วัดดอนตูม (จังหวัดราชบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดดอนตูม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดดอนตูม
ที่ตั้ง116-130 ถนนทรงพล ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี 70110
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท
เจ้าอาวาสพระครูวินัยธรสมพร จตฺตภโย
กิจกรรมศาสนสถานในพระพุทธศาสนาที่มีกิจกรรมเชิงพุทธตลอดปี/โรงเรียนวัดดอนตูม
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดดอนตูม เป็นวัดในพระพุทธศาสนา สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ตั้งมาประมาณ 227 ปี เป็นวัดที่มีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธในบริเวณตำบลบ้านโป่ง

ทางเข้าวัดดอนตูม

ประวัติ[แก้]

  • เดิมทีที่ตั้งวัดเป็นที่ดอนเป็นป่าดงพงไพร เป็นที่อาศัยของเหล่าฝูงสัตว์เช่น เก้ง กวาง เป็นต้น มีหนองน้ำล้อมรอบอยู่ 3 แห่ง คือ หนองตามี หนองหลุม หนองเย็น ฝูงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าดอนนี้ ก็ได้อาศัยน้ำในหนองทั้ง 3 นี้เป็นที่เล่นที่กิน พรานทั้งหลายที่ชอบเที่ยวล่าสัตว์ ก็จะมาล่าสัตว์อยู่ในป่าดอนนี้อยู่เสมอ สมัยนั้นอาวุธที่พรานทั้งหลายใช้ล่าสัตว์คือ “ปืนแก๊ป” เมื่อยิงสัตว์เสียงปืนก็จะดัง “ตูม ตูม” ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณถิ่นฐานนั้น มักจะได้ยินเสียงปืนของบรรดาพรานทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เพราะถือเอานิมิตของเสียงปืนที่ชาวบ้านได้ยิน จึงเรียกป่าดอนนี้ว่า “ดอนตูม” และเป็นที่มาของชื่อ “วัดดอนตูม” มาจนตราบเท่าปัจจุบันนี้
  • สมัยนั้นมีปืนอยู่ชนิดหนึ่ง สำหรับมีไว้ป้องกันตัว และล่าสัตว์ เรียกว่า ปืนแก๊ป เมื่อยิงไปแล้วดังตูม ๆ คล้าย ๆ พลุไทย ดังไม่เหมือนปืนสมัยปัจจุบัน คำว่า “ตูม ตูม” เป็นสำเนียงเสียงภาษาของคนในสมัยนั้น ในท้องถิ่นตำบลนั้น
  • วัดดอนตูมตั้งเมื่อ ได้สร้างวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2330 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2516 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร

เจ้าอาวาส[แก้]

วัดดอนตูม ในสมัยนั้นโบราณเล่าว่า บางปีมีพระจำพรรษาแต่ในฤดูฝน ในระยะต้นๆ นั้น ไม่ปรากฏเจ้าอาวาสเป็นที่แน่นอน มีมากี่รูปแล้ว ต่อมาในสมัยระยะกลางๆ มี เจ้าอาวาสที่ปรากฏชื่อ คือ

