วัดศรัทธาธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดศรัทธาธรรม
ไฟล์:Montemple.jpg
อุโบสถวัดศรัทธาธรรม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดศรัทธาธรรม
ที่ตั้งตั้งอยู่เลขที่ 247 หมู่ 1 บางจะเกร็ง เมืองสมุทรสงคราม สมุทรสงคราม 75000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท
พระพุทธรูปสำคัญอุโบสถไม้สักทองฝังมุก
เจ้าอาวาสพระครูพิพิธพิพัฒนโกศล (อาจารย์หลี)
กิจกรรมศาสนสถานในพระพุทธศาสนาที่มีกิจกรรมเชิงพุทธตลอดปี/ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดศรัทธาธรรม สังกัดมหานิกาย คณะสงฆ์ภาค 15 ตั้งอยู่บ้านรามัญตะวันตก เลขที่ 247 หมู่ 1 ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม รหัสไปรษณีย์ 75000 ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2426 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2536 มีเนื้อที่ 18 ไร่

ประวัติ[แก้]

วัดศรัทธาธรรม หรือวัดมอญ สร้าง ปี พ.ศ. 2341 วัดศรัทธาธรรมหรือ “วัดมอญ” มีความเป็นอยู่ร่วมกับชุมชนชาวมอญความเป็นมาของชาวมอญที่มาอยู่ ณ ตำบลบางจะเกร็ง

จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านมอญจึงทราบว่า ชาวมอญที่มาอยู่ ตำบลบางจะเกร็งนี้ อพยพมาจากพม่าช่วงเกิดสงครามในประเทศพม่า การอพยพของชาวมอญที่มา ตั้งหลักปักฐานตำบลบางจะเกร็ง มีอยู่ประมาณ 10 ครอบครัว ได้อาศัยที่ว่างเปล่าของทางราชการตั้งบ้านเรือนประกอบอาชีพประมง ตัดจากและ ทำสวนมะพร้าว ชาวมอญได้อาศัยที่ราชการ อยู่มาทางราชการต้องการพื้นที่ชาวมอญตั้งบ้านเรือน ชาวมอญก็ไม่ยอมในการที่ราชการขับไล่ จึงได้มีการฟ้องร้องเป็นคดีความกันขึ้น เมื่อคดีการขับไล่มาถึงศาล ศาลได้พิจารณาข้อต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นจนกระทั่งศาลได้พิจารณาให้ชาวมอญที่อาศัยที่ราชการเป็นผู้ชนะความ ทางศาลให้ที่ดินแบ่งแยกที่ดินเฉลี่ยกันตามครอบครัวชาวมอญที่อาศัยอยู่ในขณะนั้น และได้กันที่ดินไว้จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างวัดต่อไป

วัดศรัทธาธรรมสมัยนั้นยังไม่มีชื่อ จึงใช้ที่ชาวมอญอาศัยอยู่จึงเรียกว่าวัดมอญ เมื่อมีที่ดินที่ทางราชการแบ่งไว้ปลูกสร้างวัดชาวมอญที่อาศัยอยู่ที่ร่วมแรงร่วมใจได้ปลูกสร้างศาลาหลังเล็กๆ ประมาณ 2-3หลังเพื่อใช้ในการทำบุญทำกุศล ศาลาที่สร้างในสมัยนั้นอยู่ทางปากอ่าวหรือปากแม่น้ำแม่กลอง เมื่อมีศาลาได้มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ปีละ 3-4 รูป ไม่มีพระจะปกครองสงฆ์ ที่จำพรรษา

ชาวมอญที่อาศัยอยู่ได้เดินทางไปอาราธนาพระผู้ใหญ่อาวุโสมาจาก วัดบางลำพู อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีชื่อว่า “อาจารย์ม่อง” มาปกครองดูแลสงฆ์ในขณะนั้น ถือว่าอาจารย์ ม่องเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกที่ปกครองสงฆ์ เมื่อท่านได้มาอยู่ที่วัดก็เริ่มพัฒนาวัดโดยการสร้างอุโบสถของท่านอาจารย์ม่อง นี้แปลกคือสร้างเป็นแพลอยน้ำได้ เวลาสงฆ์จะทำพิธีกรรมต้องถอยแพออกไปนอกแม่น้ำที่มีน้ำเดินหรือน้ำไหล เวลาเสร็จพิธีก็ดึงแพกลับเข้ามา ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดมอญในขณะนั้นเป็นเวลานานเท่าใดไม่มีหลักฐาน ต่อมาท่านอายุมากร่างกายชราภาพลงทางญาติของท่านจึงนำท่านกลับภูมิลำเนา คือ วัดบางลำพู อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

