วัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบ้านน้ำคำ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ), วัดสระเกตุ
ที่ตั้งตำบลน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ) เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ประวัติ[แก้]

วัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ) ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2236 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ไม่ทราบนามผู้สร้างและไม่มีประวัติเป็นที่แน่ชัด มีเรื่องเล่าว่า ชาวข่าละแดเป็นผู้สร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2469[1] เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร วิหารและอุโบสถ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เขต 8 อุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2545

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหาร (อาฮาม) และอุโบสถ (สิม) รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นอีสานที่สร้างขึ้นภายใต้อิทธิพลของศิลปะลาวและศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น

วิหาร (อาฮาม) แต่เดิมเป็นอุโบสถ ต่อมาได้ถอดถอนพัทธสีมาออก แล้วใช้เป็นวิหารโดยชาวบ้านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนตั้งอยู่คู่กันทางทิศเหนือ ขนาดของวิหารกว้าง 8.5 เมตร ยาว 9 เมตร หันหน้าทางทิศตะวันออก เป็นวิหารทึบ ฐานปัทม์ยกสูงแบบที่เรียกว่าฐานแอวขัน มีบันไดทางขึ้นทางด้านหน้า (ทิศตะวันออก) และบันไดสำหรับพระสงฆ์ทางด้านข้าง (ทิศใต้) ใกล้กับฐานชุกชีมีหน้าต่างบานเล็ก ๆ ที่ผนังด้านข้าง ด้านละ 1 บาน หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ดปัจจุบัน (พ.ศ. 2543) ชำรุดพัง ทางวัดจึงใช้สังกะสีมุงแทน หน้ามุขตกแต่งด้วยลายฮังผึ้ง (รวงผึ้ง) และไม้จำหลักลวดลายพรรณพฤกษา ภาพกลางเป็นภาพมาร (ราหู) อมจันทร์

อุโบสถ (สิม) ตั้งอยู่คู่กับวิหารสร้างขึ้นในภายหลังระหว่างปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 หรือต้นรัชกาลที่ 5[2] ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 10 เมตร เป็นสิมโปร่ง ฐานปัทม์ยกสูงแบบแอวขัน ด้านหน้าโล่ง ผนังด้านข้างและด้านหลังก่อด้วยอิฐ มีช่องหน้าต่างเล็ก ๆ ที่ผนังด้านข้างด้านละ 2 บ้าน หลังคาเดิมมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ปัจจุบัน (ข้อมูล พ.ศ. 2543) มีสภาพชำรุดเช่นเดียวกับวิหาร ทางวัดจึงใช้สังกะสีมุงคลุมอาคารเอาไว้ หน้ามุขสลักลวดลายเถาไม้ ลายพรรณพฤกษา และมาร (ราหู) อมจันทร์ ส่วนหน้าบันทำเป็นลายตาเวนหรือตะวัน สิมสร้างขึ้นภายหลังระหว่างปลายรัชกาลที่ 4 หรือต้นรัชกาลที่ 5[3]

วัดมีธาตุเก่า 2 องค์ตั้งอยู่ทางนอกกำแพงรั้ววัดด้านทิศเหนือ และตั้งอยู่ข้างวิหาร อาคารเสนาสนะอื่น ๆ ได้แก่ ศาลาการเปรียญ กว้าง 13 เมตร ยาว 28 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 กุฏิสงฆ์ 2 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง อาคารตึก 1 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2555 และศาลาบำเพ็ญกุศล กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2542[4]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระขันตรี พ.ศ. 2463–2465
  • พระปราโมทย์ พ.ศ. 2465–2479
  • พระวัน พ.ศ. 2480-2483
  • พระครูสุนทรสารกิจ พ.ศ. 2492–2529
  • พระกลม สุกฺกธมฺโม พ.ศ. 2533–2534
  • พระชัง อายุวฒฺโก พ.ศ. 2536–2543
  • พระครูประทีปพัฒนคุณ พ.ศ. 2543 –

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ)". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "สิมคู่ วัดสระเกตุ". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-20. สืบค้นเมื่อ 2022-12-20.
  3. กรมศิลปากร. "วัดสระเกตุ" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 20 ธันวาคม 2565. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
  4. "วัดบ้านน้ำคำ (สระเกตุ)".