ศาสนาพุทธในประเทศคอสตาริกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แท่นบูชาแบบพุทธทิเบต-เพิน ของครอบครัวนาวาร์โร

ศาสนาพุทธในประเทศคอสตาริกา ถือเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับที่สองของประเทศ และถือเป็นชาติอเมริกากลางที่มีประชากรพุทธศาสนิกชนมากที่สุด คือจำนวน 96,733[1]–100,000 คน[2][3] (คิดเป็นร้อยละ 2.34–2.50 ของประชากรทั้งประเทศ) นับเป็นประเทศที่มีการขยายตัวของพุทธศาสนิกชนอย่างมีนัยสำคัญ[4] ส่วนใหญ่เป็นนิกายวัชรยานและมหายาน โดยมีศาสนสถาน โรงเรียน และสำนักปฏิบัติธรรมอยู่หลายแห่ง[5]

ประวัติ[แก้]

ศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศคอสตาริกาผ่านผู้อพยพชาวจีนเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปรากฏในงานเขียนของฆอร์เฆ การ์โดนา (Jorge Cardona) ซึ่งบันทึกถึงศาลแบบพุทธ สร้างขึ้นโดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในจังหวัดปุนตาเรนัสเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 20[6] ลูกหลานชาวจีนจำนวนไม่น้อยหันไปเข้ารีตศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกตามธรรมเนียมนิยม[7] ขณะที่อีกส่วนยังคงดำรงศรัทธาในศาสนาพุทธไว้ได้[8] นอกจากนี้หลักธรรมของศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศคอสตาริกาผ่านสมาคมเทวญาณซึ่งเป็นที่นิยมของชนชั้นสูง[7] สมาชิกที่เป็นกวีและนักปรัชญาหลายคนมีงานเขียนที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ เช่น โรเบร์โต เบรเนส เมเซน (Roberto Brenes Mesén) และโฆเซ บาซิเลโอ อากุญญา เซเลดอน (José Basileo Acuña Zeledón)

มีการสร้างวัดพุทธแห่งแรก คือ กาซาเซน (Casa Zen) ก่อสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1974 จากการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น[7][9][10] ในเวลาต่อมาได้มีการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธแบบทิเบตนิกายเกลุก เมื่อ ค.ศ. 1989 นอกจากนี้ยังมีคณะเผยแผ่ศาสนาพุทธจากสมาคมสร้างคุณค่า มีศูนย์กลางการเผยแผ่ที่กรุงซานโฮเซ[11]

การแบ่งกลุ่ม[แก้]

ศาสนาพุทธแบบทิเบต[แก้]

การทำโยคะของพุทธศาสนิกชน

ศาสนาพุทธแบบทิเบต ถือเป็นพุทธศาสนิกชนกลุ่มใหญ่ ปัจจุบันมีสำนักเผยแผ่สี่แห่งในประเทศคอสตาริกา[6] แห่งแรกคือ สมาคมวัฒนธรรมทิเบต–คอสตาริกา (Asociación Cultural Tibetano-Costarricense)[12] ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1989 หลังการเสด็จเยือนละตินอเมริกาครั้งแรกของทะไลลามะที่ 14 กระทั่งทะไลลามะเสด็จเยือนคอสตาริกาอีกครั้งใน ค.ศ. 2004[13] แต่การเสด็จเยือนคอสตาริกาครั้งที่สามของทะไลลามะใน ค.ศ. 2008 ถูกยกเลิก เพราะโอสการ์ อาเรียส ซันเชซ (Oscar Arias Sánchez) ประธานาธิบดีคอสตาริกาในขณะนั้นต้องการดำรงสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศจีน ทำให้ชาวคอสตาริกาที่นับถือศาสนาพุทธไม่พอใจ โอตตอน โซลิส (Ottón Solís) ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวสนับสนุนทะไลลามะต่อสาธารณชน และกล่าวอีกว่าเขาจะนำพระนามของทะไลลามะไปตั้งชื่อสนามกีฬาแห่งชาติ หากเขาได้รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี[14]

