ข้ามไปเนื้อหา

วิกิพีเดีย:การให้เหตุผลในวิกิพีเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขอกล่าวถึงการให้เหตุผลในวิกิพีเดีย โดยแบ่งเป็นการให้เหตุผลที่ดี และการให้เหตุผลที่ไม่ดี จุดประสงค์ของการเขียนเรียงความนี้เพื่อยกตัวอย่างการให้เหตุผลที่ดีและไม่ดี, เพื่อให้ผู้อ่านให้เหตุผลที่ดีมากขึ้น ให้เหตุผลที่ไม่ดีลดลง, และเพื่อให้อาสาสมัครวิกิพีเดียรู้เท่าทันการให้เหตุผลแบบต่าง ๆ ไม่ใช่ให้คุณทำตามตัวอย่างที่ไม่ดี

การให้เหตุผลข้างล่างนี้มีทั้งการให้เหตุผลในการอภิปราย และการให้เหตุผลในหน้าบทความอยู่รวมกัน

ป.ล. หน้านี้ไม่ใช่หน้าสอนหรือแนะนำการโต้วาที จึงไม่ใช่การสรุปตัวอย่างของการให้เหตุผลทุกแบบ

การให้เหตุผลที่ดี

[แก้]
1. ยกนโยบายและแนวปฏิบัติมาอ้าง
ตัวอย่างเช่น:
checkY "การแก้ไขของคุณโดยไม่ฟังข้อท้วงติงที่สมเหตุสมผลของอาสาสมัครคนอื่นถือว่าเข้าข่ายการแก้ไขที่ทำให้เสียระบบ ถ้าคุณยังดำเนินการต่อไป ผม/ฉันจะขอแจ้งให้ผู้ดูแลระบบมีมาตรการต่อคุณ"
2. ยกหลักความเห็นพ้องมาอ้าง
ตัวอย่างเช่น:
checkY "เรื่องนี้เคยมีอภิปรายไว้แล้ว ดังนั้นให้ยึดตามข้อสรุปนั้น ถ้าไม่เห็นด้วยกับผลการอภิปรายควรเปิดอภิปรายใหม่เพื่อหาข้อตกลงก่อน"
3. ยกบรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของวิกิพีเดียภาษาไทยมาอ้าง
ตัวอย่างเช่น:
checkY "แม้ว่าแนวปฏิบัติในเรื่องนี้จะยังไม่มีสรุปไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในวิกิพีเดียภาษาไทย แต่วิกิพีเดียภาษาไทยก็มีบรรทัดฐานในการยกนโยบายหรือแนวปฏิบัติเรื่องเดียวกันในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษมาใช้โดยเทียบเคียง ดังนั้น ผม/ฉันจึงคิดว่าควรดำเนินการตามนั้นด้วย"
4. ยกหลักฐานที่น่าเชื่อถือภายนอกมาอ้าง
ตัวอย่างเช่น:
checkY "ข้อมูลที่ลงในบทความ ก ล้าสมัยแล้ว ฉันไปพบหลักฐาน ข ที่ใหม่กว่า [แนบลิงก์] และได้ปรับข้อความให้เป็นไปตามหลักฐานดังกล่าวแล้ว"
5. ใช้สามัญสำนึก
ตัวอย่างเช่น:
checkY "คำว่า 'United States' ควรแปลเป็น 'สหรัฐ' และ 'United States of America' ควรแปลเป็น 'สหรัฐอเมริกา' ถ้าแปลเหมือนกันจะทำให้สื่อความหมายตามต้นฉบับไม่ได้"
checkY "ในกล่องข้อมูล ตาราง กราฟ คำบรรยายภาพ อาจย่อข้อความบางอย่างตามสมควร เพื่อประหยัดพื้นที่"

การให้เหตุผลที่ไม่ดี

[แก้]
1. อ้างคุณวุฒิของตัวเอง
ตัวอย่างเช่น:
 ไม่สำเร็จ "ฉันมีประสบการณ์สอนเรื่องนี้มากว่า 40 ปี ฉันรู้เรื่องนี้ดีกว่าคุณ ไม่ต้องมาสั่งสอนฉัน"
2. อ้างเรื่องเฉพาะกลุ่มของตัวเอง
ตัวอย่างเช่น:
 ไม่สำเร็จ "ฉันไม่เห็นด้วยที่จะให้ใช้คำว่ารักร่วมเพศ เพราะเป็นคำที่ดูถูกเหยียดหยามกัน"
 ไม่สำเร็จ "ฉันจะให้สะกดอย่างนี้ เพราะกลุ่มของฉันสะกดแบบนี้กันทั้งนั้น"
3. การขอความเห็นใจ
ตัวอย่างเช่น:
 ไม่สำเร็จ "ฉันขออย่าลบการแก้ไขของฉัน เพราะฉันอุตส่าห์เขียนใช้เวลาตั้งหลายชั่วโมง"
 ไม่สำเร็จ "ฉันขออย่าลบการแก้ไขของฉัน เพราะจะมีผลต่อการประเมินงานของฉัน"
4. การอ้างความไม่รู้
ตัวอย่างเช่น:
 ไม่สำเร็จ "ฉันไม่รู้เรื่องนี้ จึงไม่ผิด"
5. การโจมตีตัวบุคคล
ตัวอย่างเช่น:
 ไม่สำเร็จ "คุณใช้คำหยาบคาย/กระแหนะกระแหน ดังนั้นคุณจึงไม่มีสิทธิ์มาตักเตือนฉัน"
6. การอ้างคนหมู่มาก (อ้างตัวอย่างไม่ดี)
ตัวอย่างเช่น:
 ไม่สำเร็จ "ทีบทความนั้นยังมีปัญหาแต่อยู่มาได้ตั้งนาน ทำไมคุณไม่ไปจัดการกับเรื่องนั้นก่อน ค่อยมาจัดการกับฉัน"​
7 การโจมตีหุ่นฟาง (ยัดคำพูดใส่ปากคนอื่น)
ตัวอย่างเช่น:
 ไม่สำเร็จ "ข้อความที่คุณพิมพ์มาแปลความได้ว่าคุณกำลังไล่ฉันออกจากวิกิพีเดีย ซึ่งคุณไม่มีสิทธิ์ เพราะคุณไม่ใช่เจ้าของวิกิพีเดีย"
8. การอ้างประสบการณ์ส่วนบุคคล
ตัวอย่างเช่น:
 ไม่สำเร็จ "ข้อมูลที่ลงในวิกิพีเดียผิด ฉันเป็นลูกของคนคนนี้ และฉันรู้ว่าข้อมูลจริงเป็นอย่างที่ฉันรู้มา"