ข้ามไปเนื้อหา

ฟราอันเจลีโก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
“ฟราอันเจลีโก” โดย ลุคา ซินยอเรลลิ

ภราดาทูตสวรรค์ หรือทับศัพท์ว่า ฟราอันเจลีโก (อิตาลี: Fra Angelico) เป็นสมญานามของ ภราดาโจวันนีแห่งฟีเอโซเล ชื่อเกิดคือ กวีโด ดี ปีเอโตร (อิตาลี: Guido di Pietro) (เกิดราวค.ศ. 1395 - 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1455) เป็นจิตรกรสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้นคนสำคัญของประเทศอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพสีฝุ่นบนไม้ และการเขียนจิตรกรรมฝาผนัง เป็นผู้ที่จอร์โจ วาซารีกล่าวถึงในหนังสือ“ชีวิตศิลปิน” ว่ามีความสามารถพิเศษที่หายาก[1]

ในประเทศอิตาลีฟราอันเจลีโกเป็นที่รู้จักกันในนาม “il Beato Angelico” ในหนังสือ “ชีวิตศิลปิน” ของจอร์โจ วาซารีที่เขียนก่อนปี ค.ศ. 1555 ฟราอันเจลีโกก็เป็นที่รู้จักกันแล้วในนาม “ภราดาโจวันนีทูตสวรรค์” (Fra Giovanni Angelico) [2]

ภายในชั่วชีวิตของฟราอันเจลีโกหรือไม่นานหลังจากเสียชีวิต ฟราอันเจลีโกก็ถูกเรียกว่า “Il Beato” (ท่านบุญราศี) ซึ่งเป็นการยกย่องในความสามารถในการเขียนภาพทางศาสนา[3] ในปี ค.ศ. 1982 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงเสนอแต่งตั้งให้ฟราอันเจลีโกเป็นบุญราศี[4] จึงทำให้ฉายากลายเป็นทางการ บางครั้งคำว่า “ฟีโอโซเล” ก็เข้าใจผิดกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของชื่อแต่ความจริงแล้วฟีโอโซเลเป็นเมืองที่ฟราอันเจลีโกปฏิญานตนเป็นไฟรอาร์คณะดอมินิกัน การใช้ “ฟีเอโซเล” ต่อท้ายชื่อก็เพื่อแสดงความแตกต่างจากภราดาจอห์นอีกคนหนึ่ง ชื่อของฟราอันเจลีโกปรากฏในหนังสือ “มรณสักขีวิทยาโรมัน” (Roman Martyrology) [5] ว่า “Beatus Ioannes Faesulanus, cognomento Angelicus” หรือ “บุญราศีจอห์นแห่งฟีเอโซเล ชื่อเล่น อันเจลีโก”

เบื้องต้น ค.ศ. 1395–ค.ศ. 1436

[แก้]

ชื่อเมื่อแรกเกิดของฟราอันเจลีโกคือกวีโด ดี ปีเอโตร แห่งรูเปกานีนา[6] ในทัสกานีในบริเวณมูเกลโลใกล้ ฟิโอโซเลราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 และเสียชีวิตที่กรุงโรมในปี ค.ศ. 1455 ไม่มีหลักฐานว่าบิดามารดาเป็นใคร ฟราอันเจลีโกรับศีลล้างบาปในชื่อกวีโดหรือกูโดลีโน เอกสารแรกที่กล่าวถึงฟราอันเจลิโคลงวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1417 เมื่อเข้าเป็นสมาชิกของภราดรภาพที่คาร์มิเนแต่ยังใช้ชื่อเดิม หลักฐานบ่งว่าขณะนั้นก็เป็นช่างเขียนแล้วซึ่งสนับสนุนโดยบันทึกค่าจ้างสำหรับงานสองชิ้นแก่กุยโด ดิ เปียโตรในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1418 สำหรับงานที่ทำให้วัดซานโต สเตฟาโน เดล ปอนเต[7] หลักฐานแรกที่กล่าวถึงฟราอันเจลีโกในฐานะที่เป็นไฟรอาร์ลงวันที่ ค.ศ. 1423 เมื่อถูกกล่าวถึงในนามฟราโจวันนี ที่เป็นชื่อที่เปลี่ยนใหม่ตามธรรมเนียมหลังจากเข้าคณะนักบวชคาทอลิก[8]

ฟราอันเจลีโกเริ่มการฝึกด้วยการเรียนการเขียนภาพในเอกสารตัวเขียนสีวิจิตรและอาจจะทำงานกับภราดาเบเนเดตโตที่เป็นไฟรอาร์ดอมินิกันซึ่งอาวุโสกว่า แต่เราไม่ทราบชื่อผู้ฝึก ซันมาร์โกที่ฟลอเรนซ์เป็นเจ้าของต้นฉบับหลายเล่มที่เชื่อกันว่าเขียนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยฟราอันเจลีโก จิตรกรโลเรนโซ โมนาโก (Lorenzo Monaco) อาจจะมีส่วนในการฝึกเพราะงานมีอิทธิพลบางส่วนมาจากสกุลศิลปะซีเอนา ตามคำกล่าวของวาซารี งานเขียนชิ้นแรกๆ ของฟราอันเจลีโกเป็นงานแท่นบูชาและงานเขียนฉากประดับแท่นบูชาสำหรับอารามคณะคาร์ทูเซียน (Carthusian) แห่งฟลอเรนซ์ แต่งานนั้นสูญหายไปแล้ว[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Giorgio Vasari, Lives of the Artists. first published 1568. Penguin Classics, 1965.
  2. การตั้งฉายาเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เช่น ริชาร์ดใจสิงห์
  3. อันเดรอา เดล ซาร์โต ราฟาเอล และ มีเกลันเจโลก็ได้รับชื่อ “Beato” จากผู้ร่วมสมัยเพราะเหมือนมีความสามารถที่เป็นพรสวรรค์จากพระเจ้า
  4. Bunson, Matthew (1999). John Paul II's Book of Saints. Our Sunday Visitor. pp. 156. ISBN 0879739347. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  5. Roman Martyrology—a work which includes all Saints and Blesseds recognised by the Roman Catholic Church
  6. "Commune di Vicchio (Firenze), La terra natale di Giotto e del Beato Angelico". zoomedia. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
  7. Werner Cohn, Il Beato Angelico e Battista di Biagio Sanguigni. Revista d’Arte, V, (1955) : 207–221.
  8. Stefano Orlandi, Beato Angelico; Monographia Storica della Vita e delle Opere con Un’Appendice di Nuovi Documenti Inediti. Florence: Leo S. Olschki Editore, 1964.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

สมุดภาพ

[แก้]