พญาพรหมโวหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พญาพรหม พญาพรหมวิไสย หรือ พญาพรหมโวหาร นามเดิม หนานพรหมินทร์ (บางหลักฐานชื่อ พรหมปัญญา) เป็นนักกวีชาวล้านนาที่มีชื่อเสียง

ประวัติ[แก้]

วัยเยาว์[แก้]

มีนามเดิมว่า พรหมินทร์ (หลักฐานบางแหล่งว่า พรหมปัญญา) เกิดเมื่อพุทธศักราช 2345 ปีจอ หรือปีเต่าเส็ด จุลศักราช 1164 ตามระบบปีล้านนา ที่บ้านสันกลาง ในตรอกตรงข้ามกับวัดดำรงธรรม (วัดไทยใต้) เป็นบุตรของเจ้าแสนเมืองมา ขุนนางผู้ใหญ่ในตระกูลเจ้าเจ็ดตน มีหน้าที่รักษากุญแจคลังหลวงของนครลำปาง มารดาชื่อนางจันทร์เป็ง (จันทร์เพ็ญ) มีน้องชายร่วมมารดาเดียวกันชื่อบุญยงหรือบุญโยง มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่พรหมินทร์ยังเด็กอยู่[1]

เมื่อเยาว์วัยพรหมินทร์ได้เล่าเรียนอักษรธรรมล้านนา ณ สำนักวัดป่าแภ่ง (วัดสิงห์ชัย ต.สบตุ๋ย อ.เมืองลำปาง ในปัจจุบัน) เมื่ออายุได้ 17 ปีจึงบรรพชาเป็นสามเณรในวัดนั้น เมื่ออายุได้ 20 ปี จึงได้อุปสมบทที่วัดป่าแภ่ง โดยมีครูบาเจ้าอุปนันโทเถระ เป็นพระอุปัชฌาชย์ (ตามหลักฐานใบลานของวัดสิงห์ชัยระบุว่าชื่อครูบาเจ้าอุปปละเถระ)[2] พระภิกษุพรหมินทร์เป็นพระนักเทศน์ที่มีน้ำเสียงดี สามารถอื่อกาพย์ (การขับพรรณนาคำร้อยกรองที่เป็นบทนำเรื่องที่จะเทศน์ คล้ายกับการแหล่ของภาคกลาง) ได้ไพเราะ และยังสามารถแต่งกาพย์ล้านนาสั้นได้ดี มีความสามารถในการเทศน์มหาชาติตอนกัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรีได้ไพเราะเป็นที่ชื่นชอบของบรรดามูลศรัทธาเป็นยิ่งนัก

นอกจากการความสามารถในด้านการอื่อกาพย์และแต่งกาพย์แล้ว พระภิกษุพรหมินทร์ยังได้ศึกษาในด้านไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และคชศาสตร์อีกด้วย เมื่อจำพรรษาที่วัดป่าแภ่งได้ ๓ พรรษา ครูบาเจ้าอุปนันโทเถระ (หรือครูบาเจ้าอุปปละเถระตามหลักฐานของวัดสิงห์ชัย) ได้แนะนำและฝากฝังพระภิกษุพรหมินทร์ให้ไปเรียนอักขระบาลีกับพระภิกษุปินตา (พินทา) แห่งสำนักวัดสุกเข้าหมิ้นหรือวัดสบขมิ้น เมืองนครเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง พื้นที่ถูกใช้เป็นโรงเรียนเมตตาศึกษา) ซึ่งเป็นสหายรักของท่าน พระภิกษุพรหมินทร์ได้ไปศึกษา ณ วัดสุกเข้าหมิ้น นครเชียงใหม่ เป็นเวลาประมาณ ๓ ปี และได้มีโอกาสอุปถัมภ์ค้ำจุนช่วยเหลือชาวเมืองแพร่ซึ่งเป็นญาติของหม่อมจันทร์ฟอง ซึ่งเป็นหม่อมห้ามของพระยาอินทวิไชย เจ้าหลวงเมืองแพร่ ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตของพรหมินทร์ที่เมืองแพร่ในภายภาคหน้า[3]

