วัดหนองหอย (จังหวัดราชบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดหนองหอย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดหนองหอย
ที่ตั้ง43 หมู่ 2 ตำบลเขาแร้ง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 70000
ประเภทพระอารามหลวง
นิกายเถรวาท สังกัดคณะสงฆ์ ภาค 15
เจ้าอาวาสพระราชวัลภาจารย์ (ดาวเรือง อาจารคุโณ)
กิจกรรมศาสนสถานในพระพุทธศาสนาที่มีกิจกรรมเชิงพุทธตลอดปี
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดหนองหอย เป็นวัดในพระพุทธศาสนา สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาแร้ง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นวัดที่เก่าแก่มีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธในจังหวัดราชบุรี

ประวัติ[แก้]

วัดหนองหอยนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2416 เดิมชื่อว่าวัดน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านห้วย หมู่ที่ 4 ตำบลเขาแร้ง อยู่ใกล้กับวัดโสดาประดิษฐาราม ในสมัยนั้นหลวงปู่งาม เป็นเจ้าอาวาส ท่านเห็นว่าอยู่ใกล้กับวัดโสดาประดิษฐารามมาก และมีโยมผู้ศรัทธาได้ถวายที่ดินบริเวณหมู่บ้านหนองหอยซึ่งที่ราบเชิงเขาให้ ท่านจึงได้เริ่มสร้างวัดขึ้นที่หมู่บ้านหนองหอย เนื่องจากวัดตั้งอยู่ที่หมู่บ้านหนองหอย ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านว่า "วัดหนองหอย" วัดหนองหอยมีเจ้าอาวาสปกครองดูแลต่อกันมาหลายรูป รูปปัจจุบันคือ พระเดชพระคุณ พระราชวัลภาจารย์ (ดาวเรือง อาจารคุโณ) วัดหนองหอยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2516 และได้ทำการปิดทองฝังลูกนิมิตผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2517

ตามประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดหนองหอย ตำบลเขาแร้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้น ประกาศ ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2555

ลำดับผู้บริหารวัดหนองหอย (เจ้าอาวาส)[แก้]

ผู้บริหาร สมภาร เจ้าอาวาสที่ปกครองวัดสืบต่อกันมาเท่าที่ทราบนามของวัดหนองหอยจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

  • 1) หลวงปู่งาม (ไม่ทราบ ปี พ.ศ.)
  • 2) พระเพ็ง (ไม่ทราบ ปี พ.ศ.)
  • 3) พระชุม (พ.ศ. 2437-2445)
  • 4) พระเล่ง (พ.ศ. 2445-2456)
  • 5) พระชม (พ.ศ. 2456-2463)
  • 6) พระน้อย (พ.ศ. 2464-2467)
  • 7) พระหัส (พ.ศ. 2467-2470)
  • 8) พระหลี แซ่ตัน ศิริมงคล (พ.ศ. 2470-2482)
  • 9) พระน้อย สุนนฺโท (พ.ศ. 2482-2505)
  • 10) พระครูบรรพตพัฒนคุณ (สมปอง สปฺปญฺโญ) (พ.ศ. 2505-2545)
  • 11) พระราชวัลภาจารย์ (ดาวเรือง อาจารคุโณ) (พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน)
  • ภายหลังอดีตพระอธิการหลี แซ่ตัน ศิริมงคล ได้รับตำแหน่งแพทย์สมุนไพรไทยประจำตำบลเขาแร้ง ได้ถวายที่ดินของบิดามารดาท่านให้กับวัดหนองหอย เมื่อถึงวัยชรา ท่านได้บวชอีกครั้งเพื่อแก้บนเนื่องจากความป่วยในสมัยหนุ่ม ท่านได้ขอบริจาคชาววัดโรงช้างและสาธุชนทั่วไปเพื่อนำทุนมาสมทบกับพระอธิการสมปอง สปฺปญฺโญ สร้างพระอุโบสถจนสำเร็จ