เมื่อท่านอาจารย์ม่องได้กลับบ้านเกิดแล้ว ทางสงฆ์และชาวบ้านได้เดินทางไปอาราธนาพระผู้ใหญ่อาวุโส วัดใหญ่นครชุมม์ จังหวัดราชบุรี มาดูแลวัดและสงฆ์ ท่านมีชื่อว่า “อาจารย์เจีย” ท่านอาจารย์เจียได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนานเท่าใดไม่ปรากฏ ต่อมาท่านก็กลับวัดของท่าน คือวัดใหญ่นครชุมม์

เมื่อท่านอาจารย์เจียกลับวัดได้มีอาจารย์สั้น จากวัดตาผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้เดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่วัดมอญ ในขณะที่ท่านอาศัยและจำพรรษาอยู่ที่วัดท่านอาจารย์มีความคิดที่จะสร้างอุโบสถ ท่านจึงทำเรื่องการสร้างอุโบสถ และขอพัทธสีมา มายังกรมการศาสนา เห็นความจำเป็นจึงอนุญาตให้ที่ดิน ในวัดเพื่อสร้างอุโบสถ เมื่อทางกรมศาสนาอนุญาตแล้วแต่การสร้างอุโบสถก็มีอุปสรรค เนื่องจากชาวบ้านในขณะนั้นไม่มีทุนทรัพย์ที่จะสร้าง ทำให้ที่ดินที่ได้รับอนุญาตจากกรมศาสนาจึงร้าง 2-3 ปี ต่อมาท่านอาจารย์สั้น ได้นำแพที่ลอยน้ำมาตั้งใน ที่ได้รับอนุญาตจากรมการศาสนา ท่านอาจารย์สั้นจำพรรษาที่วัดนี้นานเท่าใด ไม่มีหลักฐานและต่อมาท่านอาจารย์ก็กลับภูมิลำเนาเดิม วัดตาผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีของท่าน

ต่อมา ท่านอาจารย์ลิได้อุปสมบทเป็น พระที่วัดบางหญ้าแพรก ตำบล ท่าฉลอง จังหวัดสมุทรสาคร ไม่ปรากฏว่าอุปัชฌาย์ท่านชื่อใด ท่านอาจารย์ลิได้จำพรรษาที่ วัดบางหญ้าแพรก 1 พรรษา จึงได้ย้ายมาอยู่ที่วัดมอญ ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน ท่านอาจารย์ลิจำพรรษาอยู่ที่วัดมอญได้ 3 พรรษา ก็เป็นผู้ดูแลวัดต่อมาได้ 5 พรรษา ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสปกครองสงฆ์วัดมอญเรื่อยมา ท่านได้คิดสร้างอุโบสถ ไม้สัก ท่านได้ร่วมกับชาวบ้านในสมัยนั้น มีทั้งคนไทยและมอญ ได้สร้างอุโบสถไม้สักใช้เวลาสร้าง 2-3 ปีจึงแล้วเสร็จ อุโบสถที่สร้าง มีพระประธานเป็นปูนปั้น (ปัจจุบันคือหลวงปู่ขาวมหาสิทธิโชค) นอกจากนี้ทางผู้อุปถัมภ์ในการสร้างอุโบสถขณะนั้นได้สร้างพระบูชาขนาดเล็ก คล้ายกับพระประธาน เป็นทองคำหนัก 5 บาท เป็นพระคู่วัดมา (ปัจจุบันพระครูสมุทรวิสุทธิวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรัทธาธรรมได้ทูลเกล้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เมื่อครั้งพระองค์เสด็จมายังดอนหอยหลอด พร้อมเครื่องรางหมากทุย 108 ลูก) ทางวัดสร้างอุโบสถแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2482 จึงขออนุญาตตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดศรัทธาธรรม” จนถึงปัจจุบัน

เมื่อมีอุโบสถแล้วก็มีกุลบุตรเข้ามาบวชมากขึ้นประมาณปีละ 15 - 20 รูป ทำให้กุฎีที่จำพรรษามีไม่เพียงพอท่านอาจารย์ลิ จึงได้สร้างกุฎีเพิ่มขึ้น วัดได้รับการพัฒนาขึ้นมาทำให้ชุมชนมากขึ้นด้วย ท่านอาจารย์ลิได้เห็นความสำคัญในการเล่าเรียนของเด็ก ท่านได้ร่วมกับชาวบ้านและทางการได้จัดสร้าง โรงเรียนประชาบาล ขึ้นมี ชื่อว่า โรงเรียนวัดศรัทธาธรรมจนถึงปัจจุบัน นอกจากสร้างโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมและเตาอบในการพัฒนาของวัด ท่านอาจารย์ลิยังได้แรงจากพระครูใบฎีกาชุบในขณะนั้นซึ่งมีตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสร่วมพัฒนา ท่านอาจารย์ลิ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูศรัทธาสมุทรคุณ” ท่านได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2521