รับราชการที่เมืองลำปาง[แก้]

พ.ศ. 2371 พระภิกษุพรหมินทร์ได้ลาสิกขาบทเป็นฆราวาส แต่เหล่าญาติโยมคัดค้าน เพราะเสียดายความสามารถในทางธรรม พระภิกษุพรหมินทร์จึงได้แต่ง คร่าวใคร่สิกข์ (คร่าวอยากสึก) เอาไว้ก่อนจะลาสิกขา เมื่อพรหมินทร์อายุได้ 26 ปี ได้กลับมาทำงานที่นครลำปางในตำแหน่ง “กว้าน” ที่ศาลเมืองนครลำปางโดยรับจ้างเขียนคำร้อง ในขณะเดียวกันหนานพรหมินทร์ยังได้รับจ้างแต่ง คร่าวใช้ (บทกวีที่เป็นสื่อแสดงความรักของหนุ่มสาว คล้ายกับเพลงยาวของภาคกลาง) ซึ่งเป็นที่พอใจของผู้ว่าจ้าง มีหลายคู่ที่ได้แต่งงานเพราะคร่าวใช้ของหนานของพรหมินทร์

เมื่อเห็นความสามารถในด้านกวีของหนานพรหมินทร์ เจ้าแสนเมืองมาผู้เป็นบิดาจึงนำตัวหนานพรหมินทร์ไปฝากตัวกับพระญาโลมาวิไสย ซึ่งเป็นสหายรักสหชาติกับเจ้าแสนเมืองมา (เกิดปี เดือน วันเดียวกัน) พระญาโลมาวิไสยซึ่งเป็นอาลักษณ์ประจำราชสำนักนครลำปางและเป็นกวีที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายได้รับหนานพรหมินทร์เป็นลูกศิษย์ หนานพรหมินทร์ได้รับการฝึกฝนด้านกวีจนเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการแต่งคร่าวและกะโลง (โคลง) ภายหลังจากนั้นเจ้าแสนเมืองมาได้นำตัวหนานพรหมินทร์ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับใช้กับพระยาไชยวงศ์ เจ้าหลวงเมืองลำปาง พระยาไชยวงศ์เห็นว่าหนานพรหมินทร์มีความสามารถด้านกวีจึงส่งตัวไปอยู่แผนกอาลักษณ์ ทำให้หนานพรหมินทร์ได้ทำงานใกล้ชิดกับพระญาโลมาวิไสยผู้เป็นอาจารย์

ในช่วงระหว่างอายุ 26-31 ปี หนานพรหมินทร์ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับพระญาโลมาวิไสย และได้รับการไว้วางใจจากพระญาโลมาวิสัยให้ช่วยแต่งเติมและเสริมต่อบทประพันธ์ของพระญาโลมาวิไสยเอง เมื่อครั้งพระญาโลมาวิไสยได้แต่งคร่าวเรื่องหงส์ผาคำ หนานพรหมินทรได้รับมอบหมายให้ช่วยแต่งเติมบางตอน และตรวจทานชำระเนื้อเรื่องด้วย

