ข้ามไปเนื้อหา

พระยาราชมานู (ถั่ว อัศวเสนา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาราชมานู
เกิดมีนาคม 2422
ถึงแก่กรรม21 เมษายน 2475
สาเหตุเสียชีวิตโรคไต
ภรรยาเอกคุณหญิงราชมานู (ม.ล. เล็ก กุญชร)
บุตร4
บิดามารดา
  • เปีย อัศวเสนา (บิดา)

นายพลเสือป่า พระตำรวจโท พระยาราชมานู (ถั่ว อัศวเสนา) (มีนาคม 2421 – 21 เมษายน 2475)[1] เป็นอดีตขุนนางชาวไทย เป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 6 อดีตสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์, อดีตผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์, อดีตราชองครักษ์พิเศษ, อดีตผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์, อดีตผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์

ประวัติ

[แก้]

พระตำรวจโท พระยาราชมานู เกิดเมื่อเดือนมีนาคม 2421 (นับแบบสากล 2422 แต่ในราชกิจจานุเบกษาซึ่งลงประวัติของท่านช่วงวันที่เกิดเลือนลางจนมิสามารถระบุได้) เป็นบุตรชายของนายเปีย อัศวเสนา จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก (ปัจจุบันคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับ คุณหญิงราชมานู (ม.ล. เล็ก กุญชร) นักร้องผู้บันทึกเสียงเพลง เพลงตับพระนาละ ธิดาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) ที่เกิดแต่ หม่อมเจริญ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดงานพิธีมงคลสมรสพระราชทานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2466 (นับแบบสากล 2467) มีบุตรธิดารวม 4 คน[2]

พระตำรวจโท พระยาราชมานู ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคไตเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2475 โปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองลายสลักประกอบศพ ชั้นรองหีบ 2 ชั้น ฉัตรเบญจาตั้ง 4 คัน ระหว่างพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ประโคมกลองชนะเขียว 8 จ่าปี่ 1 เป็นเกียรติยศ

รับราชการ

[แก้]

พระยาราชมานูเริ่มต้นรับราชการเป็น ว่าที่นายร้อยตรี ประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อปี 2441 ครั้นถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2442 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้ท่านเป็น นายร้อยตรี[3] จากนั้นในปีถัดมาคือปี 2443 ได้เป็นว่าที่นายร้อยโท ประจำกรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ ในปี 2444 ได้เป็นนายร้อยโท รักษาราชการแทนผู้บังคับกองร้อย กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์[4] ต่อมาในวันที่ 18 มิถุนายน 2445 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศเป็น นายร้อยเอก[5]

ในปีถัดมาคือในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2446 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น นายร้อยเอก หลวงอาจสรศิลป์ ปลัดกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ถือศักดินา 800[6] แทนร้อยเอกหลวงอาจสรศิลป์คนเก่าที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ถอดยศบรรดาศักดิ์และออกจากราชการเนื่องจากประพฤติตนไม่เหมาะสมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2445[7] ในปี 2447 ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4 ต่อมาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2448 ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศเป็น นายพันตรี หลวงอาจสรศิลป์[8] จากนั้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2451 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์ประจำการโดยพ้นจากตำแหน่ง ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4 และให้ไปประจำพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร[9]

ในวันที่ 10 มิถุนายน 2452 ระหว่างการเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ท่านได้เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศเป็น นายพันโท หลวงอาจสรศิลป์[10] ต่อมาระหว่างงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2453 ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระราญรอนอริราช ถือศักดินา 1000[11] จากนั้นอีก 5 วันคือในวันที่ 7 มกราคม ท่านพ้นจากตำแหน่งราชองครักษ์ประจำการ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ แทนที่ นายพันโท พระพหลหาญศึก ที่ขยับไปดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยจเรทหารม้า นอกจากนี้ท่านยังได้เลื่อนเป็นราชองครักษ์พิเศษ[12]

