พระวีราเถรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวีราเถรี
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่บวชวัดราชการาม เมืองสาวัตถี อาณาจักรโกศล
ฐานะเดิม
ชาวเมืองกบิลพัสดุ์[1]
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
เหล่าภิกษุและภิกษุณี ณ เบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระบรมศาสดา

วีรา (บางแห่งสะกดผิดเป็น ธีรา)[2] เป็นภิกษุณียุคพุทธกาลที่ปรากฏนามใน เถรีคาถา[3] ถือเป็นนักพรตหญิงในศาสนาพุทธเพียงไม่กี่คนที่ปรากฏบทบาทมาตั้งแต่ครั้งยังบรรพชาเป็นสามเณรี[4]

ประวัติ[แก้]

ธีราเถรีคาถา ระบุว่าวีรามีพื้นเพเดิมเป็นชาวเมืองกบิลพัสดุ์[1] และ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ให้ข้อมูลว่าวีราเป็นสามเณรีผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเมื่ออายุ 7 ขวบ[4] โดยในเรื่อง ยมกปาฏิหาริย์ ว่าด้วยการแสดงปาฎิหาริย์เพื่อช่วงชิงศาสนิกระหว่างศาสนาเชนกับศาสนาพุทธ พุทธสาวกอาสาแสดงปาฏิหาริย์แทนพระบรมศาสดา หนึ่งในนั้นมีสามเณรีวีราวัย 7 ขวบ ถวายบังคมพระบรมศาสดาและกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า หม่อมฉันจักทำปาฏิหาริย์" สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า "วีรา เธอจักทำอย่างไร ?" สามเณรีวีราตอบว่า "พระเจ้าข้า หม่อมฉันจักนำภูเขาสิเนรุ ภูเขาจักรวาล และภูเขาหิมพานต์ตั้งเรียงไว้ในที่นี้ แล้วจักออกจากภูเขานั้น ๆ ไปไม่ขัดข้องดุจนางหงส์ มหาชนเห็นหม่อมฉันแล้วจักถามว่า 'นั่นใคร ?' แล้วจักกล่าวว่า 'วีราสามเณรี พวกเดียรถีย์คิดกันว่า อานุภาพของสามเณรีผู้มีอายุ 7 ขวบ ยังถึงเพียงนี้ก่อน อานุภาพของพระพุทธเจ้าจักเป็นเช่นไร ?' ยังไม่ทันเห็นพระองค์เลยก็จักหนีไป เบื้องหน้าแต่นี้ไป พึงทราบคำเห็นปานนี้ โดยทำนองดังที่กล่าวแล้วนั่นแล" อย่างไรก็ตามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับสามเณรีวีราว่า "เราทราบอานุภาพของเธอ" และไม่ทรงอนุญาตให้สามเณรีวีราแสดงปาฏิหาริย์[4]

วีราปรากฏอีกครั้งในฐานะภิกษุณีใน เถรีคาถา ซึ่งให้ข้อมูลว่าวีรารู้แจ้งจากการรับโอวาทจากพระบรมศาสดา ขวนขวายวิปัสสนา จนบรรลุพระอรหัตผล[1] โดยมี "วีราเถรีคาถา" อันเป็นอุทานธรรมของวีรา ความว่า[5]

วีรา วีเรหิ ธมฺเมหิ ภิกฺขุนี ภาวิตินฺทฺริยา
ธาเรติ อนฺติมํ เทหํ เชตฺวา มารํ สวาหินินฺ”ติฯ

แปลความได้ว่า "วีราภิกษุณีผู้มีอินทรีย์ อบรมด้วยวีรธรรมทั้งหลาย ชนะมารพร้อมด้วยพาหนะ ทรงไว้ซึ่งกายอันมีในที่สุด"[1] และอธิบายขยายความเพิ่มเติมว่า "วีราภิกษุณีผู้อบรมอินทรีย์ คือมีอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นอันตนให้เจริญแล้ว ด้วยวีรธรรมทั้งหลาย คือด้วยธรรมคืออริยมรรคอันสมบูรณ์ด้วยเดช ด้วยความเป็นผู้มีปธานคือความเพียร ชนะกิเลสมารพร้อมด้วยพาหนะกับด้วยวัตถุกามทั้งหลาย ทรงไว้ซึ่งกายอันมีในที่สุด เพราะไม่เกิดอีกต่อไป พระเถรีแสดงตนทำเป็นเหมือนคนอื่น ด้วยประการฉะนี้"[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "ธีราเถรีคาถา". อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกกนิบาต. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ สุตฺต. ขุ. วิมานวตฺถุ-เปตวตฺถุ-เถรคาถา-เถรีคาถา". พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ ภาษาบาลี อักษรไทย. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. สมิทธิพล เนตรนิมิตร, ผศ. ดร. (21 ธันวาคม 2558). "ภิกษุณีกับการพัฒนาศักยภาพสตรีในพระพุทธศาสนา". มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 "เรื่องยมกปาฏิหาริย์". อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "วีราเถรีคาถา". Sutta Central. สืบค้นเมื่อ 10 ธันวาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)