ข้ามไปเนื้อหา

ยุทธนาวีบักดั่ง (ค.ศ. 1288)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ยุทธนาวีบักดั่ง (อังกฤษ: Battle of Bạch Đằng) เป็นสงครามเรือระหว่างมองโกลและไดเวียดหรือเวียดนามในปัจจุบัน ที่แสดงแสนยานุภาพของกองเรือเล็ก ๆ อย่างไดเวียด ว่าทำลายกองเรือที่ทรงอานุภาพของมองโกลลงได้[1][2]

ความสัมพันธ์ไดเวียด-จีน

[แก้]

ไดเวียดถูกจีนปกครองนับตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งแม้ผู้นำไดเวียดจะพยายามอย่างไร ก็ไม่สามารถประกาศอิสรภาพของตนได้ จนภายหลังราชวงศ์ถังล่มสลาย ก็ได้เกิดสงครามใหญ่กับราชวงศ์ฮั่นใต้ โดยมีนายพลโง เกวียน เป็นผู้นำ และสามารถตีจีนแตกพ่ายไปในที่สุด เมื่อปี ค.ศ.938 (พ.ศ. 1481) จนมาถึงราชวงศ์ลี้ก็ได้เป็นชื่อตนเป็นไดเวียด[3]

ชนวนเหตุ

[แก้]

มองโกลข่าน ผู้นำมองโกลต่อจากเจงกิสข่าน ได้ยกทัพม้ามาบุกประชิดชายแดนจีน ในสมัยราชวงศ์ซ่ง โดยวางแผนโจมตีขนาบเหนือ-ใต้ โดยเมื่อตีอาณาจักรต้าหลี่ทางตอนใต้ของจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม่ทัพมองโกลก็ได้ส่งสาส์นไปยังไดเวียด ในสมัยราชวงศ์เตริ่นเพื่อขอใช้เส้นทาง แต่ถูกปฏิเสธ มองโกลจึงยกทัพบุกตีไดเวียด ในปี ค.ศ. 1257 (พ.ศ. 1800)[4]

สงครามบนพื้นดิน

[แก้]

เมื่อไดเวียดไม่ยอมเปิดเส้นทางการเดินทัพ มองโกลจึงยกทัพไปบุกตีเมืองทังล็อง หรือกรุงฮานอยในปัจจุบัน เมืองทังล็องถูกตีแตก แต่ทัพมองโกลก็ต้องถอย เนื่องจากเมื่อตีเมืองสำเร็จแล้ว ชาวเมืองรวมทั้งกษัตริย์ไดเวียดได้อพยพออกไปหมดแล้ว รวมทั้งขนเสบียงออกไปด้วย โดยหลังจากที่มองโกลถอยทัพกลับ ทางไดเวียดก็ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการแก่มองโกล เพื่อไม่ให้เกิดความเสียกายจากสงครามอีกครั้ง ต่อมา มองโกลได้ยกทัพปราบราชวงศ์ซ่งจนถึงกลายล่มสลาย และได้สถาปนาราชวงศ์หยวน ภายใต้การนำของกุบไลข่าน ขึ้นมาปกครองดินแดนจีนแทน

กุบไลข่านทรงมีราชโองการให้วางแผนเพื่อจะยึดเมืองไดเวียด และเมืองจามปา อันเป็นเมืองไกล้เคียงกัน ซึ่งเมืองจามปานั้น ตั้งอยู่ในดินแดนทางภาคกลางของเวียดนามในปัจจุบัน แต่ด้วยทูตของมองโกลที่ส่งไปรับเครื่องราชบรรณาการที่จามปานั้น ไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมเนียมของจามปา จึงถูกกษัตริย์ของแคว้นจามปาส่งประหารทั้งคณะ เป็นเหตุทำให้กุบไลข่าน ถือโอกาสประกาศศึกกับเมืองจามปา ในปี ค.ศ. 1282 (พ.ศ. 1825) กุบไลข่านได้ส่งแม่ทัพตวาโด นำทัพเรืออ้อมไปตีอาณาจักรจามปา แต่เมื่อตีเมืองจามปาสำเร็จ ก็ถูกกองกำลังที่เหลือรอดของจามปาใช้ยุทธวิธีซุ่มโจมตีแบบกองโจร ทำให้กองกำลังต้องถอยร่นมาที่ชายแดนของไดเวียดและจามปา เมื่อข่าวทราบถึงกุบไลข่าน จึงได้ส่งกองกำลังอีกกองเพื่อไปสมทบกับกองกำลังของตวาโดที่เพลี่ยงพล้ำอยู่ โดยยกกองทัพไปสมบทจำนวน 5 แสนนาย โดยการนำของโตข่าน ไปในปี ค.ศ. 1284 (พ.ศ. 1827)

