ยุทธการที่กัรบะลาอ์
ยุทธการที่กัรบะลาอ์ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ ฟิตนะฮ์ครั้งที่สอง | |||||||
ภาพวาด ยุทธการที่กัรบะลาอ์ โดยอับบาส อัลมูซาวี, พิพิธภัณฑ์บรุกลิน | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
รัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ | ฮุซัยน์ อิบน์ อะลีและผู้ติดตาม | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
อุบัยด์ อัลลอฮ์ อิบน์ ซิยาด อุมัร อิบน์ ซะอด์ ชิมร์ อิบน์ ซีล-เญาชัน อัล-ฮูร์ อิบน์ ยะซีด อัล-ทามีมี (แปรพักตร์) |
ฮุซัยน์ อิบน์ อะลี † อัล-อับบาส อิบน์ อะลี † ฮะบีบ อิบน์ มะซอฮิร † สุฮัยร อิบน์ อัล-เกย์น † | ||||||
กำลัง | |||||||
4,000–5,000 คน[1][2][3][4][5][a] | 70–145 คน | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
88 คน | มากกว่า 72 คน | ||||||
ยุทธการที่กัรบะลาอ์ (อาหรับ: مَعْرَكَة كَرْبَلَاء, อักษรโรมัน: maʿraka Karbalāʾ) เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพของยะซีดที่ 1 เคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์องค์ที่ 2 กับกองทัพขนาดเล็กที่นำโดยฮุซัยน์ อิบน์ อะลี หลานชายของศาสดามุฮัมมัด ยุทธการนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 680 (10 มุฮัรร็อม ฮ.ศ. 61) สนามรบตั้งอยู่ที่เมืองกัรบะลาอ์ ซาวัด (ตอนใต้ของอิรักในปัจจุบัน)
มุอาวิยะฮ์ที่ 1 เคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์องค์แรก (ครองราชย์ ค.ศ. 661–680) เสนอยะซีด โอรสของตนเป็นผู้สืบทอดก่อนพระองค์จะสวรรคต การแต่งตั้งยะซีดได้รับการโต้แย้งจากบรรดาบุตรของเศาะฮาบะฮ์ (สหายของศาสดา) รวมถึงฮุซัยน์ บุตรของอะลี อิบน์ อะบี ฏอลิบ เคาะลีฟะฮ์รอชิดูนองค์ที่ 4 และอับดุลละฮ์ อิบน์ อัลสุบัยร บุตรของสุบัยร อิบน์ อัล-เอาวาม เมื่อมุอาวิยะฮ์สวรรคตในปี ค.ศ. 680 ยะซีดเรียกร้องความสวามิภักดิ์จากฮุซัยน์และผู้เห็นต่างคนอื่น ๆ แต่ฮุซัยน์ปฏิเสธและลี้ภัยจากนครอัลมะดีนะฮ์ไปยังนครมักกะฮ์[6] อีกด้านหนึ่งชาวเมืองกูฟะฮ์อันเป็นศูนย์กลางของฝ่ายอะลีและเกลียดชังอุมัยยะฮ์[7] ส่งคำเชิญให้ฮุซัยน์มาที่เมืองนี้เพื่อก่อการกบฏล้มล้างยะซีด ระหว่างที่ฮุซัยน์เดินทางไปที่กูฟะฮ์พร้อมผู้ติดตามราว 70 คน พวกเขาถูกขัดขวางโดยกองทัพอุมัยยะฮ์จำนวน 1,000 คน ฮุซัยน์จึงเดินทางขึ้นเหนือไปตั้งค่าย ณ ที่ราบกัรบะลาอ์ในวันที่ 2 ตุลาคม[1][5] หลังจากนั้นกองทัพอุมัยยะฮ์มาสมทบอีก 4,000 คน[8][a] การเจรจาระหว่างฮุซัยน์กับอุบัยด์ อัลลอฮ์ อิบน์ ซิยาด ข้าหลวงอุมัยยะฮ์ไม่เป็นผลเมื่อซิยาดไม่อนุญาตให้ฮุซัยน์เข้าเมืองกูฟะฮ์หรือกลับไปยังมะดีนะฮ์ ขณะที่ฮุซัยน์ปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของยะซีด[10] การสู้รบจึงเกิดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม ฮุซัยน์และผู้ติดตามเกือบทั้งหมดถูกสังหาร ส่วนสมาชิกในครอบครัวของเขาถูกจับเป็นเชลย[11] ยุทธการนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของฟิตนะฮ์ครั้งที่สอง ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองหลายฝ่ายเพื่อล้มล้างยะซีด
ยุทธการที่กัรบะลาอ์กระตุ้นพัฒนาการของฝ่ายอะลี (ชีอะตุอะลี) ให้กลายเป็นนิกายที่มีพิธีกรรมและความทรงจำร่วมเป็นของตนเอง เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ประเพณีและเทววิทยาของชีอะฮ์ และมักถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในวรรณกรรมชีอะฮ์ ชีอะฮ์มองว่าความทุกข์ทรมานและความตายของฮุซัยน์เป็นการเสียสละเพื่อความถูกต้องและความยุติธรรม[12] มุสลิมชีอะฮ์ระลึกถึงยุทธการนี้ทุกปีเป็นเวลา 10 วันในเดือนมุฮัรร็อม โดยวันที่สำคัญที่สุดคือวันที่ 10 ของเดือนหรือวันอาชูรออ์ ซึ่งมุสลิมชีอะฮ์จะจัดงานเพื่อไว้ทุกข์ สวดเพลงไว้อาลัยหรือเพลงโศก จำลองเหตุการณ์ เลี้ยงอาหารแก่ผู้ร่วมงานและทำร้ายตนเอง[13] ขณะที่มุสลิมซุนนีถือเหตุการณ์นี้เป็นโศกนาฏกรรมเช่นกัน[14] ทั้งมุสลิมชีอะฮ์และซุนนีต่างถือว่าฮุซัยน์และผู้ติดตามเป็นผู้พลีชีพเพื่อศาสนา[15]
เชิงอรรถ
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Wellhausen 1901, p. 65.
- ↑ Vaglieri 1971, p. 609.
- ↑ Madelung 2004, pp. 493–498.
- ↑ Ayoub 1978, p. 109.
- ↑ 5.0 5.1 Halm 1997, p. 9.
- ↑ Wellhausen 1901, p. 61.
- ↑ Daftary 1990, p. 47.
- ↑ Wellhausen 1901, pp. 65–66.
- ↑ Munson 1988, p. 23.
- ↑ Donner 2010, p. 178.
- ↑ Kennedy 2004, p. 77.
- ↑ Veccia Vaglieri 1971, p. 614.
- ↑ As-Saadi, Abdul-Ilah. "Ashura: Why Muslims fast and mourn in Muharram". August 28, 2020. สืบค้นเมื่อ November 3, 2023.
- ↑ Hawting 2000, p. 50.
- ↑ Ayoub 1978, pp. 134–135.