มดคันไฟอิวิคต้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มดคันไฟอิวิคต้า
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Insecta
อันดับ: Hymenoptera
อันดับย่อย: Apocrita
วงศ์ใหญ่: Vespoidea
วงศ์: Formicidae
สกุล: Solenopsis
สปีชีส์: S.  invicta
ชื่อทวินาม
Solenopsis invicta
Buren, 1972
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ
ชื่อพ้อง
  • Solenopsis saevissima wagneri Santschi, 1916

มดคันไฟอิวิคต้า (อังกฤษ: Red imported fire ant) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Solenopsis invicta; invicta เป็นภาษาละตินแปลว่า "ไม่อาจเอาชนะได้"[1]อยู่ในวงศ์ Formicidae

มดคันไฟอิวิคต้า ถูกตีพิมพ์โดยบูเรน(Buren) ในปี ค.ศ. 1972 ซึ่งเป็นชื่อรองหรือ ชื่อตั้งสงวนไว้(nomen protectum) เนื่องจากความจริงแล้วชื่อแรกของมดชนิดนี้ คือ Solenopsis saevissima wagneri ถูกตั้งโดยแซนต์ชิ (Santschi) ในปี ค.ศ. 1916 ซึ่งกลายเป็น ชื่อตั้งที่ไม่นิยม เพราะมีเอกสารมากกว่าพันฉบับที่ตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ มดคันไฟอิวิคต้า ก่อนที่จะมีคนค้นพบว่าเป็นชื่อพ้อง และในปี ค.ศ. 2001 ICZN บังคับให้ มดคันไฟอิวิคต้า เป็นลำดับเหนือกว่า wagneri

ถิ่นอาศัย[แก้]

มดคันไฟอิวิคต้า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าดิบชื้น ชอบสร้างถิ่นอาศัยบริเวณ หมู่เกาะต่างๆที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 550 มิลลิเมตร / ปี ทั้งในสวนป่า ทุ่งหญ้า ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง ชายฝั่งทะเล ไปจนถึงทะเลทราย โดยมักจะสร้างรังเป็นกลุ่มโดยใช้มูลดิน ซึ่งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 เมตร ความสูงประมาณ 4 – 24 นิ้ว และมีจำนวนประชากรประมาณ 500,000 ตัวต่อรัง รังสามารถปกป้องประชากรมดได้ในฤดูหนาว และป้องกันในฤดูร้อน รังทั้งหมดเชื่อมต่อกันเป็นอาณานิคมร่วม โดยมดคันไฟอีวิคต้าจะไม่มีการจำศีล และภายในเป็นอาณาจักรใต้ดินโดยแท้ มีนิเวศวิทยาที่มีทั้งราชินีมดตัวเดียวหรือหลายตัว โดยในบางรังอาจมีราชินีมดได้ถึง 900 ตัว ราชินีมดทำหน้าที่เพียงวางไข่อย่างเดียว ดังนั้นในปีหนึ่ง ๆ อาจมีจำนวนมดคันไฟอีวิคต้าเพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านตัว[1][2]

ประโยชน์[แก้]

มดคันไฟอิวิคต้า เป็นศัตรูสำหรับศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนเจาะต้นอ้อย มวนที่เป็นศัตรูข้าว แมลงหางหนีบ เพลี้ยอ่อน ด้วงงวง หนอนคืบถั่วเหลือง หนอนกินใบฝ้าย ต่อสน เป็นต้น[2]

ผลกระทบต่อมนุษย์[แก้]

มดคันไฟอิวิคต้า มีความก้าวร้าวสูงมาก เวลาที่ต่อยเหล็กในที่เหมือนมีดขนาดใหญ่ จะฉีดพิษกลุ่มอัลลาลอยด์และกรดฟอร์มิกเช่นเดียวกับผึ้งและตัวต่อ ซึ่งทำให้เกิดอาการไหม้และคันอย่างรุนแรง โดยพิษจะออกฤทธิ์อยู่นานหลายชั่วโมงและเกิดเป็นเม็ดตุ่มพอง ซึ่งจะกลายเป็นหนองสีขาว เมื่อตุ่มหนองนี้แตกก็สามารถมีแบคทีเรียเข้าไปทำให้เนื้อเยื่อตาย ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงจะก่อให้เกิดอาการหมดสติและอาจเสียชีวิตได้[2] มดคันไฟอิวิคต้า จู่โจมสัตว์ทุกชนิดไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ มีผู้ถูกโจมตีทุกปี นอกจากนี้แล้วการฉีดพิษเข้าไปในแผงวงจรไฟฟ้าทำให้ระบบต่าง ๆ เช่น ระบบจราจร หรือไฟฟ้าต่าง ๆ เสียหายได้[1]

ผลกระทบต่อการเกษตร[แก้]

