วัดสิงขรวราราม
วัดสิงขรวราราม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดสิงขรวราราม, วัดสิงขร, วัดไทยสิงขร |
ที่ตั้ง | บ้านสิงขร อำเภอตะนาวศรี จังหวัดมะริด ภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า |
ประเภท | วัดไทย |
เจ้าอาวาส | หลวงพ่อสงวน |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดสิงขรวราราม หรือ วัดไทยสิงขร เป็นวัดไทย ตั้งอยู่ในบ้านสิงขร อำเภอตะนาวศรี จังหวัดมะริด ภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า จากข้อมูล พ.ศ. 2563 มีเจ้าอาวาส คือ หลวงพ่อสงวน มีพระ 7 รูป เป็นพระเชื่อสายไทยสิงขร 6 รูป เป็นเชื้อสายกะเหรี่ยง จำนวน 1 รูป วัดยังเปิดสอนโรงเรียนภาษาไทย อย่างไรก็ดีวัดสิงขรวรารามมิได้ขึ้นอยู่กับมหาเถรสมาคมเช่นวัดไทยในต่างแดน อย่างในอินเดียหรือมาเลเซีย[1]
วัดสิงขรวราราม ได้ย้ายที่ตั้งวัดมาแล้ว 2 ครั้ง แห่งแรกเป็นวัดสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองสิงขรเก่า มีแม่น้ำสิงขรไหลผ่าน ตั้งอยู่ตรงนี้นานราว 200 ปี[2] แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ในส่วนท้ายหมู่บ้าน และแห่งที่ 3 เป็นที่ตั้งปัจจุบัน ย้ายมาตั้งอยู่ริมถนนเนื่องจากเป็นนโยบายรัฐบาลด้านความมั่นคง วัดสิงขรวรารามเป็นศูนย์กลางของชาวไทยสิงขร พิธีกรรมการบวชไม่แตกต่างจากวัดไทย คือ ผู้บวชต้องอาศัยอยู่ทีวัดก่อน 15 วัน เพื่อท่องบทสวดมนต์และคำอาราธนาศีล ซึ่งหนังสือมนต์พิธีใช้ภาษาไทย ชาวพม่าไม่นิยมมาบวชวัดนี้เพราะมีวัตรปฏิบัติแบบไทย เน้นตำราพุทธมนต์พิธีแบบไทย ซึ่งพระพม่าจะเน้นการท่องพระไตรปิฎกมากกว่า ส่วนการทอดกฐินในหมู่บ้านสิงขรจะทำที่วัดสิงขรวรารามเท่านั้น และยังมีประเพณีวันสารทเดือนสิบ[3]
ปูชนียวัตถุทีสำคัญในวัด คือ พระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยาตอนต้น ศิลปะอู่ทองสาม คือ มีลักษณะแบบอู่ทองผสมกับสุโขทัย พระพุทธรูปองค์นี้มีประวัติว่าเดิมอยู่ในเจดีย์ที่ตัวเมืองตะนาวศรี และมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงนำไปจากแม่น้ำบริเวณวัด ยังมีพระพุทธรูปไม้แกะฝีมือช่างพื้นบ้านเป็นจำนวนมาก มีสมุดข่อย ใบลาน ภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งบันทึกความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คาถาอาคม โหราศาสตร์ ยา วรรณคดี และวรรณกรรม ต่าง ๆ เช่น พระรถเมรี พระอภัยมณี กฎหมายตราสามดวง มีเล่มหนึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้คำสัตย์สาบานของคู่กรณี[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "การก้าวพ้น "แค้น" ของพระสงกรานต์ และความว้าเหว่ของวัดไทยพลัดถิ่น". สำนักข่าวชายขอบ.
- ↑ "แกะรอยเส้นทางการค้าโบราณ 'สิงขร-ตะนาวศรี-มะริด'". มติชน.
- ↑ "การปรับเปลี่ยนและการธำรงอัตลักษณ์ ทางวัฒนธรรมของคนไทยพลัดถิ่น หมู่บ้านสิงขร ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า". วารสารพัฒนศาสตร์.
- ↑ กาญจนา บุญส่ง. "ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนสยามในสิงขร – ตะนาวศรี". ศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.