พระยารำไพพงษ์บริพัตร (จิตร บุนนาค)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยารำไพพงษ์บริพัตร
เกิด19 กันยายน พ.ศ. 2407
เสียชีวิต6 มีนาคม พ.ศ. 2470 (62 ปี)
บิดามารดา

มหาอำมาตย์ตรี พระยารำไพพงษ์บริพัตร (จิตร บุนนาค) (19 กันยายน 2407 – 6 มีนาคม 2470) เป็นขุนนางชาวไทย ในตำแหน่งนายช่างเอก ในกรมรถไฟหลวง กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม

ประวัติ[แก้]

พระยารำไพพงษ์บริพัตรเกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2407 ในปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรชายของ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) และนางเจียม อนุภรรยา เป็นหลานปู่ของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หลานตาของ พระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (แย้ม สินสุข) เจ้ากรมใน สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นหลานลุงของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2420 ขณะอายุได้ 13 ปี ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีเป็นเวลา 13 ปี จึงได้เดินทางกลับสยามเมื่อปี พ.ศ. 2433 ขณะอายุได้ 26 ปีได้เข้ามาเป็นมหาดเล็กเวรสิทธิ์และรับราชการในตำแหน่งล่ามประจำกรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน) ซึ่งนายจิตรได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดพิชยญาติการาม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2433[1] (นับแบบสากลปัจจุบันคือ 2434) เป็นเวลา 1 พรรษา จากนั้นจึงได้โอนย้ายมารับราชการในกรมรถไฟ ในตำแหน่งนายช่างผู้ช่วย กระทั่งปี พ.ศ. 2437 จึงได้เลื่อนเป็นนายช่างภาค หรือ section engineer

กระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 นายจิตรจึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น หลวงรำไพพงษ์บริพัตร ถือศักดินา ๖๐๐[2] จากนั้นในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2448 ระหว่างที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดเส้นทางรถไฟสายเหนือที่สถานีบ้านภาชี ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เลื่อน หลวงรำไพพงษ์บริพัตร เป็นพระในราชทินนามเดิมถือศักดินา ๘๐๐[3]

กระทั่งวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ซึ่งตรงกับต้นรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศให้ พระรำไพพงษ์บริพัตร ประจำกรมรถไฟ กระทรวงโยธาธิการ เป็นอำมาตย์ตรี[4] จากนั้นในปี พ.ศ. 2455 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น นายช่างด้าน ต่อมาในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2456 ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศให้เป็น อำมาตย์โท[5] ต่อมาในวันที่ 29 สิงหาคม 2458 ได้เลื่อนยศขึ้นเป็น อำมาตย์เอก พระรำไพพงษ์บริพัตร[6]

ในวันที่ 21 ธันวาคม 2459 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาในนามเดิม ถือศักดินา 1000[7] โดยโปรดเกล้าฯ ให้ส่งสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ไปพระราชทานเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2460[8] จากนั้นในวันที่ 27 ธันวาคม 2465 ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น มหาอำมาตย์ตรี พระยารำไพพงษ์บริพัตร[9]

มหาอำมาตย์ตรี พระยารำไพพงษ์บริพัตร ถึงแก่อนิจกรรมด้วยไข้พิษเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2470 สิริอายุได้ 63 ปี เวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพมีประโคมกลองชนะ ๘ จ่าปี่ ๑ พระราชทานหีบทองลายองุ่น ตั้งบนชั้น ๒ ชั้น ฉัตรเบญจา ๔ คันเป็นเกียรติยศ[10]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ข้าราชการกราบถวายบังคมลาบวช
  2. พระราชทานสัญญาบัตร
  3. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการกระทรวงโยธาธิการ (หน้า ๑๐๓๐)
  5. พระราชทานยศ
  6. พระราชทานยศพลเรือน (หน้า 1155)
  7. พระราชทานบรรดาศักดิ์
  8. ส่งสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ไปพระราชทาน
  9. พระราชทานยศ (หน้า 2924)
  10. ข่าวตาย
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๕๕๓, ๑ มกราคม ๒๔๖๗
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๑๒, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๙
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๐๓, ๑๑ ธันวาคม ๒๔๖๔
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา, เล่ม ๑๔ ตอนที่ ๔๔ หน้า ๗๕๕, ๓๐ มกราคม ๑๑๖
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเหรียญจักรพรรดิมาลาไปพระราชทาน, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๘๒, ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๖๔