ฟักเขียว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟักเขียว
สัณฐานวิทยาของฟักเขียว
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Cucurbitales
วงศ์: Cucurbitaceae
วงศ์ย่อย: Cucurbitoideae
สกุล: Benincasa
สปีชีส์: B.  hispida
ชื่อทวินาม
Benincasa hispida
Thunb.

ฟักเขียว หรือ ฟักแฟง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Benincasa hispida; อังกฤษ: winter melon) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "ฟัก" เป็นผักพื้นบ้านพืชล้มลุกจำพวกไม้เถาตระกูลแตงลำ ใบสีเขียวลักษณะหยักหยาบ ดอกมีสีเหลือง ผลกลมยาวมีนวลขาว ปลูกกันมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ดอกเพศเมีย
ผลแก่ฟักเขียว

ฟักเขียวเป็นพืชอายุสั้น มีลำต้นสีเขียวมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วลำต้น แตกกิ่งก้านสาขามากมาย ใบมีลักษณะเป็นหยักคล้ายฝ่ามือขอบใบแยกออกเป็น 5–7 แฉก ปลายแฉกแหลมใบหยาบเรียงสลับกันตามข้อต้น ใบกว้างประมาณ 5–15 เซนติเมตร มีขนปกคลุม ก้านใบยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีดอกเดี่ยว (Solitary Flower) สีเหลือง ดอกเพศผู้มีลักษณะเป็นหลอดยาว 5–10 เซนติเมตร ปลายดอกแยกออกเป็น 5 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ส่วนดอกเพศเมียก้านดอกจะสั้นกว่าดอกเพศผู้ ปลายดอกแยกออกเป็น 3 แฉก มีรังไข่อยู่ภายในดอก ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมยาวกว้างประมาณ 20–30 เซนติเมตร ยาว 30–60 เซนติเมตร เปลือกแข็งสีเขียวเนื้อในสีขาว เนื้อแน่น ฉ่ำน้ำ มีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมากสีขาวออกเหลือง

การปลูก[แก้]

เมล็ดของฟักเขียว
ภายในของผลแก่

ฟักเขียวขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ปลูกได้ดีในดินร่วนปนทรายโดยการนำเมล็ดที่เตรียมไว้หยอดลงหลุมลึกประมาณ 3–5 เซนติเมตร ประมาณ 2–3 เมล็ด กลบหลุมและรดน้ำสม่ำเสมอทุกวันโดยเฉพาะช่วงติดดอกและผลมิฉะนั้นอาจทำให้ดอกและผลที่ติดหลุดร่วงได้ ในช่วงเวลา 15 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยวควรหยุดการให้น้ำเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วง 35–60 วัน

คุณค่าทางโภชนาการ[แก้]

คนไทยมักนำผลฟักเขียวมาประกอบอาหารในประเภท ต้ม ผัด แกงหรือนำมาทำขนมหวานในเทศกาล เมนูยอดนิยมของฟักเขียวที่รู้จักกันดี คือ แกงจืดฟักต้มกับไก่ แกงเขียวหวานไก่ฟักเขียว แกงเลียง ฟักเขียวผัดกับหมูใส่ไข่ ฟักเชื่อม และยอดอ่อนลวกหรือต้มกะทิรับประทานทานคู่กับน้ำพริก ทั่วโลกนิยมนำผลฟักเขียวมาบริโภคทั้งแบบดิบและสุก เช่น ฟักเขียวดอง แกงเผ็ด หรือกวนแยม ฟักเขียวสามารถบริโภคได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ โดยผลอ่อนรสชาติจะเข้มกว่าผลแก่ มีน้ำมาก ใบอ่อนและตาดอก นำไปนึ่งหรือใส่ในแกงจืดเพิ่มรสชาติ ส่วนเมล็ดอุดมไปด้วยน้ำมันและโปรตีนโดยทำให้สุกสามารถกินได้ แต่มีข้อควรระวังสำหรับคนที่มีปัญหาทางด้านการขับถ่าย และมีอาการแน่นหน้าอก ไม่ควรรับประทาน

  • ตารางคุณค่าทางโภชนาการของฟักต่อผลสด 100 กรัม(g.)
พลังงาน ( Energy ) 13 cal.
โปรตีน ( Protein ) 0.4 g
ไขมัน ( Fat ) 0.2 g
คาร์โบไฮเดรต ( Carbohydrate ) 3 g
ใยอาหาร( Fiber) 0.4 g
แคลเซียม ( Calcium ) 19 mg
ฟอสฟอรัส ( Phosphorus ) 19 mg
ธาตุเหล็ก ( Iron ) 0.4 mg
โซเดียม ( Sodium ) 6 mg
โพแทสเซียม ( Potassium ) 111 mg
วิตามินบี 1 ( Thiamin ) 4 mg
วิตามินบี 2 ( Riboflavin ) 0.11 mg
ไนอะซิน ( Niacin ) 0.4 mg
วิตามินซี ( Vitamin C ) 13 mg

สรรพคุณทางยา[แก้]

  • ใบ – แก้ฟกช้ำ แก้พิษผึ้งต่อย ช่วยรักษาบาดแผล แก้โรคบิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้บวมอักเสบมีหนอง
  • ผล – ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้ธาตุพิการ แก้โลหิตเป็นพิษ บวมน้ำ หลอดลมอักเสบ
  • เมล็ด – ลดไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ไตอักเสบ บำรุงผิว ละลายเสมหะ
  • ราก – แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ ถอนพิษ
  • เถาสด – รสขมเย็น ใช้รักษาริดสีดวงทวาร มีไข้สูง
  • เปลือก – บำบัดอาการบวมน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย แผลบวมอักเสบมีหนอง

การเลือกฟักเขียว[แก้]

วิธีการเลือกฟักเขียว ควรเลือกฟักเขียวที่มีเนื้อแข็ง เพราะจะมีรสหวานและกรอบเมื่อนำมาปรุงอาหาร ลักษณะภายในของฟักเขียวที่ดีนั้นควรจะมีขอบของเนื้อเป็นสีเขียวเข้มแล้วค่อย ๆ จางเป็นสีขาวจนถึงตรงกลาง ฟักเขียวสามารถเก็บรักษาได้นานเป็นเดือนหรือค่อนปีโดยมีแว็กซ์หรือขี้ผึ้งเคลือบภายนอก

ชื่อท้องถิ่น[แก้]

ในประเทศไทยมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างกันไป เช่น

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฟักเขียว