ระบบการเขียนภาษาบาลี
ระบบกาเขียนภาษาบาลีมีความหลากหลายเนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาที่ไม่มีระบบการเขียนเป็นของตนเอง แต่เขียนด้วยอักษรหลายชนิดตามแต่ประเทศของผู้ที่นับถือพุทธศาสนา เช่น ในศรีลังกาเขียนด้วยอักษรสิงหล ในพม่าใช้อักษรพม่า ในไทยและกัมพูชาใช้อักษรขอมหรืออักษรเขมรและเปลี่ยนมาใช้อักษรไทยในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2436 ซึ่งรายละเอียดการเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรชนิดต่างๆมีดังนี้
การเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรไทย
[แก้]การใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลีในปัจจุบันจะพบเห็นได้สองแบบ
- การเขียนแบบดั้งเดิม พบเห็นได้ในพระไตรปิฎกหรือในที่ที่ต้องการเขียนอย่างเป็นทางการ วิธีการอ่านเหมือนอ่านภาษาไทยปกติแต่มีหลักเพิ่มเติมดังนี้
- พยัญชนะที่ไม่มีสระ อ่านเสมือนมีสระอะ ประสมอยู่ เช่น เทว อ่านว่า เท-วะ
- พยัญชนะที่มี พินทุ ข้างใต้ ถือเป็นตัวสะกด หรือเสียงกล้ำ เช่น พฺรหฺม อ่านว่า พระ-ห์มะ (อักษรโรมัน คือ bra-hma), วณฺณ อ่าน วัณ-ณะ, เทฺว อ่าน ทะเว (ออกเสียง ท ไม่เต็มเสียง ให้ควบ ท+ว)
- พยัญชนะที่มีนิคหิตอยู่ข้างบน ออกเสียงนาสิก หรือเหมือนสะกดด้วย "ง" เช่น อรหํ อ่านว่า อะ-ระ-หัง, กิ (สระอิ + นิคหิต ไม่ใช่สระอึ) อ่านว่า กิง
- สระเอ ที่สะกดด้วย ย ให้ออกเสียงคล้ายสระไอ ไม่ใช่สระเอย เช่น อาหุเนยฺโย อ่าน อา-หุ-ไน-โย (ไม่ใช่ เนย-โย เพราะภาษาบาลีไม่มีสระเออ, a-hu-ney-yo)
- การเขียนแบบง่าย พบเห็นได้ตามหนังสือบทสวดมนต์ทั่วไปที่ต้องการให้ชาวบ้านอ่านได้ง่าย วิธีการอ่านจึงเหมือนอ่านภาษาไทยปกติ
- มีการเขียนสระอะให้เห็นชัดเจน เช่น เทวะ และไม่มีการใช้พินทุหรือนิคหิต เนื่องจากเขียนตัวสะกดให้เห็นชัดอยู่แล้วเช่น วัณณะ, อะระหัง
- ตัวควบกล้ำจะใช้ยามักการบอกการควบกล้ำ เช่น พ๎รห๎ม, เท๎ว
- สระเอ ที่สะกดด้วย ย ก็ยังคงให้ออกเสียงในทำนองเดียวกับที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เพียงแต่จะเขียนต่างกันเล็กน้อย เช่น อาหุเนยโย
การเขียนภาษาบาลีด้วยอักษรโรมัน
[แก้]สมาคมบาลีปกรณ์ในยุโรปได้พัฒนาการใช้อักษรละตินเพื่อเขียนภาษาบาลี โดยอักษรที่ใช้เขียนได้แก่ a ā i ī u ū e o ṁ k kh g gh ṅ c ch j jh ñ ṭ ṭh ḍ ḍh ṇ t th d dh n p ph b bh m y r l ḷ v s h
การเขียนภาษาบาลีด้วยสัทอักษรสากล
[แก้]การใช้อักษรโรมันเพื่อจัดพิมพ์เสียงบาลีในพระไตรปิฎกบาลีทำให้เกิดความสะดวกและประสิทธิภาพในการพิมพ์พระไตรปิฎกในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นความพยายามในยุคแรก ๆ ของการศึกษาเสียงบาลีที่พิมพ์ด้วยอักษรโรมัน มิใช่เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมการออกเสียงของชาติต่าง ๆ ในทวีปยุโรปที่ใช้อักษรโรมันในภาษาของตน เช่น