  • 1) พระภิกษุจันทร์ (ไม่ปรากฏประวัติ)
  • 2) พระภิกษุเบ้า (ไม่ปรากฏประวัติ)
  • 3) พระภิกษุสิน (ไม่ปรากฏประวัติ)
  • 4) พระภิกษุย้อย (ไม่ปรากฏประวัติ)
  • 5) พระภิกษุมืด (ไม่ปรากฏประวัติ)
  • 6) พระอธิการโลน (หลวงพ่อโลน) ท่านก็ได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะของวัดตามสมควรแก่กาลสมัย และได้สร้างเสริมเติมต่ออุโบสถที่ตกค้างมาสมัยเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ จนเป็นที่สำเร็จเรียบร้อย ต่อมาท่านคิดที่จะสร้างศาลาการเปรียญวัดดอนตูมขึ้น ท่านได้จัดหาอุปกรณ์การก่อสร้างไว้พอควร แต่ยังไม่ได้สร้าง ท่านก็มรณภาพไปตามอายุขัย
  • 7) พระครูปัญญาธิการ (เต่า โพธิสาโร) ได้รับรักษาการ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนตูม ต่อจากหลวงพ่อโลน ท่านได้โยกย้ายกุฎีสงฆ์ จัดสร้างขึ้นใหม่ และสร้างศาลาการเปรียญใหม่ กว้าง 16 เมตร ยาว 26 เมตร จนสำเร็จเรียบร้อย และได้จัดสร้างโรงเรียนขึ้น 1 หลัง สร้างปูชนียสถานพระพุทธฉายจำลอง สร้างกำแพงกั้นแขตวัด และท่านได้มรณภาพลง เมื่ออายุ 52 ปี (ปี พ.ศ. 2492)
  • 8) พระครูโสภณรัตนากร (เพิ่ม เขมกาโม) จากการศึกษาประวัติ ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยที่เรียบร้อย สุขุมเยือกเย็น รักความสะอาด รักความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีกำลังใจที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว จะทำสิ่งใดก็มุ่งทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ งานทุกครั้งที่จัดทำขึ้น มักเป็นงานใหญ่และแปลกเสมอ และไม่ซ้ำแบบใคร ด้วยเหตุที่ท่านมีอัธยาศัยตามที่กล่าวนี้ ทำให้ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระภิกษุสงฆ์ ประชาชน และทำให้งานด้านการบริหารการปกครองวัดงานคณะสงฆ์ ตลอดถึงงานที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยลุล่วงไปด้วยจนเป็นที่ไว้วางใจของพระเถรานุเถระตลอดมา และที่สุดงานด้านการปกครองท่านก็ได้ยุติลง ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2518 เวลา 14.00 น. รวมระยะเวลาการปกครอง 25 ปี
  • 9) พระครูอินทคุณาวสัย (ตัน องฺกุโร) ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดดอนตูม เมื่อ พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบัน

ศาสนาสถานในวัด[แก้]

พระครูอินทคุณาวสัย (หลวงพ่อตัน อังกุโร) ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อจากพระครูโสภณรัตนากร เมื่อ พ.ศ. 2518 มาจนถึงปัจจุบัน ผลงานด้านการสาธารณูปการของท่าน มีดังนี้

  • 1. นับตั้งแต่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ดำเนินการสร้างอุโบสถต่อจากพระครูโสภณรัตนากร จนเป็นที่แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2542
  • 2. ดำเนินการสร้างกุฎีโฆษิตสกุล กว้าง 8.50 เมตร ยาว 10 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น หลังคาทรงไทย มุงกระเบื้องสีเหลืองแก่ หน้าต่างกระจกใส ลูกกรงเหล็ก บันใดอยู่ในกุฎี ชั้นบนพื้นไม้แข็ง ชั้นล่างพื้นคอนกรีตหินขัด เป็นที่พำนักของเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2519
  • 3. ดำเนินการสร้างกุฎีศิริทวี กว้าง 8.70 เมตร ยาว 10 เมตร สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น หลังคาทรงไทย มุงกระเบื้องสีเหลืองแก่ หน้าต่างกระจกใส ลูกกรงเหล็ก บันใดอยู่ในกุฎี ชั้นบนพื้นไม้แข็ง ชั้นล่างพื้นคอนกรีตปูพื้นไม้แข็งลายขัด
  • 4. สร้างกุฎียิ้มนิธากรณ์ กว้าง 7.30 เมตร ยาว 18 เมตร สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2525 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น หลังคาทรงไทย มุงกระเบื้องสีเหลืองแก่ หน้าต่างไม้แบบสมัยใหม่ ปิดเปิดด้านนอก ลูกกรงเหล็ก ชั้นบนและชั้นล่าง พื้นคอนกรีตขัดมัน บันไดอยู่ในกุฎี ชั้นบนใช้เป็นที่พักสำหรับพระภิกษุสามเณร ชั้นล่างใช้เป็นหอฉัน และหอสวดมนต์
  • 5. สร้างกุฎีใหญ่-โสภณ กว้าง 8.70 เมตร ยาว 10.10 เมตร สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2523 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องรอนคู่สีเขียว หน้าต่างไม้แบบสมัยใหม่ ปิดเปิดด้านนอก ลูกกรงเหล็ก บันไดอยู่ในกุฎี ชั้นบนเป็นพื้นไม้แข็ง ชั้นล่างพื้นคอนกรีตขัดมัน
  • 6. หอระฆัง กว้าง 5.30 เมตร ยาว 5.30 เมตร สร้างเสร็จเมื่อพ.ศ. 2528
  • 7. สร้างประปา กว้าง 3.50 เมตร ยาว 3.50 เมตร สูง 10.50 เมตร สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2524 อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ชั้นบนเป็นถังประปา ทรงกลม จุน้ำประมาณ 15 ลูกบาตเมตร หรือประมาณ 19,995 ลิตร ชั้นล่างใช้เป็นห้องไว้ปั๊มน้ำ สำหรับฉุดน้ำขึ้นถัง
  • 8. พ.ศ. 2533 บูรณซ่อมแซมครัวคู่เมรุ และทำกำแพงกั้นเขตวัดด้านทิศเหนือ
  • 9. พ.ศ. 2534 ดำเนินการสร้างกุฎีสงฆ์ เป็นตึก 2 ชั้น ลักษณะทรงไทย หลังคากระเบื้องเคลือบกาบกล้วยสีแดง กว้าง 7 เมตร ยาว 9.50 เมตร และสร้างกำแพงกั้นเขตวัดด้านทิศตะวันตก ลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก
  • 10. พ.ศ. 2535 สร้างเสริมเติมต่อเขาพระพุทธฉายจำลอง ลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก
  • 11. พ.ศ. 2537 สร้างห้องน้ำ ลักษณะก่ออิฐถือปูน หลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 4 ห้อง
  • 12. พ.ศ. 2538 ก่อสร้างกุฏีพุทธศาสน์ ลักษณะตึก หลังคาทรงไทย 2 ชั้น ชั้นล่างใช้เป็นห้องเรียนปริยัติธรรม ชั้นบนเป็นที่พักสงฆ์ จำนวน 14 ห้องหลังคากระเบื้องเคลือบสีแดง กว้าง 21 เมตร ยาว 35 เมตร
  • 13. พ.ศ. 2539 ซ่อมเตาเผาศพ, เทคอนกรีตพื้นถนนหน้าศาลาการเปรียญ, ซ่อมแซมและทาสีมณฑป
  • 14. พ.ศ. 2540 สร้างกุฏีสงฆ์ ลักษณะอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น หลังคาทรงไทย กว้าง 7 เมตร ยาว 10 เมตร
  • 14. พ.ศ. 2541 สร้างหอกลอง อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น หลังคาทรงไทย กว้าง 5.30 เมตร ยาว 8 เมตร
  • 16. พ.ศ. 2542 สร้างโรงพิพิธภัณฑ์ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงไทยปั้นหยา กว้าง 8 เมตร ยาว 17 เมตร

