ลูกบาศก์มรณะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลูกบาศก์มรณะ
ปกดีวีดี
กำกับVincenzo Natali
เขียนบทAndré Bijelic
Graeme Manson
Vincenzo Natali
อำนวยการสร้างMehra Meh
นักแสดงนำNicole de Boer
Nicky Guadagni
David Hewlett
Andrew Miller
กำกับภาพDerek Rogers
ตัดต่อJohn Sanders
ดนตรีประกอบMark Korven
ผู้จัดจำหน่ายCineplex-Odeon Films
วันฉายแคนาดา 9 กันยายน พ.ศ. 2540
ความยาว90 นาที
ประเทศแคนาดา
ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส
ทุนสร้างCAD 365,000
ต่อจากนี้ลูกบาศก์มรณะ 2
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ลูกบาศก์มรณะ (Cube) เป็นภาพยนตร์แนวไซไฟสยองขวัญ และเป็นไตรภาคที่ 1 ของภาพยนตร์ชุด ลูกบาศก์มรณะ กำกับการแสดงโดย วินเซนโซ นาตาลี (Vincenzo Natali) ออกฉายครั้งแรกในประเทศแคนาดาเมื่อ 9 กันยายน พ.ศ. 2540 ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ คะเนเดียนฟิล์มเซนเตอร์ (Canadian Film Centre) สร้างขึ้นด้วยงบประมาณที่ไม่มากนักแต่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

เนื้อเรื่องย่อ[แก้]

เนื้อเรื่องเริ่มจาก "แอลเดอร์สัน" ตื่นขึ้นมาในสถานที่แปลกประหลาด เป็นห้องทรงลูกบาศก์ซึ่งมีประตูทั้งหกด้าน (ผนัง เพดาน และพื้น) เมื่อเขาลองเปิดประตูออกไปก็พบกับห้องที่คล้ายกันนี้อีก เมื่อเขาเดินเข้าไปก็พบกับกับดักในห้องนั้นที่ฟันร่างของเขาขาด

จากนั้น บุคคลกลุ่มหนึ่งได้เดินทางผ่านห้องต่าง ๆ มาพบกันในอีกห้องหนึ่ง ประกอบด้วย "เควนทิน", "เวิร์ท", "ฮอลโลเวย์", "เรนส์", และ "ลีเวน" พวกเขาทั้งหมดไม่มีใครรู้ว่ามาอยู่ที่แห่งนี้ได้อย่างไร แต่พวกเขารับรู้ว่าสถานที่แห่งนี้ได้กักขังพวกเขาเหมือนคุก และบางห้องมีกับดักรูปแบบต่าง ๆ อาทิใบมีด ลวด ลูกธนู น้ำกรด หนาม ไมโครเวฟ ฯ ลฯ พวกเขาจึงตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อหาทางออกจากสถานที่แห่งนี้ และตรวจสอบห้องกับดักโดยการโยนรองเท้าเข้าไปแล้วดึงกลับมา

ลีเวน ผู้ซึ่งมีความสามารถพิเศษในด้านคณิตศาสตร์ พบว่าห้องต่าง ๆ มีชุดตัวเลขเก้าหลักสลักไว้ที่ทางเชื่อมระหว่างห้องซึ่งไม่เหมือนกัน และพบว่าหนึ่งห้องซึ่งมีกับดักมีตัวเลขเป็นจำนวนเฉพาะ เธอจึงอนุมานว่าห้องที่มีเลขเป็นจำนวนเฉพาะจะต้องเป็นห้องกับดัก และเมื่อเควนทินพยายามจะเปิดประตูที่อยู่บนเพดาน "คาซาน" คนที่เจ็ดก็ตกลงมา เขามีลักษณะเป็นผู้พิการทางสมองหรือออทิสติก และภายหลังดูเหมือนเป็นภาระให้แก่พวกเขาทุกคน

เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาเดินทางกลับมายังห้องเดิมและได้รับรู้ว่าห้องต่าง ๆ สามารถเคลื่อนที่ได้ ความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันของพวกเขาทำให้เกิดการแบ่งกลุ่ม เกิดความเครียดและความขัดแย้ง บางคนแยกตัวออกไปโดยไม่ฟังคนอื่นทำให้เจอห้องกับดักและเสียชีวิต ซึ่งห้องที่มีกับดักนั้นไม่ใช่จำนวนเฉพาะ ทฤษฎีของลีเวนจึงผิด ลีเวนจึงคิดหาวิธีใหม่และพบว่าตัวเลขเหล่านั้นเป็นกำลังของจำนวนเฉพาะ (จำนวนเฉพาะหลายตัวคูณกัน) พวกเขาจึงมีสิ่งใหม่ที่ต้องทำคือการแยกตัวประกอบของเลขสามหลัก 3 จำนวน ต่อมาพวกเขาได้สังเกตเห็นพฤติกรรมของคาซานว่าสามารถแยกตัวประกอบได้อย่างง่ายดาย คาซานสามารถบอกได้ว่าห้องไหนเป็นจำนวนเฉพาะแท้ได้เร็วพอ ๆ กับที่ลีเวนพูด

พวกเขาเดินไปจนถึงห้องที่อยู่ริมสุดและลองเปิดประตู พบว่าเป็นเหวลึกในความมืดและมี "ช่องทางออก" อยู่ฝั่งตรงข้ามแต่ไกลเกินกว่าจะข้ามไปได้ ชั่วครู่ก็มี "ห้องสะพาน" เคลื่อนที่มาแทนช่องว่างดังกล่าว พวกเขารู้ว่าห้องสะพานจะคงอยู่ในเวลาไม่นาน พวกเขา (ยกเว้นคาซาน) โต้เถียงกันและเกิดการสังหารกันขึ้น ลีเวนเสียชีวิต คาซานได้ลอดทางออกออกไปเป็นคนแรก เควนทินที่กำลังจะออกตามไปก็ถูกเวิร์ทดึงขาไว้อยู่ตรงช่องทางเชื่อม สักครู่ห้องสะพานเริ่มเคลื่อนที่ตัดร่างของเควนทินเสียชีวิต และห้องสะพานเคลื่อนที่กลับลงไปด้านล่างในเหวลึก เหลือเวิร์ทอยู่ในสถานที่แห่งนั้นอยู่คนเดียว

คาซาน (ผู้เป็นออทิสติก) เท่านั้นที่ได้รอดชีวิตจากห้องทรงลูกบาศก์ คาซานเดินเข้าสู่แสงสว่างสีขาวและจบเรื่อง ซึ่งแสงสว่างนั้นเพื่อจุดประสงค์ในการเปิดเผยเรื่องทั้งหมดในกำเนิดลูกบาศก์มรณะ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นความคิดเริ่มแรกของนาตาลีผู้เขียนบทก็ตาม

นักแสดง[แก้]

ชื่อตัวละครแต่ละตัวเป็นการดัดแปลงชื่อทัณฑสถานหลายแห่งจากประเทศต่าง ๆ[1] สามารถสรุปได้ดังนี้