อีกกลุ่มหนึ่งใช้ชื่อว่า ศูนย์ธรรมะพุทธสหัสเนตร (Thousand Eyes Compassive Buddha Dharma Center) ที่บาร์ริโออามอน (Barrio Amón) กรุงซานโฮเซ ซึ่งเป็นของนิกายเกลุก ศูนย์เผยแผ่ที่สามใช้ชื่อว่า ศูนย์ธรรมะไดมอนด์เวย์ (Diamond Way Buddhist Center) ที่กูร์ริดาบัต (Curridabat) กรุงซานโฮเซ ซึ่งเป็นของนิกายการ์มากากยวี[15] และแห่งที่สี่คือ ศูนย์ลิงมินจา (Lingmincha Center) ซึ่งเป็นของนิกายญิงมากับลัทธิเพิน[16]

กลุ่มอื่น ๆ[แก้]

ศาสนาพุทธนิกายเซน มีศูนย์ กาซาเซน ตั้งอยู่ที่เมืองซันโตโดมิงโก และเฮเรเดีย[7][17] นอกจากนี้ยังมีวัดของนิกายเถรวาท[18] วัดสาขาของวัดเส้าหลิน[19] และศาลเจ้าแบบพุทธตามธรรมเนียมจีน[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. religiousintelligence.co.uk เก็บถาวร เมษายน 7, 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. "Buddhism in Costa Rica". The Costa Rican News. 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 December 2017. สืบค้นเมื่อ 17 December 2017.
  3. Buddhism in Costa Rica by Terrence Johnson, The Costa Rican News, August 5, 2012
  4. พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ (5 กันยายน 2557). "คอสตาริกาโมเดล". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "Buddhanet: Central America". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-12. สืบค้นเมื่อ 2013-12-09.
  6. 6.0 6.1 6.2 "El despertar de Buda". La Nación. 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 December 2017. สืบค้นเมื่อ 17 December 2017.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "El despertar de Buda". La Nación. 2012. สืบค้นเมื่อ 17 December 2017.
  8. Quirós, Adriana (24 December 2010). "Navidad se vive diferente en hogares ticos no cristianos" [Christmas is lived differently in non-Christian Costa Rican homes]. La Nación (ภาษาสเปน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 December 2010.
  9. "El nacimiento de la Casa Zen y los inicios del budismo en Costa Rica". Amelia Rueda. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 September 2016. สืบค้นเมื่อ 17 December 2017.
  10. "Casa Zen de Costa Rica". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 December 2017. สืบค้นเมื่อ 17 December 2017.
  11. "Historia". SGI Costa Rica. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 December 2017. สืบค้นเมื่อ 19 December 2017.
  12. tibet in costa rica เก็บถาวร 2017-03-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (official website, in spanish)
  13. Visit of H.H. the XIV Dalai Lama - 2004 เก็บถาวร กันยายน 21, 2008 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (in spanish)
  14. "Ottón Solís Is "Putting Wood On The Fire" Of The Sino-Tibet Conflict". The Tibet Post. 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 December 2017. สืบค้นเมื่อ 17 December 2017.
  15. "Budismo Camino del Diamante Costa Rica". Facebook.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2022. สืบค้นเมื่อ 2 March 2019.
  16. "Find a Center or Sangha". Lingminch International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 February 2018. สืบค้นเมื่อ 19 December 2017.
  17. "Casa Zen de Costa Rica". Casazen.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 March 2019. สืบค้นเมื่อ 2 March 2019.
  18. "Asociación de Budismo Theravada de Costa Rica". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 December 2017. สืบค้นเมื่อ 17 December 2017.
  19. "Historia del Templo Shaolin". Shaolin.cr. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 December 2017. สืบค้นเมื่อ 17 December 2017.