กิจกรรมในวัด[แก้]

กิจกรรมที่โดดเด่นของวัดดอนตูมนั้น กิจกรรมหลัก ๆ มีดังนี้
1. การสอนการบรรยายธรรม แก่เด็กนักเรียน ทั้งโรงเรียนในวัดและนอกวัด และประชาชนเนื่องในโอกาสบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ
2. การจัดงานปิดทองพระพุทธฉายประจำปี ซึ่งตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน 3 ของทุกปี มีประชาชนทั้งในและนอกอำเภอ มาสักการบูชา และเที่ยวงานเป็นจำนวนมาก เฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา ประชาชนจะมาทำพิธีเวียนเทียนรอบองค์ พระพุทธฉาย มากเป็นพิเศษ
3. การจัดงานเทศน์มหาชาติ พระเวสสันดรชาดก ในเทศกาลวันออกพรรษา เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามไว้
4. การจัดงานประเพณีเทศกาลวันสงกรานต์ ทางวัดได้ร่วมกับเทศบาลเมืองบ้านโป่ง จัดงานวันสงกรานต์ ในวันที่ 13-15 เดือนเมษายน ของทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน มีการจัดขบวนอัญเชิญพระพุทธสิหิงส์ จากวัดดอนตูม ไปรอบตลอด เพื่อให้ประชาชนได้บูชาสักการะ, การสรงน้ำพระ, การรดน้ำดำหัว, และจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น
5. การจัดบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน วัดดอนตูม ได้จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดเอาวันที่ 1-30 เดือนเมษายน รวมระยะเวลาของโครงการ 1 เดือน มีผู้ปกครองพาบุตรหลานของตนมาสมัครบรรพชา เฉลี่ยปีละ 100 คน
6.การจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันสำคัญทางศาสนาเวียนมาถึง คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญดังกล่าวขึ้น เช่น จัดให้ประชาชนถือศีล ทำบุญใส่บาตร ฟังธรรม รวมถึงปฏิบัติธรรม ทำพิธีเวียนเทียน และเลิกละอบายมุขต่างๆ

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°48′57″N 97°52′53″E / 13.815896°N 97.881313°E / 13.815896; 97.881313