หนานพรหมินทร์ได้รับราชการเป็นกวีประจำราชสำนักเมืองลำปาง มีหน้าที่เขียนสาส์นโต้ตอบติดต่อราชการกับเมืองต่าง ๆในล้านนา จนถึงสมัยเจ้าวรญาณรังษี เจ้าหลวงลำปาง ขณะยังเป็นพระยาอุปราชอยู่ ประมาณ พ.ศ. 2389-2390 ได้มีชาวเมืองแพร่มากราบทูลเจ้าวรญาณรังษีว่าที่เมืองแพร่มีช้างงามต้องลักษณะเชือกหนึ่ง เจ้าของช้างจะขายเพียง 2000 ธ็อก เจ้าวรญาณรังษีจึงมอบหมายให้หนานพรหมินทร์ไปซื้อช้างพร้อมเงิน 2000 ธ็อก หนานพรหมินทร์เดินทางไปเมืองแพร่พร้อมด้วยนายเปี้ย นายผัด และผู้ติดตามอีก 2 คน โดยใช้ช้างเป็นพาหนะ เมื่อเดินทางถึงบ้านป่าแมด หนานพรหมินทร์ได้นำเงินไปเล่นการพนันจดหมดสิ้น และได้แต่งคร่าวช้างขึด (ลักษณะช้างชั่ว) ให้ผู้ติดตามนำกลับไปเมืองลำปางถวาย ซึ่งในใจความของคร่าวช้างขึดนั้นหนานพรหมินทร์แก้ตัวว่าได้ซื้อช้างแล้วแต่ช้างนั้นมีลักษณะขึด (อัปมงคล) จึงมอบให้พวกเงี้ยวเมืองนายไปแล้ว ดังความตอนหนึ่งว่า

อันตัวช้างนั้น ไปผ่อมาจริง เนื้อตัวคิง โบราณช้างบ้าน
นัยตาขาว สามหาวขี้หย้าน กลัวไฟฟืน ตื่นล้อ
ระนาดพาทโพน ถอยหนท้นท้อ กลัวสว่าห้อ พานเด็ง
หมอกวานผ่อเลี้ยง บ่แพ้แหนเกรง หางมันเอง บังซองหย่อนป้าน
"คร่าวช้างขึด" ของ หนานพรหมินทร์

(อย่างไรก็ตาม เอื้อม อุปันโน ได้กล่าวแย้งว่าคร่าวบทนี้น่าจะเป็นคร่าวพรรณนาเรื่องช้างขึดที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้พระราชทานให้เจ้าฟ้าเมืองนายมากกว่า หนานพรหมินทร์ซึ่งขณะนั้นรับราชการอย่ที่ราชสำนักเชียงใหม่เลยแต่งในช่วงนั้น)[4]

เมื่อเจ้าวรญาณรังษีทราบเรื่องก็กริ้วหนานพรหมินทร์อย่างมาก ถึงขั้นประกาศว่า “กันไอ่พรหมปิ๊กมาย่ำเมืองละกอนวันใด หัวปุ๋ดวันนั้น” (หากไอ้พรหมกลับมาเหยียบเมืองละกอนวันไหน หัวขาดวันนั้น) ทำให้หนานพรหมินทร์ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองแพร่

รับราชการที่เมืองแพร่[แก้]

ขณะที่หนานพรหมินทร์พักอยู่ที่บ้านป่าแมดนั้น หนานพรหมินทร์ได้ไปติดพันสนิทกับหญิงหลายคน เช่น นางบัวเกี๋ยง และนางสรีจม (ศรีชม) ซึ่งเดิมเป็นภรรยาของส่างติงหย่า (บางหลักฐานว่าชื่อส่างจิ่นขี้ยา บางหลักฐานว่าชื่อหม่องด้วง) ส่างติงหย่าเป็นนักพนันตัวยง เมื่อเสียพนันก็ได้ไปยืมเงิน 18 ธ็อก กับพระญาอินทร์บ้านนาแหลม โดยให้นางสรีชมอยู่เป็นตัวประกัน พระญาอินทร์ได้ส่งนางไปช่วยแผนกโรงครัวในคุ้มหลวงเมืองแพร่

