พระพุทธมงคลมหาราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธมงคลมหาราช
ประเภทพระพุทธรูป
ความสูง19.9 เมตร
วัสดุทองเหลือง หล่อแยกชิ้น ลงสีทอง
สถานที่ประดิษฐานเขาคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ความสำคัญพระพุทธรูปประจำเมืองหาดใหญ่และขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในภาคใต้
หมายเหตุสร้างในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา
พระพุทธมงคลมหาราชบนเขาคอหงส์ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่

พระพุทธมงคลมหาราช เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานบนเขาคอหงส์ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ มีขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในภาคใต้ นับได้ว่าเป็น "พระพุทธรูปประจำเมืองหาดใหญ่" ประติมากรรมองค์พระสร้างขึ้นด้วยจิตศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 (72 พรรษา) ในรัชกาลที่ 9 ออกแบบโดย ภิญโญ สุวรรณคีรี (ศิลปินแห่งชาติ)[1] หล่อด้วยทองเหลือง ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า “พระพุทธมงคลมหาราช” ซึ่งหมายความว่า “ความเป็นสิริมงคลอันยิ่งใหญ่” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2542 สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประธานพิธีเททองพระหัตถ์พระพุทธมงคลมหาราช ณ มณฑลพิธีพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2543 จากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระเกตุมาลาเมื่อวันพฤหัสที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2553[2] ขึ้นมายังเขาคอหงส์ หันหน้าพระพักต์เข้าสู่เมืองหาดใหญ่[3]

โครงสร้าง[แก้]

พระพุทธมงคลมหาราช เป็นพระพุทธรูปทองเหลืองหล่อแยกชิ้น ขนาดเมื่อประกอบแล้วมีความสูง 19.9 เมตร (ไม่นับรวมฐาน) น้ำหนัก 200 ตัน[4] ปางห้ามญาติ หันหน้าพระพักต์เข้าสู่เมืองหาดใหญ่ ฐานพระพุทธมงคลมหาราชได้รับพระบรมราชาณุญาตให้ ใช้ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2552 ประดิษฐานบนเนินราบของเขาคอหงส์ (ยอดมีความสูง 371 เมตรเหนือน้ำทะเล) และสามารถโดยสารกระเช้าลอยฟ้ารางคู่ มีระยะทาง 525 เมตร จากสถานีท้าวมหาพรหม ไปยังสถานีพระพุทธมงคลมหาราช

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระพุทธมงคลมหาราช พระประจำเมืองหาดใหญ่". hatyaifocus.com.
  2. "พระพุทธมงคลมหาราช – หาดใหญ่ – Hatyai Taxi".
  3. "พระพุทธมงคลมหาราช ท้าวมหาพรหม พระโพธิสัตว์กวนอิม เขาคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา". BloggerTrip. 2016-08-24.
  4. Juth (2017-02-03). "พระพุทธมงคลมหาราช เขาคอหงส์". Juth.Net (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).