ข้ามไปเนื้อหา

พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตฺโต)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระมงคลกิตติธาดา

(อมร เขมจิตฺโต)
ส่วนบุคคล
เกิด2 มกราคม พ.ศ. 2475 (78 ปี)
มรณภาพ23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
นิกายมหานิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 6 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ อุบลราชธานี
อุปสมบทพ.ศ. 2494
พรรษา59
ตำแหน่งอดีตเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ

พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต) (2 มกราคม 2475 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวก (ธรรมชาน์) และเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี พระผู้เปี่ยมด้วยเมตตาและศิษยานุศิษย์ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ท่านเป็นพระปฏิบัติด้านวิปัสสนากรรมฐาน โดยเป็นลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ชาติกำเนิด

[แก้]

เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2475 นับแบบใหม่ (ตรงกับวันจันทร์แรม 11 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะแม) ที่บ้านหนองขุ่น ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี [1][2] บิดาชื่อนายหลอด บุตรศรี มารดาชื่อ นางกว้าง บุตรศรี มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน เป็นบุตรคนที่ 2

ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์

[แก้]

หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านหนองขุ่นขณะที่มีอายุได้ 13 ปี ก่อนจะบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดหนองขุ่น บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดหนองขุ่น ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2487 โดยมีพระครูอัครธรรมวิจารณ์ (เลิศ ฉนโน) เจ้าอาวาสวัดหนองหลัก เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาสามเณรอมร บุตรศรีก็ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนโดยสามารถสอบได้นักธรรมตรีได้ในปีแรกที่บรรพชา และสอบได้นักธรรมโทในอีก 2 ปีถัดมา หลังจากนั้นท่านเริ่มมีความคิดอยากจะไปศึกษาต่อในตัวเมืองอุบลราชธานี แต่พระอุปัชฌาย์แนะให้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ โดยฝากให้ไปอยู่กับท่านเจ้าคุณปริยัติยานุรักษ์ ที่วัดทองนพคุณ คณะ 10 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร โดยสามเณรอมร บุตรศรีก็เดินทางเข้ามาศึกษาบาลีไวยากรณ์ต่อที่วัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร ในปีพ.ศ. 2491 ท่านมีความอุตสาหวิริยะจนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค (ได้คะแนนเต็มทุกวิชา) และสอบได้นักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ. 2494 ขณะที่ยังเป็นสามเณร

จนกระทั่งอายุครบ 20 ปี (พ.ศ. 2494) ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร โดยมีพระเทพวิมล (ชุ่ม ติสาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระภัทรมุนี (อิ๋น ภัทรมุนี) เป็นพระกรรมวาจารย์ พระปริยัตยานุรักษ์ (สมบูรณ์ เตมิโย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลังจากอุปสมบทท่านก็ยังไม่ได้ละมานะที่จะเรียนบาลี โดยท่านสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยคในปี พ.ศ. 2497 และในปี พ.ศ. 2499 ท่านได้เดินทางกลับวัดหนองขุ่น ท่านเป็นเปรียญธรรมรูปแรกของบ้านหนองขุ่น [3]

ในปี พ.ศ. 2508 เป็นครั้งแรกที่หลวงพ่อได้พบกับหลวงพ่อชาที่วัดหนองหลัก ท่านเล่าความรู้สึกในครั้งนั้นว่า นึกชอบในอากัปกิริยาที่ดูเคร่งขรึมอันสำรวมของหลวงพ่อชา แต่ด้วยเหตุที่ยังหยิ่งในภูมิปริยัติของตนเอง ที่ได้เปรียญ 6 ประโยคจากกรุงเทพฯ ส่วนหลวงพ่อชาแม้จะเป็นนักธรรมเอกแต่ก็เป็นพระบ้านนอก จึงทำให้ในขณะนั้นท่านยังไม่รู้สึกเลื่อมใสหลวงพ่อชามากนัก ในที่สุดแล้ว ท่านก็ได้ตัดสินใจไปวัดหนองป่าพง โดยตั้งใจครั้งแรกว่าจะไปทดลองดูก่อน เมื่อเหยียบย่างเข้าไปในวัดหนองป่าพงครั้งแรก หลวงพ่อเกิดความรู้สึกประทับใจ และเกิดความเลื่อมใสในหลวงพ่อชาเป็นอย่างมาก หลวงพ่อจึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อชา ที่วัดหนองป่าพง จนถึงปี พ.ศ. 2513 ท่านได้รับบัญชาจากหลวงพ่อชา ให้ไปอยู่อบรมสั่งสอนญาติโยมที่สำนักใหม่ในอำเภอม่วงสามสิบ ซึ่งก็คือวัดป่าวิเวก(ธรรมชาน์) ในปัจจุบัน

วุฒิการศึกษาสูงสุด

[แก้]

นักธรรมเอกและเปรียญธรรม 6 ประโยค

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)และคณะศิษย์สายวัดหนองป่าพง; แถวหน้าสุด (จากซ้ายไปขวา) คือ หลวงพ่ออมร, หลวงพ่อชา และหลวงพ่อสุเมโธ (พระพรหมวชิรญาณ (โรเบิร์ต สุเมโธ))

หน้าที่การงาน

[แก้]
  • พ.ศ. 2517 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2518 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2525 เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตอำเภอม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2529 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวก(ธรรมชาน์) สาขาที่ 7 ของวัดหนองป่าพง[4]
  • พ.ศ. 2530 ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2531 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ

สมณศักดิ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2523 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอกที่ พระครูศรีปัญญาคุณ[5]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระมงคลกิตติธาดา[6]

มรณภาพ

[แก้]

พระมงคลกิตติธาดาได้อาพาธและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยอาการโรคหัวใจ ความดันโลหิต และโรคปอดบวม ทางแพทย์ได้ดูแลเยียวจนสุดความสามารถ แต่อาการก็มีแต่ทรงและทรุดมาตลอด จนมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 สิริอายุ 78 ปี 59 พรรษา

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตฺโต ป.ธ.6),[1] เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. พระมงคลกิตติธาดา (พระมหาอมร เขมจิตโต) ศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่ชา,[2] เก็บถาวร 2011-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. ประวัติพระมงคลกิตติธาดา, [3][ลิงก์เสีย]
  4. วัดป่าวิเวก(ธรรมชาน์) สาขา 7 วัดหนองป่าพง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี, [4]
  5. ราชกิจจานเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 97 ตอนที่ 188, ฉบับพิเศษ, 5 ธันวาคม 2523, หน้า 1
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/DATA/PDF/2530%5CD%5C253%5C1.PDF[ลิงก์เสีย]