หนานพรหมินทร์ได้เข้าฝากตัวกับพระยาอินทวิไชย เจ้าหลวงเมืองแพร่ ด้วยความมีชื่อเสียงในด้านกวีทำให้พระยาอินทวิไชยรับตัวหนานพรหมินทร์ไว้ในราชสำนักเมืองแพร่ หนานพรหมินทร์ได้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านของหม่อมจันทร์ฟอง เพราะเคยมีบุญคุณช่วยเหลือญาติของหม่อมจันทร์ฟองขณะที่เรียนอยู่ที่เชียงใหม่ หม่อมจันทร์ฟองก็ได้เอื้อเฟื้อดูแลหนานพรหมินทร์อย่างดี ด้วยความที่หนานพรหมินทร์กับหม่อมจันทร์ฟองมีความสนิทสนมกันมาก ถึงขั้นเรียกขานหนานพรหมินทร์ว่า “พี่พรหมินทร์” ทำให้พระยาอินทวิไชยเกิดความหึงและระแวงจนจับหนานพรหมินทร์ไปขังคุก กำหนดจะประหารชีวิตในวันเสาร์ เดือน 6 เหนือ ขึ้น 5 ค่ำ แต่พระยาราชวงศ์ (พิมพิสาร) ได้เข้าเฝ้าของดโทษประหารชีวิตหนานพรหมิทร์ เพราะจะได้ให้หนานพรหมินทร์แต่งคร่าวดำหัวเจ้านายในเทศกาลสงกรานต์ พระยาอินทวิไชยจึงงดโทษให้ตามประสงค์

ในช่วงที่หนานพรหมินทร์ติดคุกอยู่เมืองแพร่ นางสรีจมได้เพียรไปเยี่ยมที่คุกเสมอ หนานพรหมินทร์ได้ใช้เวลาที่อยู่ในคุกแต่งร่ายขึ้น เรียกว่า “คำจ่มพญาพรหม” (คำรำพันพญาพรหม) บางครั้งเรียกว่า “โวหารพญาพรหม” ซึ่งมีเนื้อหาตัดพ้อต่อว่าพระยาอินทวิไชย โดยเขียนไว้กับพื้นคุก (บางหลักฐานว่าเขียนไว้กับกระเบื้องดินขอ) ช่วงที่ติดคุกนี้หนานพรหมินทร์มีอายุได้ 59 ปี เมื่อติดคุกได้ระยะหนึ่ง หนานพรหมินทร์เบื่อหน่ายสภาพคุกที่สกปรกโสโครก และต้องทรมารจากการถูกพันธนาการโซ่ตรวน จึงทำการแหกคุกออกมา ทฤษฎีการแหกคุกของพระยาพรหมโวหาร สันนิษฐานไว้หลายแนว ดังนี้

  • พระกัสสปเถระ แอบเขียนคาถาเหล็กเมื่อย ใส่กระดาษสอดไว้ในข้าวเหนียวให้หนานพรหมินทร์ใช้สะเดาะโซ่ตรวน
  • เจ้าราชวงศ์เห็นแก่ความเป็นคนคุ้นเคยจึงแอบช่วยเหลือ
  • น้อยไชยลังกา สหายรัก เป็นลูกน้องเจ้าน้อยยศนายคุก แอบช่วยเหลือ
  • บุญยงได้ข่าวพี่ชายจะถูกประหารเลยบุกปล้นคุก
  • ผู้สมรู้ร่วมคิดมีมากกว่าหนึ่งคน

หนานพรหมินทร์อยู่เมืองแพร่ได้ 3 เดือน จึงแหกคุกออกไปและพานางสรีจมไปอยู่ด้วย

ชีวิตที่เมืองลับแล[แก้]