การเขียนบาลีเป็นอักษรโรมันว่า me เป็นเสียงสระบาลีว่า <เม> [meː] มิใช่ออกเสียงว่า <มี> [miː] ในภาษาอังกฤษ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นในการออกเสียงบาลีที่เขียนด้วยอักษรโรมันในพระไตรปิฎก จึงมีความจำเป็นต้องใช้อักษรที่เป็นสากลและมีระบบการออกเสียงกลางที่นานาชาติยอมรับ ได้แก่ สัทอักษรสากล มากำกับการพิมพ์เสียงบาลีในพระไตรปิฎกบาลีอักษรโรมัน เพื่อให้ประชาชนชาวโลกทั่วไปสามารถออกเสียงบาลีได้ตรงกับที่สืบทอดมาในพระไตรปิฎก
สัทอักษรสากลเป็นชุดตัวอักษรที่สมาคมสัทศาสตร์สากลกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นระบบสากลสำหรับใช้ในการบันทึกเสียงพูดในภาษาต่าง ๆ และเพื่อให้ทราบว่าเสียงแต่ละเสียงนั้นมีการออกเสียงอย่างไร ใช้อวัยวะส่วนไหนในการออกเสียง ซึ่งผู้ที่จะใช้สัทอักษรเป็นเครื่องแสดงการออกเสียงก็จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจล่วงหน้าร่วมกันก่อนว่า สัทอักษรแต่ละรูปนั้นอธิบายถึงลักษณะการออกเสียงอย่างไร สัทอักษรสากลสำหรับพยัญชนะใช้อักษรโรมันเป็นหลัก และมีการใช้อักษรกรีกบ้าง ส่วนสัทอักษรสากลสำหรับสระใช้อักษรแทนสระมาตรฐานของ แดเนียล โจนส์ (Daniel Jones) เป็นเกณฑ์ นอกจากนั้นยังมีเครื่องหมายเสริมสัทอักษรอื่น ๆ และเครื่องหมายแสดงสัทลักษณ์อื่น ๆ เช่น ความยาว เสียงมีลม (ธนิต) เสียงลักษณะนาสิก เสียงเกิดที่ฟัน เสียงพยัญชนะควบกล้ำ เป็นต้น
ข้อสังเกตบางประการในการใช้สัทอักษรสากลบาลี
[แก้]ในการแสดงระบบการออกเสียงพยัญชนะบาลีในพระไตรปิฎกอักษรโรมันฉบับนี้ผู้เขียนได้เลือกใช้สัทอักษรสากล (IPA) ถ่ายถอดเสียงพยัญชนะบาลีเทียบเสียงกับอักษรโรมันไว้เป็นครั้งแรกโดยปรับปรุงจากเดิม เพื่อช่วยในการออกเสียงคำให้ถูกต้องยิ่งขึ้น สิ่งที่จัดทำใหม่เพื่อการนี้มีดังนี้
การเลือกใช้สัทอักษรแทนเสียงพยัญชนะระเบิดฐานเพดานแข็ง 4 เสียง
[แก้]จากการศึกษาข้อมูลเสียงและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ทำการบันทึกเสียงบาลีในพระไตรปิฎก ได้ข้อสรุปการเลือกใช้สัทอักษรแทนเสียงพยัญชนะหยุด แตกต่างออกไปจากที่ได้มีการใช้อยู่ในที่อื่น ๆ ได้แก่ อักษรโรมัน สัททอักษรที่เลือกใช้ c [c] ch [cʰ] j [ɟ] jh [ɟʱ]
การเลือกใช้สัทอักษรสากล [c], [ɟ] มาเทียบเสียงกับหน่วยเสียงพยัญชนะ /c/, /j/ ใน ตารางพยัญชนะบาลีซึ่งเกิดที่เพดานแข็ง ด้วยเห็นว่าตรงตามเกณฑ์ของการใช้สัททอักษรสากลซึ่งเลือกใช้ตัวอักษรธรรมดาให้มากที่สุดในการถอดเสียงและตรงกับหลักเกณฑ์การออกเสียงตามฐานกรณ์ที่เกิดเสียง คือ ฐานเสียงเพดานแข็ง ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์โบราณแสดงหลักภาษาหรือหลักไวยากรณ์บาลี ชื่อว่า คัมภีร์สัททาวิเสส สัททนีติสุตตมาลาด้วย
สัทอักษรสำหรับหน่วยเสียง /r/
