พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาซีเฉียว
พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาซีเฉียว 西樵山南海观音 | |
---|---|
ชื่อสามัญ | พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งทะเลใต้ |
ประเภท | รูปปั้นพระโพธิสัตว์ |
ศิลปะ | ปางประทานพร ท่านั่ง ศิลปะจีน หมวดพระโพธิสัตว์กวนอิม |
ความสูง | 61.9 เมตร (ไม่รวมฐาน) |
วัสดุ | สำริด |
สถานที่ประดิษฐาน | ฝัวชาน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน |
ความสำคัญ | รูปพระโพธิสัตว์กวนอิมขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศจีน |
หมายเหตุ | การเดินทางขึ้นเขาด้วยรถกอล์ฟ รถยนต์ และการเดินเท้า[1] |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา |
พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาซีเฉียว หรือ พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งทะเลใต้ เป็นประติมากรรมแบบจีนรูปพระโพธิสัตว์กวนอิม ขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศจีนมีความสูงประมาณ 77 เมตร (รวมฐาน) ตั้งอยู่บนหนึ่งใน 72 ยอดเนินของเขาซีเฉียว เขตหนานไห่ เมืองฝัวชาน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน
โครงสร้าง
[แก้]รูปประติมากรรมพระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาซีเฉียวแบบท่านั่ง ปางประทานพร การก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2541 สร้างจากทองสำริด[2] สูง 61.9 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสูงบัวหงาย 15 เมตร รอบพระที่นั่งมีกลีบดอกบัว 60 กลีบ ความสูงทั้งหมด 77 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 36 เมตร ในปี พ.ศ. 2562 เป็นรูปปั้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 24 ของโลก[3] และเป็นรูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมท่านั่งที่สูงที่สุดในโลก[3][4] ตั้งอยู่บนยอดต้าเซียน ที่ระดับความสูง 292 เมตร[3]
ประดิษฐานบนอาคารทรงบัวแปดกลีบ ด้านนอกเป็นภาพนูนต่ำประวัติพระโพธิสัตว์กวนอิม ใต้พระที่นั่งดอกบัวมีห้องโถงกว้างขวางสูงห้าชั้น จัดตั้งหอนิทรรศการพิพิธภัณฑ์และห้องโถงนิทรรศการแสดงภาพวาด ประติมากรรม งานปัก งานเขียน ภาพวาด ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเจ้าแม่กวนอิม รูปปั้น และเครื่องเคลือบดินเผา ด้านหน้าของเนินเขาซีเฉียวเป็นบันไดหิน ประดับด้วยภาพสลักขนาดใหญ่ เป็นช่วง ๆ[3]
ประวัติ
[แก้]เขาซีเฉียวเป็นภูเขาไฟโบราณที่สงบแล้ว ตั้งอยู่ในเขตหนานไห่ เมืองฝัวชาน ตามประวัติเขาซีเฉียวเป็นแหล่งผลิตหลักของเครื่องมือหินในยุคหินใหม่สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตปากแม่น้ำจู ด้วยประวัติศาสตร์กว่า 6,000 ปี ทำให้เขาซีเฉียวเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองฝัวชาน โดยมีชื่อเรียก "ประภาคารแห่งอารยธรรมภูมิภาคปากแม่น้ำจู"[5] เขาซีเฉียวยังถูกขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานแห่งชาติและอุทยานธรณีแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 14 ตารางกิโลเมตร (5.4 ตารางไมล์) มียอดเขาทั้งหมด 72 ยอด โดยสูงสุดคือยอดเขาต้าเฉิง สูง 346 เมตร (1,135 ฟุต)[5]
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาซีเฉียว วางรากฐานในวันที่ 19 เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติในปี พ.ศ. 2538 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้ประชาชนทั่วไปในวันที่ 19 เดือน 2 ตามปฏิทินจันทรคติในปี พ.ศ. 2541[6] พื้นที่ชมทัศนียภาพครอบคลุมพื้นที่ 2 ล้านตารางเมตร[3]
ชื่อ "พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งทะเลใต้" คำว่า ทะเลใต้ หมายถึง ดินแดนทางตอนใต้ที่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย (ทะเลใต้) ที่เชื่อกันว่าเป็นที่พำนักของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ขณะทรงบรรลุพระโพธิญาณ ซึ่งมีผู้ตั้งข้อเสนอว่าเป็นเขาโปลตาลกะดั้งเดิม ในรัฐทมิฬนาฑู ในประเทศอินเดีย[3] และยังเกี่ยวข้องกับชื่อเขาโปลตาลกะที่ยืมมาใช้ในประเทศจีน คือ เขาผู่ถัว และเขาหลัวเจีย (เกาะในมณฑลเจ้อเจียง)
เขตพื้นที่บริเวณที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาซีเฉียวและสวนโดยรอบ ได้รับการรับรองว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการจัดอันดับ AAAAA ของประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ. 2555[7]
ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ออกเป็น 10 ส่วน ได้แก่ สวนวัฒนธรรมพระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งทะเลใต้ (หนานไห่กฺวานยิน) ซึ่งมีรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาซีเฉียว ถ้ำไป๋ยฺหวิน สวนเทียนหู ถ้ำปี้ยฺวี หินชุ่ยหยาน หินฉื่อหยาน หินเก้ามังกร และอื่น ๆ [5]
-
บันไดหินประดับด้วยภาพสลักขนาดใหญ่
-
ตั้งอยู่บนยอดต้าเซียน (大仙)หนึ่งใน 72 ยอดเนินของเขาซีเฉียว
ที่ตั้ง
[แก้]พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาซีเฉียว ตะวันตกเฉียงใต้ของเขตหนานไห่ ฝัวชาน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ห่างจากนครกว่างโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ 68 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 1 ชั่วโมง[5]
การคมนาคมภายในบริเวณอุทยานเชื่อมต่อกันด้วยรถชัตเทิลบัสขนาดเล็ก ซึ่งสามารถพานักท่องเที่ยวขึ้นไปบนยอดเขาได้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าชมได้[5]
ดูเพิ่ม
[แก้]- พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งเขาผู่ถัว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน
- พระโพธิสัตว์กวนอิมแห่งหนานชาน มณฑลไหหลำ ประเทศจีน
- พระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือแห่งเหวย์ชาน มณฑลหูหนาน ประเทศจีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ท่องฝอซาน เยี่ยมบ้าน หวงเฟยหง แล้วเลยไปนมัสการเจ้าแม่กวนอิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก". oknation.nationtv.tv.
- ↑ "8 สถานที่สุดฟินในฝอซาน". GOOD TIME EDUCATION (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 南海观音. Baidu Baike. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2564.
- ↑ "Buddha Statues in China: The Tallest or Largest Famous Buddha Statues". www.topchinatravel.com.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "Xiqiao Mountain in Nanhai of Foshan: Opening Hour, Location". www.topchinatravel.com.
- ↑ Ctr, Rajesh (2009-07-05). "Hill Temples: Guanyin of Mount Xiqiao". Hill Temples.
- ↑ "西樵山-佛山市南海区西樵山旅游指南[组图]". www.bytravel.cn.