เมื่อท่านอาจารย์ลิได้มรณภาพลงทางประชาชนและคณะสงฆ์ ได้แต่งตั้งท่านอาจารย์ชุบ เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมาท่านอาจารย์ชุบ หรือทองชุบ นามเดิม เป็ดทอง ได้อุปสมบทที่วัดศรัทธาธรรม มีพระครูสุนทรนุศาสตร์ วัดปทุมคณาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสมุทรนวการ วัดปากสมุทร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูศรัทธาสมุทรคุณ วัดศรัทธาธรรม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านอาจารย์ชุบได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ก็ได้เริ่มพัฒนาวัด โดยย้ายวัดเดิมที่มีชุมชนเริ่มมากขึ้น เพราะถนนติดกับวัดมากเกินไป จึงได้ซื้อที่ดินด้านติดริมแม่น้ำแม่กลอง ท่านได้สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กมาตรฐานกันตลิ่งพัง

เพราะน้ำทะเล ถมดินในบริเวณวัดให้สูงขึ้นให้พ้นจากการน้ำทะเลท่วมถึง และท่านอาจารย์ชุบได้วางศิลาฤกษ์โดย พลเอกชำนาญ นิลวิเศษ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 เพื่อสร้างกุฎีสงฆ์แห่งใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น จำนวน 8 หลัง 48 ห้อง กุฎีเจ้าอาวาส 1 หลัง หอฉันสวดมนต์ 2 ชั้น 1 หลัง ศาลาการเปรียญ 1 หลัง จัดสร้างกำแพงวัดบริเวณ 2 ด้านมีประตูเข้าออก 4 ประตู การพัฒนาวัดนอกจากท่านอาจารย์ชุบแล้ว ยังได้รับแรงจากพระสงฆ์ในวัดที่เป็นหัวแรงในการสร้าง คือ พระครูธรรมธรธวัชชัย ญาณวีโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระคู่สวด และ พระปลัดวีระ กตสาโร พระคู่สวด ทางกรมการศาสนาได้เห็นความเจริญ ของวัด จึงได้ยกวัดศรัทธาธรรมให้เป็นวัด “พัฒนาตัวอย่าง” ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2532 ความเจริญของวัดได้พัฒนาตลอดมา ท่านอาจารย์ชุบได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูสมุทรวิสุทธิวงศ์”

ในปี พุทธศักราช 2535 วัดศรัทธาธรรมได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังรูปเรือสำเภา เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ว่าบางจะเกร็งอยู่ติดทะเล ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พุทธศักราช 2535 เวลา 11.09 นาฬิกา ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝังมุก เป็นภาพพุทธประวัติ ภาพพระประจำวันเกิด และภาพรามเกียรติ์จำนวน 54 ภาพ ปิดทองลายไทยที่เพดาลอุโบสถ พระประธานองค์เดิม คือ หลวงปู่ขาวมหาสิทธิโชค และองค์ใหม่ คือ พระพุทธชินราช หน้าตักกว้าง 61 นิ้ว ด้านหน้ามีพระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลมเป็นไม้ขนุนแกะสลักทั้งองค์ ด้านนอกฝาผนังฝังมุกลายไทยทั้งหลังพร้อมเสาระเบียงรอบอุโบสถ ด้านล่างปูด้วยอิฐบล็อก กำแพงประดับแก้วทำด้วยสแตนเลส 54 ช่อง ด้านข้างปูด้วยหินแกรนิตมีซุ้มประตู 4 ซุ้ม รอบอุโบสถ

วัดศรัทธาธรรมได้ดำเนินการฝังมุกทั้งด้านในและด้านนอกอุโบสถ เหตุผลที่ท่านอาจารย์ชุบ ใช้มุกประดับเพราะเห็นว่าวัดศรัทธาธรรมอยู่ติดทะเล การฝังมุกจะอยู่ทนและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวตำบลบางจะเกร็ง การฝังมุกเริ่มด้านในก่อนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2535 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

วัดศรัทธาธรรมได้มีพิธีปิดทองฝังลูกนิมิตในปี 2541

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

1.พระครูศรัทธาสมุทรคุณ (อาจารย์ลิ/มะลิ)

2.พระครูสมุทรวิสุทธิวงศ์ (อาจารย์ชุบ)

3.พระครูพิพิธพิพัฒนโกศล (อาจารย์หลี)

ศาสนาสถาน[แก้]

  • โบสถ์
  • วิหาร
  • เจดีย์
  • ศาลาการเปรียญ
  • กุฎิที่พักสงฆ์
  • เมรุ-ศาลาคู่เมรุ

อ้างอิง[แก้]

  • กรมการศาสนา, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่มที่ 7, โรงพิมพ์การศาสนา .พ.ศ. 2531 หน้า 101