ภูมิศาสตร์ภูมิภาค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภูมิศาสตร์ภูมิภาค (อังกฤษ: regional geography) เป็นสาขาหลักของภูมิศาสตร์ที่มุ่งเน้นถึงปฏิสัมพันธ์ในความแตกต่างของปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและธรรมชาติในพื้นที่หรือภูมิทัศน์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวควบคู่กับภูมิศาตร์ระบบที่มุ่งเน้นถึงความเฉพาะของปัจจัยทางภูมิศาสตร์ในระดับโลก

พื้นฐาน[แก้]

ภูมิศาสตร์ภูมิภาคให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะของแต่ละภูมิภาค เช่น องค์ประกอบทางธรรมชาติ องค์ประกอบทางสังคมมนุษย์ และภูมิภาคาภิวัตน์ ซึ่งครอบคลุมเทคนิคในการแบ่งพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค สองเสาหลักของภูมิศาสตร์ภูมิภาคจากรากฐานของขนบธรรมเนียมในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาเยอรมัน ประกอบด้วย การศึกษาเฉพาะกรณีถึงความเป็นปัจเจกของพื้นที่หรือ Länder เช่น สถานที่เฉพาะ ประเทศ หรือทวีป การศึกษาการจำแนกถึงประเภทของพื้นทีหรือภูมิทัศน์หรือ Landschaften เช่น บริเวณชายฝั่ง ภูเขา ชายแดนระหว่างภูมิภาค ฯลฯ

วิธีการ[แก้]

ภูมิศาสตร์ภูมิภาคยังคงเป็นวิธีการหนึ่งในการศึกษาภูมิศาสตร์เช่นเดียวกับภูมิศาสตร์เชิงปริมาณและภูมิศาสตร์เชิงวิพากษ์ วิธีการนี้เกิดขึ้นในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 กระบวนทัศน์ทางภูมิศาสตร์ภูมิภาคเป็นศูนย์กลางของวิทยาการทางภูมิศาสตร์ในสมัยดังกล่าว แต่ได้ถูกวิพากษ์ในภายหลังว่าเป็นเพียงการพรรณาและขาดทฤษฎีรองรับ การวิพากษ์ภูมิศาสตร์ภูมิภาคเกิดขึ้นอย่างรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคริสต์ทศวรรษ 1950 และช่วงของการปฏิวัติเชิงปริมาณโดยมี จี. เอช. ที. คิมเบิล[1] และเฟร็ด เค. แชเฟอร์[2]เป็นผู้นำการวิพากษ์หลัก กระบวนทัศน์ทางภูมิศาสตร์ภูมิภาคส่งผลต่อวิทยาการทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ รวมถึงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจและธรณีสัณฐานวิทยา ภูมิศาสตร์ภูมิภาคยังคงมีการสอนในมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น การศึกษาภูมิภาคสำคัญของโลก เช่น อเมริกาเหนือและละตินอเมริกา ยุโรป เอเชีย และประเทศในภูมิภาคดังกล่าว นอกจากนี้การศึกษาภูมิศาสตร์ด้วยวิธีการของเมืองและภูมิภาคในภายใต้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมืองและชนบทได้รับความเชื่อถือมาตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 นักภูมิศาสตร์บางคนได้พยายามที่จะรื้อฟื้นแนวคิดทางภูมิภาคนิยมขึ้นใหม่ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำนิยามอันซับซ้อนของภูมิภาคและปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบนขอบเขตต่าง ๆ[3]

บุคคลสำคัญ[แก้]

บุคคลสำคัญทางภูมิศาสตร์ภูมิภาคคือ อัลเฟรด เฮทเนอร์จากเยอรมนีซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับภูมิภาคศาสตร์ ปอล วีดาล เดอ ลา บลัชจากฝรั่งเศสซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวคิดความเป็นไปได้นิยม (ความเป็นไปได้นิยมเป็นแนวคิดที่อ่อนกว่านิยัตินิยมทางสิ่งแวดล้อม) และริชาร์ด ฮาร์ตชอร์นจากสหรัฐซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับความแตกต่างเชิงพื้นที่ สำนักคิดของคาร์ล โอ. เซาเออร์ที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากอัลเฟรด เฮทเนอร์ และปอล วีดาล เดอ ลา บลัช ซึ่งมีมุมมองทางภูมิศาสตร์ภูมิภาคที่กว้างที่สุด

อ้างอิง[แก้]

  1. Kimble, G.H.T. (1951): The Inadequacy of the Regional Concept, London Essays in Geography, edd. L.D. Stamp and S.W. Wooldridge, pp. 492-512.
  2. Schaefer, F.K. (1953): Exceptionalism in Geography: A Methodological Examination, Annals of the Association of American Geographers, vol. 43, pp. 226-245.
  3. MacLeod, G. and Jones, M. (2001): Renewing The Geography of Regions, Environment and Planning D, 16(9), pp. 669-695.