พระอธิการสมปอง สปฺปญฺโญ เป็นผู้บุกเบิกสร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และขับรถไถตั้งแต่ตีนเขาให้เป็นถนนไปจนถึงบนภูเขากระทั่งพื้นที่โล่งเตียนด้วยตนเองกับชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ท่านยังได้ลงมือแกะสลักแผ่นไม้ใช้ชื่อว่า "อุทยานวัดหนองหอย" ตั้งอยู่บนทางขึ้นเขาในสมัยแรกเริ่ม ท่านได้ถ่ายรูปการทำงานไว้มากมายอีกด้วย

สิ่งศักดิ์สิทธิ์[แก้]

พระพุทธรัตนโกสินทร์มหามุนี

พระพุทธรัตนโกสินทร์มหามุนี ชาวบ้านทั่วไปเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า หลวงพ่อใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 9 นิ้ว สูง 30 เมตร เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ. 2535 ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2538 สิ้นค่าก่อสร้างประมาณยี่สิบล้านบาท ก่อสร้างบนยอดเขาขนาดกลางชื่อ “เขาน้อยสรรพยา” หลังจากสร้างหลวงพ่อใหญ่แล้วชาวบ้านเรียกว่า “เขาพระใหญ่” ภายในฐานที่ประดิษฐาน หลวงพ่อใหญ่ ได้สร้างเป็นวิหารและภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐาน รูปหล่อพระพุทธเจ้า 3 องค์ ซึ่งเป็นคตินิยมของชาวจีน รูปหล่อพระโพธิสัตว์กวนอิม และยังมีรูปหล่อเทพเจ้าที่เคารพนับถือของชาวจีน รวมทั้งมีภาพเขียนสีน้ำมันซึ่งเป็นรูปของ 18 อรหันต์และเทพเจ้าของฮินดูอันงดงาม

พระโพธิสัตว์กวนอิม ณ เขาพระโพธิสัตว์กวนอิม

ในปัจจุบันนี้วัดหนองหอยเป็นที่รู้จักของสาธุชนทั่วไป ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เนื่องจากที่วัดหนองหอยแห่งนี้ มีรูปเหมือนองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมประดิษฐานอยู่ ณ ยอดเขาหนองหอย ซึ่งจะเรียกกันว่า “เขาพระโพธิสัตว์กวนอิม วัดหนองหอย” เป็นที่ล่ำลือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก ไม่ว่าจะขออะไรก็จะได้ดังใจ จะมีผู้คนมาสักการบูชากันมิขาด โดยเฉพาะในวันเทศกาลหรือวันหยุด หากท่านได้มาสักการะองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ณ เขาพระโพธิสัตว์กวนอิม ท่านอาจจะเกิดความสงสัยว่าเป็นวัดไทยหรือวัดจีน เพราะมีองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม และรูปแบบการสร้าง เครื่องสักการบูชาที่เห็นอยู่ ตลอดจนรูปเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์อื่น ๆ ซึ่งจะพบเห็นได้ในวัดจีน หรือโรงเจต่างๆ แต่ที่เขาพระโพธิสัตว์กวนอิมวัดหนองหอยนี้ เป็นวัดไทยและเป็นส่วนหนึ่งของวัดหนองหอย ซึ่งสร้างขึ้นโดย พระเดชพระคุณ พระราชวัลภาจารย์ (ดาวเรือง อาจารคุโณ) เจ้าอาวาสวัดหนองหอยรูปปัจจุบัน ท่านได้เริ่มก่อสร้างมาประมาณ 30 ปีเศษแล้ว จากที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ บนเขานี้เลย