หนานพรหมินทร์และนางสรีชมหนีจากเมืองแพร่ไปอยู่เมืองลับแล (ลับแลง) แขวงเมืองพิชัย (อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์) บริเวณบ้านสันคอกควาย ซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจของเมืองแพร่ หนานพรหมินทร์เริ่มชีวิตใหม่โดยเป็นพ่อค้า ส่วนนางสรีชมทอผ้าอยู่บ้าน วันหนึ่งหนานพรหมินทร์ไปทวงหนี้ที่บ้านท่าเสา โดยมีเพื่อนร่วมทางคือน้อยกาวิตาและน้อยไชยลังกา ขณะที่หนานพรหมินทร์ไปทวงหนี้ พระญาอินทร์บ้านนาแหลมได้ส่งจดหมายให้นางสรีชมกลับเมืองแพร่โดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อหนานพรหมินทร์กลับมาบ้านก็ไม่พบนางสรีชม ด้วยความผิดหวังเสียใจเศร้าใจและอาลัย หนานพรหมินทร์จึงได้แต่งคร่าวรำพันความรู้สึกของตน เรียกกันว่า “คร่าวสี่บท” หรือ “คร่าวร่ำนางชม” รำพึงรำพันถึงความหลังครั้งยังรักกัน ต่อว่านางสรีชมว่าสงสัยจะมีชู้ และโน้มน้าวให้เมียกลับไปอยู่ด้วยกันที่เมืองลับแล ผลงานการประพันธ์ชิ้นนี้มีความไพเราะกินใจ เป็นคร่าวที่คนล้านนาจดจำกันได้ดีที่สุด ในช่วงที่อยู่เมืองลับแลงนี้หนานพรหมินทร์มีอายุได้ 60 ปี หลังจากหนานพรหมินทร์มาอยู่ลับแลงแล้ว ก็ได้กลับไปที่เมืองลำปางอีกครั้งเนื่องจากเจ้าวรญาณรังษีที่เคยคาดโทษได้ถึงแก่พิราลัยแล้ว โดยรับราชการกับเจ้าพรหมาภิพงษธาดา เจ้าหลวงลำปางตนที่ 10 ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของหนานพรหมินทร์[5] [6]

รับราชการที่เชียงใหม่[แก้]

ในปี พ.ศ. 2420 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าทิพเกสร ได้มีสาส์นขอตัวหนานพรหมินทร์ไปเมืองนครเชียงใหม่หลายครั้ง จนเจ้าพรหมาภิพงษธาดา และเจ้าอุปราช (ไชยแก้ว) ได้อนุญาตให้หนานพรหมินทร์เดินทางไปเมืองเชียงใหม่ เมื่อไปถึงเชียงใหม่ก็ได้รับความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกสรอย่างดี และได้แต่งคร่าวซอพระอภัยมณีขึ้น ตามรับสั่งของเจ้าทิพเกสร หนานพรหมินทร์ได้รับเงินหลายแถบ พร้อมได้รับเจ้าบัวจันทร์เป็นภรรยา ได้รับบ้านอาศัย ที่ดินไร่นา พร้อมข้าทาสบริวารรับใช้ ได้รับพานสำรับหมากเงิน เสื้อผ้าอาภรณ์บริบูรณ์ และไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปลำปางอีก[7]

พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงพิเศษ ขึ้นมาแก้ปัญหาชายแดน และจัดระเบียบการปกครองในเขตเมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน และเมืองนครเชียงใหม่ เจ้าราชบุตร (ขัตติยวงศ์) ได้มอบหมายให้หนานพรหมินทร์แต่งคร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เมื่อพ.ศ. 2427 โดยได้รับรางวัล เป็นเงิน 20 แถบ ซึ่งถือเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของหนานพรหมินทร์[8]

พ.ศ. 2430 หนานพรหมินทร์ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราที่บ้านในซอยข้างวัดเชตุพน เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 เหนือ ตรงกับวันพญาวัน (วันเถลิงศก) สิริอายุ 85 ปี

ทายาท[แก้]

กล่าวกันว่า พญาพรหมโวหารมีภรรยาถึง 42 คน[9] ภรรยาของหนานพรหมินทร์คนสุดท้ายคือเจ้าบัวจันทร์ มีลูกสาวด้วยกันคือ นางอินท์ตุ้มหรือนางขี้หมู นางอินท์ตุ้มแต่งงานกับท้าวสมภาร มีบุตรชื่อนายเจริญ อยู่บ้านฟ้าฮ่าม ริมน้ำปิงฝั่งตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ ต่อมาบวชเป็นพระภิกษุ จำพรรษาที่วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ เมื่อมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระญาพรหมโวหารที่สวนสาธารณะเขื่อนยาง ต.สบตุ๋ย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปางโดยพุทธสมาคมจังหวัดลำปาง พระภิกษุเจริญได้นำอัฐิหนานพรหมินทร์ซึ่งเดิมบรรจุที่กู่ในวัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ มาบรรจุไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์พระญาพรหมโวหารด้วย[10]

