วัดขันเงิน
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คุณสามารถพัฒนาบทความนี้ได้โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงตามสมควร เนื้อหาที่ขาดแหล่งอ้างอิงอาจถูกลบออก |
วัดขันเงิน | |
---|---|
![]() | |
![]() | |
ชื่อสามัญ | วัดขันเงิน พระอารามหลวง |
ที่ตั้ง | เลขที่ 3 ซอย 4 ถนนหลังสวน ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร 86110 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธชินราชจำลอง |
พระพุทธรูปสำคัญ | หลวงพ่ออินทร์ |
เจ้าอาวาส | พระธรรมโกศาจารย์ (องอาจ ฐิตธมฺโม) |
กิจกรรม | เทศนาธรรม ทุกวันธัมมัสสวนะ |
![]() |
วัดขันเงิน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ[1] เป็นวัดเก่าแก่มีอายุมากกว่า 300 ปี อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค 16 ตั้งอยู่กลางชุมชนตลาดหลังสวน ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เป็นที่สถิตของเจ้าคณะจังหวัดชุมพรติดต่อกันถึง 3 รูป นับตั้งแต่ พระเทพวงศาจารย์ (จันทร์ โกสโล) พระราชญาณกวี (บุญชวน เขมาภิรโต) และพระธรรมโกศาจารย์ (องอาจ ฐิตธมฺโม)
ประวัติ[แก้]
วัดขันเงิน เดิมเป็นวัดราษฎร์ ในหนังสือ “ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร” ระบุว่า วัดขันเงินสร้างเมื่อ พ.ศ. 2369 แต่เมื่อสืบค้นจากกรมการศาสนา จึงทราบว่าวัดขันเงินสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2240 ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม (สมเด็จพระเพทราชา) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2531 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา[2]ครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2499
พระอุโบสถ[แก้]
พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบจตุรมุข สร้างเมื่อ พ.ศ. 2495
พระประธานพระอุโบสถ จำลองจากพระพุทธชินราช พระเพลา 3 ศอกเศษ เททองหล่อเมื่อ พ.ศ. 2498
จิตรกรรมในพระอุโบสถ เป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบประยุกต์ แนวปริศนาธรรม จากภาพพุทธประวัติหินสลัก นิทานชาดก โคลงโลกนิติ และพุทธภาษิต วาดโดยนายชัยวัฒน์ วรรณานนท์ เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2544 เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2551 ใช้เวลาทั้งสิ้น 7 ปี
พระวิหารเล็ก[แก้]
พระวิหารหลังเดิม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 ต่อมาชำรุดทรุดโทรม จึงได้รื้อสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2558
พระประธานพระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ นามว่า หลวงพ่ออินทร์ เป็นพระพุทธรูปผีมือช่างท้องถิ่น มีอายุมากกว่า 100 ปี ก่ออิฐโบกด้วยปูนขาว (ทำจากเปลือกหอยทะเลเผาไฟตำละเอียด ผสมกับน้ำอ้อยเคี่ยว) แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานเป็นประธานอยู่ในอุโบสถหลังเก่า เมื่อรื้ออุโบสถหลังเก่าแล้ว จึงย้ายมาประดิษฐานที่พระวิหารเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถหลังปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2539
ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]
นับแต่สร้างวัดมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดขันเงินมีเจ้าอาวาสสืบต่อมาหลายรูป แต่ไม่สามารถสืบทราบได้ เท่าที่สืบทราบได้มีลำดับดังนี้
ลำดับที่ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
1 | พระอาจารย์อุ | ? | ? |
2 | พระอาจารย์อินทร์ | ? | ? |
3 | พระอาจารย์ชัย | ? | ? |
4 | พระอาจารย์หนู | ? | 2445 |
5 | พระเทพวงศาจารย์ (จันทร์ โกสโล) | 2447 | 2506 |
6 | พระราชญาณกวี (บุญชวน เขมาภิรโต) | 2508 | 2531 |
7 | พระธรรมโกศาจารย์ (องอาจ ฐิตธมฺโม) | 2532 | ปัจจุบัน |
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ , เล่ม 115, ตอนที่ 26 , 16 กุมภาพันธ์ 2531, หน้า 1107
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศ พระราชทานวิสุงคามสีมา, เล่ม 73, ตอนที่ 15 , 14 กุมภาพันธ์ 2499, หน้า 93