ในระหว่างการถือน้ำพิเศษของกองเสือป่าเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรกองเสือป่าเป็น นายกองตรี พร้อมกับรับตำแหน่งนายเวรในกองเสือป่า[13] ต่อมาในวันที่ 17 มิถุนายน 2454 ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรกองเสือป่าเลื่อนเป็น นายกองโท[14] จากนั้นในวันที่ 30 กันยายน 2454 ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรกองเสือป่าเป็น นายกองเอก[15]

ต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์ โดยพ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 1 (รักษาพระองค์) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2454[16] และผู้ช่วยสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ กระทั่งวันที่ 10 สิงหาคม 2455 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศให้ท่านเป็น ขุนตำรวจเอก[17] จากนั้นในวันที่ 9 กันยายน ศกเดียวกัน ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พันโท ขุนตำรวจเอก นายกองเอก พระยาราชมานู ถือศักดินา 3000[18] ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2455 (นับแบบสากลปัจจุบัน 2456) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท่านพ้นจากตำแหน่งผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์ ออกจากราชการทหารบก เพื่อโอนย้ายไปรับราชการที่กรมพระตำรวจ[19]

จากนั้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2456 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศเป็น พระตำรวจตรี[20] ในวันที่ 14 มกราคม 2458 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศนายเสือป่าให้ท่านเป็น นายพลเสือป่า[21] ต่อมาในวันที่ 4 เมษายน 2460 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านเป็นองคมนตรี[22] ในปีถัดมาคือในวันที่ 2 ธันวาคม 2461 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศท่านขึ้นเป็น พระตำรวจโท[23]

ตำแหน่ง

[แก้]
  • 9 มกราคม 2458 – จเรเสือป่า[24]
  • 5 มิถุนายน 2462 – ตุลาการศาลรับสั่งกระทรวงวัง[25]
  • – ผู้ช่วยนายกเสือป่า

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ข่าวตาย (หน้า 369)
  2. เพลง ตับพระนาละ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 ก่อนเสวยราชย์ มีอายุกว่า 100 ปีที่เกือบจะสูญ
  3. พระราชทานสัญญาบัตรทหาร
  4. ส่งสัญญาบัตรทหารไปพระราชทาน (หน้า 97)
  5. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  6. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  7. แจ้งความกรมยุทธนาธิการ
  8. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  9. แจ้งความกรมยุทธนาธิการ
  10. พระราชทานสัญญาบัตรทหารบก
  11. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง (หน้า 2391)
  12. แจ้งความกระทรวงกลาโหม
  13. พระราชทานสัญญาบัตรกองเสือป่า
  14. พระราชทานสัญญาบัตรกองเสือป่า
  15. พระราชทานสัญญาบัตรกองเสือป่า
  16. แจ้งความกระทรวงกลาโหม[ลิงก์เสีย]
  17. แจ้งความกระทรวงวัง พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้นายพันโท พระราญรอนอริราช ผู้ช่วยสมุหพระตำรวจ แต่งเครื่องแต่งตัวกรมพระตำรวจ
  18. พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  19. แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ย้ายตำแหน่งหน้าที่ราชการ
  20. แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ตั้งและเลื่อนยศ
  21. พระราชทานยศนายเสือป่า
  22. รายพระนามและนามผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นองคมนตรี พ.ศ. 2460
  23. ประกาศเลื่อนยศ ข้าราชการกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์
  24. พระบรมราชโองการตั้งตำแหน่งจเรเสือป่าและที่ปรึกษาเสนาธิการเสือป่า
  25. ประกาศตั้งตุลาการศาลรับสั่งกระทรวงวัง
  26. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๗๑๐, ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓
  27. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๐๖, ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๖๒
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๓๑, ๒๖ มกราคม ๒๔๖๑
  29. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตราวชิรมาลา, เล่ม ๒๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๕๘๙, ๙ มิถุนายน ๑๓๑
  30. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรมาลา, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๕๒, ๑๔ มกราคม ๑๓๐
  31. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๔๐, ๒ พฤษภาคม ๒๔๖๙
  32. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๓๘๔, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
  33. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิ, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๗๑๖, ๙ กรกฎาคม ๑๓๐