ชื่อตัวละคร อาชีพ/ลักษณะ เพศ ทัณฑสถาน นักแสดง
คาซาน
(Kazan)
อัจฉริยะแต่เป็นออทิสติก ชาย Kazan Prison
(รัสเซีย)
แอนดรูว์ มิลเลอร์
(Andrew Miller)
เดวิด เวิร์ท
(David Worth)
สถาปนิกผู้ออกแบบสถานที่นี้ ชาย Leavenworth Prison
(สหรัฐอเมริกา)
เดวิด ฮิวเลตต์
(David Hewlett)
เควนทิน
(Quentin)
ตำรวจ ชาย San Quentin State Prison
(สหรัฐอเมริกา)
มอไรซ์ ดีน วินต์
(Maurice Dean Wint)
ลีเวน
(Leaven)
นักเรียนคณิตศาสตร์ หญิง Leavenworth Prison
(สหรัฐอเมริกา)
นิโคล เดอ เบอร์
(Nicole de Boer)
ดร.เฮเลน ฮอลโลเวย์
(Dr.Helen Holloway)
แพทย์คลินิกเอกชน หญิง Holloway Womens Prison
(สหราชอาณาจักร)
นิกกี กัวดานี
(Nicky Guadagni)
เรนส์
(Rennes)
ผู้เชี่ยวชาญด้านการหลบหนี ชาย Rennes Prison
(ฝรั่งเศส)
เวย์น ร็อบสัน
(Wayne Robson)
แอลเดอสัน
(Alderson)
ไม่ทราบ ชาย Alderson Federal Prison Camp
(สหรัฐอเมริกา)
จูเลียน ริชชิงส์
(Julian Richings)

ห้องกับดัก[แก้]

ห้องกับดักที่ปรากฏในภาพยนตร์มีไม่มากนัก สามารถแจกแจงได้ดังนี้

  • กับดักตาข่ายเส้นลวด ผู้ที่เข้ามาจะถูกตาข่ายเคลื่อนที่เข้าหาอย่างรวดเร็วและตัดร่างเหยื่อเป็นชิ้น ๆ มันสามารถพับเก็บได้ด้วยตัวเอง ปรากฏเป็นอันแรกตอนเริ่มเรื่อง
  • กับดักพ่นไฟ กับดักในห้องนี้จะพ่นไฟออกมาจากผนังใส่สิ่งที่เคลื่อนไหว พบเมื่อคนหนึ่งโยนรองเท้าเข้าไปและรองเท้าก็โดนไฟเผากลางอากาศ
  • กับดักพ่นกรด ไม่ได้ตรวจจับการเคลื่อนไหวเหมือนกับดักพ่นไฟ เนื่องจากไม่มีผลกับรองเท้า แต่เป็นไปได้ที่ตรวจจับที่น้ำหนัก เพราะเรนส์ถูกสังหารในห้องนี้เมื่อเขาเหยียบถึงพื้น
  • กับดักหนาม กับดักนี้ตรวจจับด้วยเสียง ยกเว้นเสียงของการเปิดประตูทางเชื่อม หนามแหลมที่เป็นเหล็กทั่วทั้งห้องจะโผล่ออกมาแทงเหยื่อหากส่งเสียงหรือทำให้เกิดเสียง พวกเขาทั้งหมดจำเป็นต้องผ่านห้องนี้ (ด้วยความเงียบ) เนื่องจากไม่มีห้องอื่นให้เดินทางต่อไป และทุกคนสามารถผ่านออกมาได้อย่างปลอดภัย
  • กับดักเกลียวเส้นลวด ผู้ที่เข้าไปจะถูกเส้นลวดล้อมรอบตัวคล้ายซี่ของกรง และเส้นลวดเหล่านั้นบิดเป็นเกลียวเข้าหาเหยื่อและตัดร่างเป็นชิ้น กับดักชนิดนี้เควนทินเรียกมันว่า "กับดักซูชิ"
  • กับดับที่ไม่ทราบ เป็นห้องที่ทดสอบด้วยการโยนรองเท้าแล้วไม่เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ แต่พวกเขาก็ไม่เข้าไปเนื่องจากเรนส์ได้กลิ่นของไฮโดรเจนซัลไฟด์ในห้องนั้น
  • การเคลื่อนที่ของห้อง อาจจัดได้ว่าเป็นกับดัก เนื่องจากผู้ที่เดินทางผ่านทางเชื่อมไม่ทันในขณะที่ห้องกำลังจะเคลื่อนที่ ร่างของเขาจะถูกเฉือนออกและเสียชีวิต เควนทินคือผู้ที่เสียชีวิตตรงช่องทางออก

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]