แต่กษัตริย์เจิ่น เญิน ตุงของไดเวียด ได้จัดประชุมขุนนางในราชสำนักไดเวียด ในปลายปี ค.ศ. 1283 (พ.ศ. 1826) เพื่อต้องการปรึกษาว่าจะยอมให้แก่มองโกลหรือไม่ ผลปรากฏเป็นเสียงเดียวกันว่า ไดเวียดจะไม่ยอมมองโกลอีก จึงได้สั่งการให้แม่ทัพใหญ่เจิ่น ฮึง เด่า เตรียมกองกำลังเพื่อพร้อมประกาศสงคราม แต่ด้วยกองกำลังที่น้อยกว่า ไดเวียดต้องเสียเมืองทังลองอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ซ้ำรอบเดิม คือเมื่อทัพมองโกลตีเมือง ก็ไม่มีเสบียงเหลืออยู่ โตข่านจึงส่งเดินทัพกินดินแดนไดเวียดเข้าไปอีก แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่คาด เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ทหารเริ่มล้มป่วย เสบียงก็ไม่สามารถยึดได้ และยังถูกกองกำลังไดเวียดซุ่มโจมตี มองโกลถอยร่นจนต้องถอยทัพกลับอย่างทุลักทุเลในปี ค.ศ. 1285 (พ.ศ. 1828) ส่วนด้านตวาโดก็ถูกฆ่าตายในสนามรบ ในขณะที่พยายามตีฝ่าวงล้อมมายังทัพของโตข่าน

ยุทธนาวี

[แก้]

หลังจากทั้งสองทัพที่ส่งไปตีเมืองจามปาแตกพ่ายเพราะฝ่ายไดเวียด กุบไลข่านจึงมีราชโองการ ให้แม่ทัพโอมาร์ข่าน นำทัพ 3 แสน พร้อมเรือรบกองใหญ่กว่า 500 ลำ เข้าบุกไดเวียด โดยตีฝ่าแนวป้องกันของไดเวียดไปชุมนุมกันที่เมืองวันดอน แล้วไปตีเมืองทังลองอีกครั้ง

แต่ในคราวนี้ ได้ทำการขนส่งเสบียงผ่านทางเรือ ทำให้กองทัพมองโกลไม่ประสบปัญหาขาดแคลนเสบียงอีก แต่ด้วยความชะล่าใจของโอมาร์ข่าน เมื่อกองเรือเสบียงมาถึงเมืองวันดอน กองทัพบกก็ได้ยกทัพไปตีเมืองทังลองแล้ว ทำให้กองเรือขาดการระแวดระวัง ทำให้แม่ทัพไดเวียด นามเตริ่นแข็นห์ดือ ซึ่งได้พ่ายศึกเมื่อครั้งเมืองวันดอน แต่ได้รวบรวมกำลังเข้าจู่โจมกองเรือเสบียงของมองโกล เมื่อทราบข่าวร้าย ประกอบกับใกล้ฤดูร้อน โอมาร์ข่านจึงตัดสินใจยกทัพกลับ โดยผ่านทางหลั่งเซิน ส่วนกองเรือล่องผ่านแม่น้ำแบ็จดั่งเพื่อออกสู่ทะเล

แต่แม่ทัพเจิ่น ฮึง เด่า นำกลยุทธ์ในสมัยก่อนมาใช้ ในสมัยที่แม่ทัพโงเกวี่ยนเป็นแม่ทัพ ได้เคยทำขอนไม้ติดเหล็กแหลมไปไว้ที่แม่น้ำแบ็จดั่ง เมื่อน้ำขึ้นสูงจะไม่เห็นขอนไม้ เพื่อดักเรือศัตรู โดยนอกจากเหล็กแหลมแล้ว แม่ทัพเจิ่น ฮึง เด่า ยังได้นำลูกทุ่นมาปิดปากอ่าว พอกองเรือของมองโกลแล่นผ่านก็ติดเหล็กแหลม ท้องเรือทะลุจมไปหลายลำ กองเรือไดเวียดก็เข้าจู่โจมซ้ำ กองเรือมองโกลพ่ายแพ้ สูญเสียไพร่พลกว่า 4 หมื่นคน แม่ทัพโอมาร์ข่านและทหารที่เหลือถูกจับเป็นเชลย โตข่านที่นำทัพก็ฝ่าออกมาได้ แต่ก็ได้รับความเสียหายมากเช่นกัน

แต่ด้วยศึกยุทธนาวีบักดั่ง ฝ่ายไดเวียดก็เสียหายหนักเช่นกัน จึงได้ส่งตัวโอมาร์ข่านและเชลยคืน และส่งราชบรรณาการเพื่อเจรจาประนีประนอม เมื่อสิ้นกุบไลข่าน เตมูร์ ข่าน ก็ล้มเลิกแผนการโจมตี ทำให้ไดเวียดและมองโกลเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. สงครามทางเรือของเวียดนามยุคโบราณ : ศึกบักดั่ง
  2. Patricia M. Pelley Postcolonial Vietnam: New Histories of the National Past - Page 185 - 2002 "Presiding over the commemorative ceremony, Tran Huy Lieu began: "Not only did the battle of Bạch Đằng conclude the ... army against the Mongol invaders, it also brought all the Mongol invasions that took place between 1257 and 1288 to an ..."
  3. Kỷ Nam Bắc Phân Tranh - Đại Việt Sử ký toàn thư
  4. China and Vietnam: The Politics of Asymmetry - Page 113 Brantly Womack - 2006 "However, the facts that Dinh had consolidated local control, that Nan Han had been defeated by Dinh's predecessor in the battle of Bạch Đằng River in 938, and that Vietnam was difficult terrain for Chinese armies constrained the Song to ..."