มนุษย์นกฮูก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โบสถ์มิวนาน สถานที่พบเห็น

มนุษย์นกฮูก (อังกฤษ: Owlman) เป็นสิ่งมีชีวิตลึกลับที่มีผู้อ้างว่าพบเห็นในประเทศอังกฤษ ในยุคทศวรรษที่ 70 ที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ผสมกับนกฮูกหรือนกเค้าแมวขนาดใหญ่ คล้ายกับมอธแมน ในเวสต์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา[1]

บางครั้ง มนุษย์นกฮูก ยังมีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น มนุษย์นกฮูกคอร์นิช (Cornish Owlman) หรือ มนุษย์นกฮูกแห่งมิวนาน (Owlman of Mawnan)

การพบเห็นครั้งแรก[แก้]

มนุษย์นกฮูก ถูกพบเห็นครั้งแรกในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1976 โดยเด็กผู้หญิงอายุ 12 ที่ชื่อ จูน เมลลิง และน้องสาวของเธออายุ 9 ขวบ วิกกี จากแลงคาสเตอร์ โดยทั้งหมดได้เดินทางท่องเที่ยวในวันหยุดที่มิวนานสมิธ ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตอนใต้ของมณฑลคอร์นวอลล์ ขณะเดินผ่านป่าใกล้โบสถ์มิวนาน พวกเธอเห็นสัตว์ปีกขนาดใหญ่โฉบเหนืออาคารโบสถ์ เด็ก ๆ กลัวและวิ่งไปหาพ่อทันที แต่แทนที่ ดอน เมลลิง พ่อของเด็ก ๆ จะนำความนี้ไปบอกแก่สื่อมวลชน เขากลับนำไปบอกแก่นักสืบสวนเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ แอนโทนี "ด๊อก" ชิลด์ ซึ่งชิลด์ก็ได้นำเรื่องทั้งหมดนี้เขียนเป็นบันทึกและนำไปสู่การล่าหาสัตว์ประหลาดตัวนี้[2]

แต่ก็มีคำถามหลายคำถามตามมาเกี่ยวกับกรณีนี้ คือ

  • ทำไมแทนที่ดอนจะนำความไปบอกแก่สื่อมวลชนหรือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่กลับไปบอกเล่าแก่นักสืบสวนเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติแทน
  • จุดที่เด็ก ๆ ทั้ง 2 กล่าวอ้างว่าได้พบเห็นนั้น เป็นจุดที่มีผู้คนใช้เดินเล่นและมักจะจูงสุนัขไปด้วย ไปมาอยู่เป็นประจำ ทำไมถึงไม่มีใครเห็น
  • ชิลด์กล่าวว่าครอบครัวเมลลิงขวัญผวาจากการพบเห็น จนยกเลิกวันหยุดก่อนกำหนด 3 วัน และดอนไม่อนุญาตให้ลูกสาวของเขาทั้ง 2 ให้สัมภาษณ์ แต่ชิลด์มีภาพสเก็ตด้วยดินสอในวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งชิลด์นั้นเป็นนักหลอกลวง อาจจะประกาศตัวเองเพื่อแกล้งทำภาพถ่ายจำนวนมากและถ่ายวิดีโอสร้างเรื่อง มนุษย์นกฮูก นี้ขึ้นมาเอง
  • ทำไมถึงไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม [3]

การพบเห็นครั้งที่ 2[แก้]

วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1976 2 เดือนหลังจากการพบเห็นครั้งแรก เด็กหญิงอายุ 14 ชื่อ เชลลี แชปแมน ไปเข้าค่ายกับเพื่อน บาร์บารา เพอร์รี ในป่าใกล้กับโบสถ์ ตามบันทึกของเธอ เธออ้างว่าขณะยืนอยู่นอกเต็นท์ เธอได้ยินเสียงร้องดังจึงหันไปดูและพบสิ่งที่เหมือนนกฮูกขนาดใหญ่แต่เป็นคนที่มีหูแหลมและดวงตาสีแดงก่ำ เธอบอกว่ามันบินขึ้นไปบนอากาศ และการพบเห็นสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้ ยังถูกรายงานอีก 2 ครั้ง ใน 2 ปีต่อมาในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม ค.ศ. 1978 โดยทั้งหมดนี้พบเห็นในบริเวณเดียวกันด้วย คือ โบสถ์มิวนาน[4]

