างกงสุลทั้งสองและการจัดการที่ผิดพลาดทำให้ถูกทัพคิมบรี-ทิวทันตีแตกในยุทธการที่อะเราซิโอ ซึ่งในยุทธการนี้โรมสูญเสียทหารกว่า 80,000 คน[6] นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โรมโบราณ[7]

หลังความพ่ายแพ้ที่อะเราซิโอ สาธารณรัฐโรมันเกิดความระส่ำระส่าย มีการประกาศภาวะฉุกเฉินและเลือกกาอิอุส มาริอุส แม่ทัพผู้นำโรมชนะสงครามยูเกอร์ไทน์เป็นกงสุล มาริอุสทำการปรับปรุงกองทัพใหม่ ใน 102 ปีก่อนคริสตกาล มาริอุสเดินทัพไปที่วาล็องซ์เพื่อสังเกตการณ์ฝ่ายทิวทัน ด้านทิวทันพยายามยั่วยุให้ทัพโรมันเข้าต่อสู้ด้วยการโจมตีค่ายโรมันแต่ล้มเหลว มาริอุสปล่อยให้ฝ่ายทิวทันผ่านไปยังแอควายเซ็กติเอที่เป็นที่ราบมีเนินและป่าอยู่สองฟาก ที่นั่นมาริอุสล่อให้ทิวทันโจมตีก่อนจะให้ทหารที่ซุ่มอยู่ในป่าเข้าโอบล้อมทั้งสองด้าน สังหารหมู่ฝ่ายทิวทันและจับตัวทิวโทบอด กษัตริย์ของชาวทิวทันเป็นเชลย[8]

ยุทธการที่เวอร์เคลเลและหลังจากนั้น[แก้]

101 ปีก่อนคริสตกาล คิมบรีมาถึงซิสอัลไพน์กอล ผ่านเทือกเขาแอลป์และเข้าสู่ทางเหนือของอิตาลี ก่อนจะปะทะกับทัพโรมันในยุทธการที่เวอร์เคลเลใกล้แม่น้ำซีเซีย ในยุทธการนี้ฝ่ายโรมสามารถสังหารสองผู้นำคิมบรี โบอิโอริกซ์และลูจิอัส และทำลายทัพคิมบรีจนย่อยยับ อย่างไรก็ตามมีบันทึกว่าบางส่วนที่รอดชีวิตเข้ากับกลาดิอาตอร์ที่ก่อกบฏในสงครามทาสครั้งที่สาม (73–71 ปีก่อนคริสตกาล)[3]

แม้จะปราบชนเผ่าเหล่านี้ลงได้ แต่ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้มาริอุสเป็นอริกับซัลลา แม่ทัพผู้ร่วมรบที่เวอร์เคลเลจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองซัลลาครั้งที่หนึ่ง (88–87 ปีก่อนคริสตกาล) นอกจากนี้การมอบความเป็นพลเมืองโรมันให้แก่พันธมิตรชาวอิตาลิกโดยพลการของมาริอุส ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่สงครามโซเชียล (91–87 ปีก่อนคริสตกาล)

อ้างอิง[แก้]

  1. Livy (27 August 2009). Rome's Mediterranean Empire: Books 41–45 and the Periochae. ISBN 9780199556021.
  2. Angus, Samuel (1915). The Environment of Early Christianity.
  3. 3.0 3.1 Strauss, Barry (2009). The Spartacus War. Simon and Schuster. pp. 21–22. ISBN 978-1-4165-3205-7. marius german.
  4. Geographia Book VII Chapter 2
  5. Hughes, Tristan (February 4, 2020). "How Gaius Marius Saved Rome From the Cimbri". History Hit. สืบค้นเมื่อ May 1, 2021.
  6. Valerius Antias (1st century BC). Manubiae (quoted by Livy, Periochae, book 67 เก็บถาวร 2018-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน).
  7. http://www.historyofwar.org/articles/battles_arausio.html
  8. Hyden 2017, pp. 139–40.