ความเป็นมาของเขาพระโพธิสัตว์แม่กวนอิม

เดิมที่เขาพระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีผู้คนอาศัยและไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ จนกระทั่งในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 พระเดชพระคุณ พระราชวัลภาจารย์ (ดาวเรือง อาจารคุโณ) เจ้าอาวาสวัดหนองหอยรูปปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงสามเณร ได้ขึ้นมาพำนักอาศัยเพื่อปฏิบัติภาวนา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2514 ท่านได้นิมิตเห็นองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ท่านได้เกิดศรัทธาต่อองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม เพราะพระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นพระโพธิสัตว์ที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ท่านจะโปรดสัตว์โลกทุกชนิด โดยไม่เลือกว่าในฐานะใด จะยากดีมีจน และไม่เลือกกาลเวลา พระเดชพระคุณ พระราชวัลภาจารย์ จึงเกิดความตั้งใจ ที่จะสร้างรูปเหมือนองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม เพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชา จึงได้ขออนุญาต พระครูบรรพตพัฒนคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองหอย ทำการสร้างศาลาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิม โดยท่านให้ช่างปั้นรูปเหมือนพระโพธิสัตว์กวนอิม สูงประมาณ 1 เมตร และอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในศาลาเป็นครั้งแรก กาลต่อมามีสาธุชนทั่วไปทราบข่าว ได้มาร่วมสร้าง รวมทั้งสร้างวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิมด้วยใช้เวลาในการก่อสร้างมาถึงปัจจุบัน 30 ปีเศษ

พระเดชพระคุณ พระราชวัลภาจารย์ ท่านได้กำหนดวางศิลาฤกษ์ วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม ในวันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2523 เวลา 13.15 น. ได้ทำการยกเสาเอกวิหาร ในวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2524 เวลา 09.00 น. และได้ทำการก่อสร้างสืบมา โดยการลงกำลังแรงด้วยตนเองบ้าง ถ้ามีเงินจ้างคนอื่นบ้าง ก่อสร้างเรื่อยมาจนกระทั่งในวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 เวลา 14.00 น. อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ ของพระโพธิสัตว์กวนอิม (ตามปฏิทินจีน ปี 2525) พระเดชพระคุณ พระราชวัลภาจารย์ ได้ทำการเททอง หล่อองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมขึ้น ณ เขาพระโพธิสัตว์กวนอิมนี้ เป็นพระโพธิสัตว์กวมอิมหล่อด้วยโลหะทองเหลือง ปางยื่นมือประทานพร พระหัตถ์ซ้ายทรงแจกันมณีอันบรรจุน้ำค้างทิพย์แห่งความกรุณา ในหัตถ์ขวาทรงกิ่งสน มีความสูงประมาณ 3.59 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 2 ตัน ยืนประทับฐานดอกบัว และได้อัญเชิญประดิษฐานในวิหาร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525

นอกจากจะมีพระพุทธรูปและองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ให้สักการบูชาในวิหารแล้วยังมีสิ่งสักการบูชาอื่น ๆ ซึ่ง พระเดชพระคุณ พระราชวัลภาจารย์ ได้สร้างขึ้น ในกาลต่อ ๆ มา บนเขาเจ้าแม่กวนอิมดังนี้

ฟ้าดิน หรือที่ชาวจีน เรียกว่า ทีกง เป็นประเพณีของชาวจีนโบราณที่มีความเคารพนับถือต่อฟ้าและดิน

พระเวทโพธิสัตว์อ่วยโท๊ คือพระโพธิสัตว์ที่มีความรู้เรื่องเวทมนตร์และเป็นเทพารักษ์ประจำพระอารามของพระพุทธศาสนาในประเทศจีน

ท้าวเวสสุวรรณ เป็นเทพ นับถือพระพุทธศาสนา ตามคัมภีร์ในพระไตรปิฎก ตามความเชื่อของคนทั่วไป เชื่อว่าท้าวเวสสุวรรณ มีหน้าที่ดูแลความดี ชั่วของมนุษย์ ซึ่งทั้ง 3 แห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณรอบนอกวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม ส่วนที่จะกล่าวถึงต่อไปจะประดิษฐานรอบ ๆ ลานกว้างของเขาเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งมี