[แก้]การจัดหน่วยเสียง /r/ เป็นหน่วยเสียงพยัญชนะเปิดปลายลิ้นม้วน (Retroflex approximant) ซึ่งออกเสียงโดยม้วนลิ้นไปทางส่วนหลังของปุ่มเหงือก โดยใช้สัทอักษร [ɻ] เทียบเสียงไว้ ตรงกับหลักเกณฑ์การออกเสียงในคัมภีร์สัททาวิเสส สัทนีติสุตตมาลา ไม่ใช่เป็นเสียงพยัญชนะเปิดฐานปุ่มเหงือก (alveolar approximant) ตามที่บางแห่งได้จัดไว้
สัทอักษรสำหรับพยัญชนะโฆษะ-ธนิต กับพยัญชนะอโฆษะ-ธนิต
[แก้]การใช้สัทอักษรสำหรับเสียงพยัญชนะโฆษะ-ธนิต (เสียงก้อง-มีลม) กับพยัญชนะอโฆสะ-ธนิต (เสียงไม่ก้อง-มีลม) มีประเด็นสำคัญคือการเลือกใช้สัญลักษณ์ [ ʰ ] และ [ ʱ ] แทนเสียงธนิต (มีลม) ซึ่งเป็นกลุ่มลมที่ตามหลังเสียงหยุดหรือเสียงระเบิด และแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- เสียงหยุดชนิดไม่ก้อง เมื่อออกเสียงนี้ กลุ่มลมที่ตามออกมาจะมีลักษณะไม่ก้องด้วย เช่น เสียง [kʰ], [t̪ʰ] เทียบได้กับเสียง /kh/, /th/ อักษรโรมัน ตามลำดับ
- เสียงหยุดชนิดก้อง เมื่อออกเสียงนี้ กลุ่มลมที่ตามออกมาจะมีลักษณะก้องด้วย เช่น เสียง [gʱ], [bʱ] เทียบได้กับเสียง /gh/, /bh/ อักษรโรมัน ตามลำดับ
เพิ่มสัญลักษณ์ประกอบสัทอักษร
[แก้]จากข้อมูลเสียงบาลีแสดงเสียงฐานฟันของพยัญชนะเสียงหยุดหรือเสียงระเบิดอย่างชัดเจน ดังนั้น ในชุดสัทอักษรสากลบาลีนี้จึงได้เพิ่มสัญลักษณ์ [ ̪ ] เช่นเสียง [t̪], [d̪] เทียบได้กับเสียง /t/, /d/ อักษรโรมัน ตามลำดับ หรือของพยัญชนะเสียดแทรก [s̪] เทียบได้กับเสียง /s/ อักษรโรมัน หรือของพยัญชนะเปิดข้างลิ้น [l̪] เทียบได้กับเสียง /l/ อักษรโรมัน
นอกจากนี้ ในการจัดสัททอักษรสากลเพื่อเทียบเสียงนิคคหิต (ํ) = /ṃ/ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงสระลักษณะนาสิก ซึ่งเกิดกับสระเสียงสั้น ได้แก่ /aṃ/, /iṃ/, และ /uṃ/ จึงได้ริเริ่มใช้เครื่องหมายเสริมสัททอักษรสากล [~] แสดงว่าเป็นเสียงลักษณะสระนาสิก (nasal vowels) ดังในตัวอย่าง เช่น /aṃ/ [ã], /iṃ/ [ĩ], และ /uṃ/ [ũ]
ตารางแสดง หน่วยเสียงลักษณะสระนาสิก
ดูเพิ่ม
[แก้]หนังสืออ่านเพิ่มเติม
[แก้]- สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.9 และวิจินตน์ ภาณุพงศ์, "พระไตรปิฎกปาฬิจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. 112 อักษรสยาม" ฉบับอนุรักษ์ดิจิทัล, กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ 2551.
- Siri Petchai and Vichin Phanupong, "Chulachomklao of Siam Pāḷi Tipiṭaka, 1893", Digital Preservation Edition, Dhamma Society Fund 2009.
- ร.ต.ฉลาด บุญลอย, ประวัติวรรณคดีบาลี, 2527
- ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์, ประวัติภาษาบาลี : ความเป็นมาและที่สัมพันธ์กับภาษาปรากฤตและสันสกฤต, 2535.
- ปราณี ฬาพานิช, ภาษาสันสกฤต: คุณค่าในการพัฒนาความเข้าใจภาษาบาลี,2536, หน้า 113-145.
- Wilhem Geiger, Pali Literatur und Sprache,1892
- Charles Duroiselle, A Practical Grammar of the Pāli Language 3rd Edition, 1997