พราหโมสมาช
พราหโมสมาช (อักษรโรมัน: Brahmo Samaj; เบงกอล: ব্রাহ্ম সমাজ Bramho Shômaj) หมายถึงสมาคมเพื่อการบูชาพระเจ้าอย่างแท้จริง เป็นสมาคมของผู้นับถือศาสนาฮินดู จัดตั้งขึ้นที่กัลกัตตาเมื่อ พ.ศ. 2386 โดยเทเพนทรนาถ ฐากุร เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวฮินดูในเบงกอลเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และนำอุดมการณ์ปฏิรูปศาสนาฮินดูของราม โมหัน รอยมาทำให้เป็นจริง ต่อมา ใน พ.ศ. 2393 ฐากุรได้สร้างกฏพราหโมธรรมขึ้นเป็นหลักธรรมของศาสนาฮินดูยุคใหม่ ผลงานเด่นของสมาคมนี้คือผลักดันจนมีกฎหมายรับรองการสมรสของหญิงหม้ายและการสมรสต่างวรรณะใน พ.ศ. 2415 รวมทั้งการห้ามมีภรรยาหลายคน
ผู้มีบทบาทมากในพราหโมสมาชได้แก่ ราชนารายณ์ โภสที่ได้ระบุคัมภีร์ฮินดูที่เป็นไปตามหลักพราหโมธรรม เช่น พระเวท อุปนิษัท และภควัทคีตา ตั้งแต่ พ.ศ. 2421 เป็นต้นมา สมาคมได้เริ่มให้การศึกษาแก่สตรี การตั้งโรงเรียนภาคค่ำสอนกรรมกรและชาวนาในพ.ศ. 2413 พิมพ์หนังสือภาษาพื้นเมืองราคาถูกใน พ.ศ. 2414 ตั้งธนาคารออมทรัพย์เพื่อกรรมกรใน พ.ศ. 2415 ตั้งคณะอุทิศตนเพื่อยกฐานะของคนวรรณะต่ำและนอกวรรณะใน พ.ศ. 2449
หลักการสำคัญของสมาคมคือเชื่อมั่นในพระเจ้าองค์เดียวที่เรียกว่าพรหม ไม่นับถือเทวรูปหรืออวตารใด ๆ ฐากุรเองได้วางหลักความเชื่อของพราหโมสมาชไว้ 15 ข้อ เมื่อ พ.ศ. 2432 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักการที่มาจากอุปนิษัทและภควัตคีตา วัตถุประสงค์ขององค์กรนี้ เริ่มแรกนั้นเพื่อฟื้นฟูศาสนาในเบงกอล แต่ต่อมาก็ได้แพร่หลายออกไปนอกแคว้นเบงกอลและมีการแตกแยกไปหลายแนว ใน พ.ศ. 2409 ซึ่งเป็นความเห็นต่างในประเด็นที่ฐากุรยอมให้มีการสวมสายยัชโญปวีตแต่เกศพจันทระ เสนไม่เห็นด้วยจึงแยกออกมาตั้งพราหโมสมาชแห่งอินเดียที่มีความคิดหัวรุนแรงกว่า
ต่อมา ใน พ.ศ. 2421 กุศพจันทระ เสน ยอมให้บุตรสาวของตนแต่งงานเมื่ออายุ 13 ปีซึ่งผิดหลักการของพราหโมสมาช ศิษย์ของเขาจึงแยกมาตั้งองค์กรใหม่เรียกว่าสาธาริณพราหโมสมาช พราหโมสมาชรุ่งเรืองมากในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2473 สมาคมนี้เป็นรากฐานให้กับลัทธิฮินดูสมัยใหม่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสมาคมอารยสมาช
ผู้เกี่ยวข้องกับพราหโมสมาช
[แก้]-
เกศพจันทระ เสน ผู้ก่อตั้งพราหโมสมาชแห่งอินเดียที่มีแนวคิดที่จะรวมแนวคิดของศาสนาคริสต์เข้ากับศาสนาฮินดู
อ้างอิง
[แก้]- ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์. พราหโมสมาช ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 514 – 418