เทพเจ้าฮก – ลก – ซิ่ว หมายถึง เทพเจ้าแห่งวาสนาบารมี เทพเจ้าแห่งทรัพย์สมบัติ เทพเจ้าแห่งอายุยืน เป็นความเชื่อของคนโบราณว่า มนุษย์ที่จะมีโชคดี ลาภยศดี และอายุยืน ย่อมจะมีเทพาอารักษ์ ปกป้องรักษา หรือบันดาลให้เป็นไป จึงนิยมกราบไหว้บูชา ตามคติของจีน

พระสังกัจจายน์ ในพระพุทธประวัติ เป็นพระเถรที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นเลิศ ในการแสดงธรรมที่ย่อและพิสดาร เชื่อว่าการบูชาพระสังกัจจายน์นั้น เพื่อให้เกิดสติปัญญาในทางที่เป็นสัมมาทิฐิ

พระอรหันต์จี้กง เป็นพระจีนที่มีพระอารามอยู่ในเมืองหังโจว ประเทศจีน ท่านเป็นพระที่มีความเมตตาต่อคนยากจนมาก ชอบให้การช่วยเหลือ ท่านมีสติปัญญาที่เป็นเลิศและมีความรู้ทางการแพทย์มาก

รูปเหมือนครูบาศรีวิชัย เป็นพระที่พระครูปลัดธีรวัฒน์ ถือว่าเป็นพระอาจารย์ เพราะเมื่อขณะที่ท่านเป็นสามเณรอยู่ในภาคเหนือ ได้เป็นลูกศิษย์ของพระมหาเถระรูปหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของครูบาศรีวิชัย

รูปเหมือนหลวงปู่ทวด เป็นพระเถระที่มีความรู้ทางพุทธศาสนา และมีเมตตาต่อพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคใต้

หลวงพ่อปาน เป็นพระเถระที่ประกอบด้วยเมตตา และมีความรู้ในเรื่องการแพทย์แผนโบราณได้ช่วยเหลือคนยากจนเป็นจำนวนมาก

หลวงพ่อสด เป็นพระที่มีเมตตามากและมีความรู้ในเรื่องวิปัสสนาทั้งเป็นต้นสายของวิชชาธรรมกาย

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังษี เป็นพระเถระที่มีเมตตา และรุ่งเรืองด้วยปัญญา มีบารมีสูง ให้ความเมตตาต่อคนทั่วไป โดยเฉพาะพระสมเด็จของท่าน ซึ่งใคร ๆ ก็ปรารถนาจะมีไว้บูชา

รูปเหมือนพระสิวลี เป็นพระอรหันต์เถระ หนึ่งในจำนวน อิสิติมหาสาวก (1 ใน 80 รูป) ที่พระพุทธองค์ทรงยกย่อง ว่าเป็นผู้เป็นเลิศ ในทางลาภสักการะ

นอกจากที่กล่าวมานี้ พระเดชพระคุณ พระราชวัลภาจารย์ ยังได้สร้างรูปพระสังกัจจายน์ หล่อด้วยโลหะทองเหลืองนอนบนกองเงินกองทอง ขนาดความยาวขององค์ท่าน ประมาณ 9 เมตร ประดิษฐานบนยอดเขาหน้าวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม (เขาลูกเดียวกันแต่คนละยอด)

  • พระสังกัจจายน์

พระสังกัจจายน์นั่งเนื้อทองเหลือง หน้าตักประมาณ 2 เมตร เป็นพระมหาลาภ ให้ร่ำรวยด้วยโชคลาภ เงินทอง และความสุข ให้มีปัญญาเป็นเลิศ สำเร็จสมปรารถนา

กิจกรรมในวัดหนองหอย[แก้]