มดคันไฟอิวิคต้า เป็นตัวทำลายแมลงพวกผสมเกสร เช่น ผึ้งและกินเมล็ด ใบ ราก เปลือก น้ำหวาน น้ำเลี้ยง เชื้อราและมูลต่างๆ เป็นอาหาร ซึ่งสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเกษตรเป็นวงกว้าง ด้วยการเข้าไปทำลายระบบรากของพืช เช่น ถั่วเหลือง พืชตระกูลส้ม ข้าวโพด กะหล่ำ มันฝรั่ง ถั่วลิสง ทานตะวัน ข้าวฟ่าง มะเขือ ถั่วเขียว เป็นต้น รวมถึงทำลายถิ่นอยู่อาศัยของมดท้องถิ่นด้วย และเป็นพันธมิตรที่ดีกับเพลี้ยอ่อน ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชเพราะต้องการกินน้ำหวานต้นไม้จากตัวเพลี้ยอ่อน ทำให้ช่วยในการปกป้องเพลี้ยอ่อนไปด้วย ทำให้มีการเพิ่มปริมาณของเพลี้ยอ่อน[1][2]

การแพร่กระจาย[แก้]

พื้นที่การแพร่กระจายพันธุ์ในสหรัฐอเมริกา

มดคันไฟอิวิคต้า สามารถปรับตัวและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เช่น สามารถปรับตัวอยู่ได้ในถิ่นที่น้ำท่วม เมื่อพบกับน้ำท่วม มดงานจะใช้ขากรรไกรและขาที่แข็งแรงเกาะเกี่ยวกันเป็นแพและยอมเสียสละชีวิตตัวเองเพื่อให้ตัวอื่นและอาณาจักรที่เหลืออยู่รอด และสามารถลอยไปได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรในน้ำทุกประเภท แพนี้มีความแข็งแรงมากถึงขนาดที่ใช้มือกดไม่แตก แต่หากแพลอยนานเกินไป มดคันไฟอีวิคต้าจะถูกบีบให้กินไข่และตัวอ่อนเพื่อให้อยู่รอด จนกระทั่งกว่าจะถึงฝั่ง[1]

ปัจจุบัน มดคันไฟอิวิคต้าสร้างความเสียหายมากกว่า 320 ล้านเอเค่อร์ใน 12 รัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและเปอร์โตริโก้ ปัจจุบันพบแพร่กระจายไปเกือบทั่วโลก โดยเริ่มขยายพันธุ์เข้ามาในเอเชีย ประมาณปี ค.ศ. 2007 ในไต้หวันและฮ่องกง รวมถึงไทย และมีแนวโนมการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยการติดมากับเรือสินค้าหรือการขนส่งอื่น ๆ[1][2]

ในออสเตรเลีย มีการพบมดคันไฟอีวิคต้าครั้งแรกที่บรินเบนในปี ค.ศ. 2001 โดยพบ 2 จุด คือ ติดมากับเรือขนส่งสินค้า และแจกันวัตถุโบราณ คาดว่าสร้างความเสียหายปีละ 42 พันล้านเหรียญให้กับท้องถิ่น[1]

ศัตรูตามธรรมชาติ[แก้]

แมลงวันซอมบี้ นับเป็นแมลงตัวเบียนที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของมดคันไฟอีวิคต้า โดยแมลงวันซอมบี้จะวางไข่ในช่วงอกของมดคันไฟอีวิคต้า โดยการบินเหนือตัวมดคันไฟอีวิคต้าและฉีดไข่จากปลายก้นที่เป็นติ่งเล็ก ๆ ยิ่งเมื่อได้กลิ่นสารเคมีที่มดคันไฟอีวิคต้าส่งเพื่อหาถึงกันยิ่งเป็นตัวเร่งให้ยิ่งปล่อยไข่ แมลงวันซอมบี้สามารถวางไข่ได้ครั้งละ 200 ฟอง และเมื่อไข่ฟักเป็นหนอน จะควบคุมมดคันไฟอีวิคต้าให้เหมือนซอมบี้ โดยจะควบคุมให้มดไปตายในที่ ๆ ปลอดภัยเพื่อที่หนอนจะได้โผล่ออกมาจากหัวมดได้อย่างปลอดภัย จึงจัดว่าเป็นตัวควบคุมทางชีวภาพอย่างหนึ่ง ปัจจุบันทางการสหรัฐอเมริกามีการศึกษาและใช้แมลงวันซอมบี้เพื่อใช้ควบคุมปริมาณมดคันไฟอีวิคต้า แต่มีข้อจำกัดคือ ใช้ได้เพียงพื้นที่แคบ ๆ และในปัจจุบัน มดคันไฟอีวิคต้าก็มีการป้องกันตนเองจากแมลงวันซอมบี้ได้ดีขึ้นด้วย [1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Fire Ant, "The Conquerors". สารคดีทางแอนิมอลแพลนเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: จันทร์ที่ 6 มกราคม 2556
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "ระวังมดพันธุ์ดุ อิวิคต้า เข้าไทยเร็วๆนี้". ไทยรัฐ. 31 August 2009. สืบค้นเมื่อ 6 January 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Solenopsis invicta ที่วิกิสปีชีส์