ต่อมาเธอได้วาดภาพและบันทึกเรื่องราวทั้งหมดให้แก่ แอนโทนี ชิลด์ เช่นเดียวกับกรณีของครอบครัวเมลลิง โดยเธอได้สเก็ตภาพก่อนจูนเสียอีก แต่เป็นไปได้ว่า เธออาจจะพบเห็นสิ่งอื่นแต่ถูกชิลด์โน้มน้าวให้เชื่อว่า สิ่งที่เธอพบเห็นนั้นเป็นสัตว์ประหลาด[2]

ในปี ค.ศ. 1989 มีชายหนุ่มคนหนึ่งและแฟนสาวของเขา อ้างว่าพบเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งสูงประมาณ 5 ฟุต มีเท้าสีดำขนาดใหญ่และนิ้วเท้าหัวแม่โป้งขนาดใหญ่ทั้ง 2 ข้าง ตามีสีเทาและสีน้ำตาล

ในปี ค.ศ. 1995 มีนักศึกษาหญิงรายหนึ่งจากชิคาโก รายงานว่าพบเห็น "มนุษย์นก" ที่มีใบหน้าที่น่ากลัว ปากกว้าง ดวงตาสว่าง หูแหลม และมีปีกแหลมคมเป็นกรงเล็บ โดยเธอได้ส่งจดหมายเล่าความทั้งหมดนี้ส่งแก่ หนังสือพิมพ์ในเมืองทรูโร[2]

การสันนิษฐาน[แก้]

เจเน็ท และ โคลิน บอร์ด นักสืบสวนเรื่องเหนือธรรมชาติชาวอังกฤษ กล่าวว่า โบสถ์มิวนานนั้นได้ถูกสร้างมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว จึงเชื่อว่า มนุษย์นกฮูกนั้นอาจจะเป็นการสำแดงกำลังหรืออิทธิฤทธิเหนือคริสต์จักรหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา แต่อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1989 พวกเขาได้ส่งรายงานในหนังสือชื่อ Modern Mysteries of the World กล่าวว่า เชื่อว่ามนุษย์นกฮูกที่มีพยานพบเห็นหลายคนนั้นอาจจะเป็นนกขนาดใหญ่ที่หลุดจากกรงเลี้ยงมา

ในเรื่องนี้ คาร์ล ชูเกอร์ นักสัตว์ประหลาดวิทยาชื่อดังชาวอังกฤษ กล่าวสนับสนุนข้อคิดดังกล่าว โดยเชื่อว่า มันอาจจะเป็นนกฮูกในสกุล นกเค้าเหยี่ยว (Bubo spp.) ซึ่งเป็นนกฮูกขนาดใหญ่ ขนาดเมื่อโตเต็มที่อาจสูงเกิน 2 ฟุต และกางปีกได้กว้างถึง 6 ฟุต และที่สำคัญนกเหล่านี้ได้อาศัยอยู่ในยอร์คเชียร์เหนือ และสามารถบินข้ามช่องแคบอังกฤษได้ด้วย

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

มนุษย์นกฮูกได้ถูกอ้างอิง ในวัฒนธรรมสมัยนิยมต่าง ๆ เช่น การเป็นตัวการ์ตูนที่ปรากฏในการ์ตูนชุด แบทแมน ของดีซีคอมิกส์ และในสารคดีของดิสคัฟเวอรี่ แชนนอล ในชุด Lost Tapes (นำมาออกอากาศในประเทศไทยช่วงกลางปี ค.ศ. 2009) ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวเรื่องราวของสัตว์ประหลาดที่โจมตีใส่มนุษย์ชนิดต่าง ๆ ก็มีเรื่องของมนุษย์นกฮูกนี้ด้วย ในชื่อเรื่องว่า Death Raptor[5]

อ้างอิง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Daniel V. Boudillion. "Mothman & The Thunderbird". Boudillion.com. สืบค้นเมื่อ 2016-09-20.
  2. 2.0 2.1 2.2 Jonathan Downes, "The Owl Man", rpr. at Eyewitness Accounts -Mothman, Owlman and the Pterosaur เก็บถาวร 2015-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. "Owlman Of Mawnan". unknown-creatures. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-24. สืบค้นเมื่อ 2010-12-05.
  4. Bord, 1980
  5. "Death Raptor; Lost Tapes". Animal.discovery.com. 2012-08-13. สืบค้นเมื่อ 2016-09-20.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bord, Janet; Bord, Colin (1990). Alien Animals. Granada. (pp135–139, 141)
  • Downes, Jonathan (1997). The Owlman and Others. Corby: Domra Publications. p. 239. ISBN 0-9524417-6-4.
  • McEwan, Graham J. (1986). Mystery Animals of Britain and Ireland. London: Robert Hale. p. 224. ISBN 0-7090-2801-6. (pp150–153)
  • Shuker, Karl (2002) [1996]. The Unexplained. Carlton. (p37)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]