  • งานพิธีประจำปีของเขาเจ้าแม่กวนอิม เมื่อได้สร้างรูปเหมือนองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ประดิษฐานในวิหารแล้ว พระเดชพระคุณ พระราชวัลภาจารย์ ได้กำหนดให้มีงานนมัสการปิดทอง พระรูปเหมือนขององค์พระโพธิสัตว์กวนอิมในวันตรุษจีนของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นงานประจำปี ของเขาเจ้าแม่กวนอิม วัดหนองหอย พระอารามหลวง โดยจัดให้มีงาน 7 วัน 7 คืน ในระหว่างงานจะมีการแจกวัตถุมงคล อั่งเปาขวัญถุง มีอาหารมังสะวิรัติให้รับประทานฟรีทุกวัน

นอกจากเทศกาลตรุษจีนแล้ว งานพิธีที่สาธุชนทั่วไปทราบกันดีและจะมานมัสการบูชาเป็นจำนวนมาก ได้แก่

วันคล้ายวันประสูติ ขององค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งตรงกับวันที่ 19 เดือน 2 ตามปฏิทินจีนของทุกปี

วันคล้ายวันสำเร็จมรรคผล ขององค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งตรงกับวันที่ 19 เดือน 6 ตามปฏิทินจีน ของทุกปี

วันคล้ายวันออกบวช ขององค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งตรงกับวันที่ 19 เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี

  • ในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 13 14 เมษายน ของทุกปี
  • วันคล้ายวันเกิด พระเดชพระคุณ พระราชวัลภาจารย์ ซึ่งตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม ของทุกปี
  • ในเทศกาลกินเจ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เดือน 9 ถึงวันที่ 10 เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี รวมเวลากินเจ 10 วันในแต่ละปี
  • นอกจากงานพิธีที่จัดขึ้นแล้ว ในวันเทศกาลงานบุญอื่น ๆ หรือวันหยุดต่าง ๆ ก็จะมีสาธุชนมากราบไหว้ สักการะเป็นจำนวนมาก

ซึ่งผู้ที่มาสักการบูชา ต่างก็มีความเชื่อความศรัทธา ต่อองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ว่า หากได้มา กราบไหว้สักการบูชาแล้ว จะพบแต่ความสุขความเจริญ หากขอพรสิ่งใด ก็มักได้สมดังตั้งใจ หากท่านใด มีความทุกข์ หรือข้อกังขา ก็จะมาทำบุญไหว้พระ และเสี่ยงเซียมซีถามความ ซึ่งผลที่ได้ออกมา ก็มักจะตรงตามที่ตนตั้งข้อคำถามต่อองค์ท่าน แต่ก็มีในบางรายที่มาเพื่อขอโชคลาภ ซึ่งก็ได้สมดังตั้งใจเช่นกัน

การเดินทางมาวัดหนองหอย[แก้]

ไปนมัสการสักการบูชา พระโพธิสัตว์กวนอิม ณ เขาพระโพธิสัตว์กวนอิม วัดหนองหอยนั้นปัจจุบันนี้ เดินทางไปได้โดยสะดวก เนื่องจากเป็นถนนลาดยางตลอด เส้นทางสายเขางู – บ้านโป่ง ห่างจากตัวเมืองราชบุรี ประมาณ 12 กิโลเมตร ก่อนถึงจะเห็นวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม อยู่บนยอดเขาอย่างโดดเด่น ที่จอดรถกว้างขวาง มีห้องน้ำสะอาดเพียงพอ วิวทิวทัศน์โดยรอบสวยงามเป็นธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์สดชื่น ปัจจุบันนี้ใครที่เดินทางมาจังหวัดราชบุรี ต่างก็จะแวะเวียนมาสักการบูชา และขอพรองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ณ เขาพระโพธิสัตว์กวนอิม วัดหนองหอย พระอารามหลวงนี้ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนและครอบครัว ซึ่งต่างก็ได้รับความสุข เบิกบานใจ ในกุศลที่ได้ทำโดยทั่วกัน