ระบบคุณธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ระบบคุณธรรม (อังกฤษ : Merit system) สามารถเรียกได้หลายอย่าง เช่น ระบบคุณวุฒิ ระบบความรู้ความสามารถ ระบบความดีหรือระบบความดีความสามารถ หมายถึง “เป็นวิธีการเลือกรับบุคคลเข้าทำงาน เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามต้องการ วัดโดยใช้การสอบเพื่อประเมินความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นสำคัญ”[1] ระบบคุณธรรมเป็นระบบที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการขจัดข้อบกพร่องของระบบอุปถัมภ์ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันมาแต่เดิม

ประวัติ[แก้]

การใช้ระบบคุณธรรมในอดีตนั้นนำไปใช้เฉพาะตอนเข้าทำงาน แต่ในปัจจุบันมีการนำระบบคุณธรรมเข้าไปใช้ในทุกขั้นตอน ในตอนแรกคำว่า “ระบบคุณธรรม” หมายถึง การแต่งตั้งจากการสอบ แต่ในปัจจุบันระบบคุณธรรมที่ใช้กันโดยทั่วไปไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การคัดเลือกเข้าทำงาน และยังได้หมายถึงขั้นตอนอื่นๆ รวมทั้งทุกขั้นตอนของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เช่น ความก้าวหน้าตามระบบคุณธรรม การจ่ายค่าตอบแทนตามลักษณะงานและคุณภาพของผลงาน และการจัดสภาพแวดล้อมของการทำงานที่พึงปรารถนา ดังนั้นระบบคุณธรรมในยุคใหม่จึงหมายถึง ระบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มีการนำคุณธรรมมาเปรียบเทียบหรือการยึดถือความสำเร็จจากการได้รับคัดเลือกและความก้าวหน้าในการทำงานของแต่ละคน และเงื่อนไขของการได้รับรางวัลที่เป็นไปตามความสามารถและระยะเวลาของการทำงาน[2]

จากเดิมที่ประเทศต่างๆ มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับราชการตลอดจนถึงการปกครองและการบริหารงานบุคคลที่อาศัยอำนาจและหลักธรรมของผู้มีอำนาจปกครองประกอบกับจารีตประเพณีเป็นหลักเกณฑ์ในการบังคับบัญชา ซึ่งผู้มีอำนาจปกครองแต่ละคนมีธรรมประจำใจและมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ทำให้การบริหารงานบุคคลของรัฐส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของการอุปถัมภ์ การถือพรรคพวก โดยไม่คำนึงถึงความรู้และความสามารถของบุคคลอาศัยเพียงแค่เหตุผลทางการเมือง ความไว้วางใจ และความพอใจเป็นเกณฑ์ เมื่อผู้มีอำนาจปกครองยึดแนวทางปฏิบัติดังกล่าว มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการพิจารณาคุ้มครองเท่าที่ควร[3]

ประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่มีการพัฒนาระบบคุณธรรมมาเริ่มใช้ในสมัยราชวงศ์น่านเจ้าเป็นครั้งแรก นักปรัชญาที่ได้มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานความคิดของระบบคุณธรรมคือ ขงจื้อ ซึ่งเป็นผู้วางหลักในการคัดเลือกข้าราชการโดยเน้นความสามารถ ซื่อสัตย์ และความเสียสละ ได้มีการจัดให้สอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นประเทศแรกของโลก ส่วนในประเทศตะวันตก เช่น ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่พึ่งจะนำระบบคุณธรรมมาใช้ในการบริหารงานบุคคลเมื่อประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่19 สำหรับประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาระบบคุณธรรมมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 แต่การนำระบบคุณธรรมเข้ามาใช้จริงๆเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นปีที่มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นฉบับแรก ปัจจุบันระบบคุณธรรมเป็นระบบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ระบบคุณธรรมเป็นระบบที่ช่วยให้การบริหารงานบุคคลเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อเกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในระบบการบริหารงานบุคคล โดยมุ่งให้ได้คนดี มีความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมตามความต้องการของหน่วยงานมาปฏิบัติงานให้ได้มากที่สุด[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Marzone Tallman.(1953).Dictionary of Civices and Government,P.165
  2. รศ.ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ.(2554).ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์,หน้า150
  3. เพ็ญศรี วายวานนท์.(2514).การบริหารงานบุคคลในประเทศไทย,หน้า99-100
  4. วิจิตร ศรีสอ้าน,อวยชัย ชะบา.เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารงานบุคคล,หน้า39-40