มาร์ดุก
มาร์ดุก (เบล) | |
---|---|
| |
รูปเคารพเทพมาร์ดุกประทับบนมังกรมุชคุชชู จากจารึกทรงกระบอกสมัยศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสตกาล | |
ที่ประทับ | บาบิโลน |
ดาวพระเคราะห์ | ดาวพฤหัสบดี |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
คู่ครอง | ซาปาร์นิต |
บุตร - ธิดา | เนโบ |
บิดา-มารดา | เองกีและดัมกัลนูนา |
พี่น้อง | นินซาร์, นินคูร์รา, อุตตู, นินตี |
มาร์ดุก (อักษรรูปลิ่ม: 𒀭𒀫𒌓 dAMAR.UTU; ภาษาซูเมอร์: amar utu.k "บุตรแห่งพระอาทิตย์"; ภาษากรีก Μαρδοχαῖος,[1] Mardochaios; ภาษาฮีบรู: מְרֹדַךְ, marōḏaḵ) เป็นเทพเมโสโปเตเมียในยุคหลัง มาร์ดุกเป็นเทพประจำเมืองบาบิโลน และเป็นเทพแห่งน้ำ พืชพันธุ์ การพิพากษา และเวทมนตร์ พระองค์เป็นโอรสของเทพอีอา (เองกีในซูเมอร์)[2] กับดัมกัลนูนา[3] มีพระชายาคือซาปาร์นิต และมีโอรสคือเนโบ เทพแห่งปัญญาและการรู้หนังสือ มีอาวุธประจำกายคืออาวุธแห่งสายลมอิมฮุลลู และพาหนะเป็นมังกรมุชคุชชู ในช่วงที่บาบิโลนปกครองโดยพระเจ้าฮัมมูราบี มาร์ดุกมีความเกี่ยวข้องในทางโหราศาสตร์กับดาวพฤหัสบดี[4]
ที่มาของพระนามมาร์ดุกมาจาก amar-Utu ("บุตรผู้เป็นอมตะของอูตู" หรือ "บุตรเยาว์วัยของสุริยเทพอูตู")[5] สะท้อนถึงที่มาหรือความเกี่ยวข้องกับเมืองซิปปาร์ซึ่งมีอูตูเป็นเทพประจำเมือง[6] สถานภาพเดิมของมาร์ดุกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ภายหลังพระองค์ถูกเชื่อมโยงเข้ากับน้ำ พืชพันธุ์ การพิพากษา และเวทมนตร์[7] ตามเอนูมาเอลิช ตำนานการถือกำเนิดของบาบิโลเนียกล่าวว่า มาร์ดุกซึ่งเป็นเทพที่แข็งแกร่งที่สุดในหมู่เทพรุ่นหลังได้ทำสงครามกับเทพยุคแรกเริ่มติอามัตเป็นเวลา 12 วันจึงปราบติอามัตลงได้ จากนั้นมาร์ดุกทรงสร้างสวรรค์และโลกจากร่างติอามัต และปรึกษากับเทพอีอาก่อนจะสร้างมนุษย์คนแรกชื่อลัลลูจากชิ้นส่วนเทพที่สนับสนุนติอามัตเพื่อให้เป็นบริวาร[8] ชาวบาบิโลเนียมีการเฉลิมฉลองชัยชนะของมาร์ดุกเหนือติอามัตในเทศกาลแซกมัก หรือวันขึ้นปีใหม่ช่วงเดือนธันวาคมเป็นเวลา 12 วัน[9] โดยกษัตริย์บาบิโลนจะเป็นตัวแทนมาร์ดุก ประกอบพิธีเฮียรอสกามอสและต่อสู้ในการรบแบบจำลอง[10]
มาร์ดุกเป็นเทพประจำเมืองบาบิโลน เมื่อบาบิโลนกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจในหุบเขายูเฟรตีสในรัชสมัยพระเจ้าฮัมมูราบีราวศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล มาร์ดุกค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นเทพสูงสุดของปวงเทพบาบิโลเนีย และแทนที่เทพเอนลิลในฐานะเทพสูงสุดอย่างสมบูรณ์หลังรัชสมัยพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ที่ 1 ช่วงศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล[11] ต่อมาในสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล มาร์ดุกได้รับการบูชาในพระนามเบล อันเป็นการผสานเทพมาร์ดุก เทพเอนลิล และเทพดูมูซิด[12][13] มีการประดิษฐานรูปเคารพมาร์ดุกไว้ที่วิหารอีซากิลาและซิกกุรัตอีเทเมนันกี[14] ซึ่งภายหลังเฮโรโดตัสบันทึกว่าถูกเซิร์กซีสที่ 1 แห่งจักรวรรดิอะคีเมนิดขนย้ายออกไปตอนพระองค์ปราบกบฏในบาบิโลนเมื่อ 482 ปีก่อนคริสตกาล[15] หลังจากนั้นวิหารก็ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นซากปรักหักพังช่วงบาบิโลนตกอยู่ใต้อำนาจจักรวรรดิพาร์เธียราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล[16]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ identified with Marduk by Heinrich Zimmeren (1862-1931), Stade's Zeitschrift 11, p. 161.
- ↑ Arendzen, John. "Cosmogony". The Catholic Encyclopedia, 1908. Robert Appleton Company. สืบค้นเมื่อ 26 March 2011.
- ↑ C. Scott Littleton (2005). Gods, Goddesses and Mythology, Volume 6. Marshall Cavendish. p. 829.
- ↑ Jastrow, Jr., Morris (1911). Aspects of Religious Belief and Practice in Babylonia and Assyria, G.P. Putnam's Sons: New York and London. pp. 217-219.
- ↑ Helmer Ringgren, (1974) Religions of The Ancient Near East, Translated by John Sturdy, The Westminster Press, p. 66.
- ↑ The Encyclopedia of Religion - Macmillan Library Reference USA - Vol. 9 - Page 201
- ↑ [John L. McKenzie, Dictionary of the Bible, Simon & Schuster, 1965 p 541.]
- ↑ Mark, Joshua J. (May 4, 2018). "Enuma Elish - The Babylonian Epic of Creation - Full Text". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 9, 2020.
- ↑ Gill, N.S. (September 24, 2018). "Marduk the Mesopotamian Creation God". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ November 9, 2020.
- ↑ Roy, Christian (2005). Traditional Festivals: A Multicultural Encyclopedia Volume 1. Santa Barbara, California, US: ABC-CLIO. p. 5–7. ISBN 9781576070895.
- ↑ Lambert, W. G. (1984). "Studies in Marduk". Bulletin of the School of Oriental and African Studies, University of London. 47 (1): 1–9. doi:10.1017/S0041977X00022102. ISSN 0041-977X. JSTOR 618314.
- ↑ Fontenrose 1980, p. 440.
- ↑ Doniger 1990, p. 120.
- ↑ "Marduk - Babylonian god". Britannica. สืบค้นเมื่อ November 9, 2020.
- ↑ Sancisi-Weerdenburg 2002, p. 579.
- ↑ Mark, Joshua J. (December 9, 2016). "Marduk". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 9, 2020.