รายชื่อผลงาน[แก้]

  • คร่าวใคร่สิกข์ (ไม่พบต้นฉบับ)
  • คร่าวช้างขึด (ไม่พบต้นฉบับทั้งเรื่อง)
  • คร่าวร่ำช้างงายาว (ไม่พบต้นฉบับ)
  • คร่าวสี่บท (คร่าวร่ำนางชม)
  • คำจ่มพญาพรหม (โวหารพญาพรหม)
  • คร่าวปู่สอนหลาน
  • คร่าวซอหงส์หิน (ไม่พบต้นฉบับ)
  • คร่าวสัพพะคำสอน (ไม่พบต้นฉบับ)
  • เจ้าสุวัตรนางบัวคำ
  • มหาพนตำรายา (เวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาพน ฉบับตำรายา)
  • คร่าวซอพระอภัยมณีแลสรีสุวัณ แต่งจบความที่อภิเษกศรีสุวรรณกับนางเกษราเท่านั้น
  • คร่าวรับเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร

ตำแหน่งพญา[แก้]

หนานพรหมินทร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพญาเมื่อใดไม่มีหลักฐาน อย่างน้อยที่สุดพรหมินทร์น่าจะมียศเป็นพญาพรหมวิไสย ในสมัยเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาเป็นเจ้าหลวงลำปาง ปรากฏหลักฐานในคร่าวซอพระอภัยมณีว่า

ศักดิ์นานาม ไขตามถี่ชั้น หื้อจริงแน่แจ้ง ใจใน
นามะทัต พรหมวิไสย อยู่ละคอรไชย โภยภัยบ่ต้อง
เพิ่งกุศล ร่มเงาฉัตรจ้อง ปองงานเมือง เจื่องท้าว
"คร่าวซอพระอภัยมณีแลสรีสุวัณ" ของ หนานพรหมินทร์

พระครูอดุลสีลกิติ์มีความเห็นว่าน่าจะเป็นจริง เพราะอาจารย์ของหนานพรหมินทร์คือพญาโลมาวิไสย เจ้าหลวงลำปางก็คงตั้งพระทัยให้ชื่อศิษย์กับอาจารย์พ้องกัน สำหรับตำแหน่งพญา ว่าได้มาเมื่อใด พระครูอดุลสีลกิติ์มีความเห็นว่าหนานพรหมินทร์น่าจะได้ตำแหน่งนี้เมื่ออายุ 46 ปี โดยเจ้าวรญาณรังษีเป็นผู้แต่งตั้ง[11] ส่วนมงคล ถูกนึกมีความเห็นว่าหนานพรหมินทร์อาจได้เป็นพญาในสมัยพระยาน้อยอินทร์ หรือสมัยที่หนานพรหมินทร์กลับมารับราชการที่เมืองลำปางอีกครั้งในสมัยเจ้าพรหมาภิพงษ์ธาดาก็ได้[12]

ส่วนชื่อตำแหน่งราชทินนาม พระญาพรหมโวหาร นั้น ในหลักฐานร่วมสมัยปรากฏแต่เพียง พญาพรหมวิไสย กับ พญาพรหมปัญญา มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสร้อย “โวหาร” นั้น อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากราชทินนามของ พระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่[13] ส่วนมงคล ถูกนึกมีความเห็นว่าอาจจะเป็น สมัญญานาม คำสร้อย หรือฉายาที่คนทั่วไปขนานนามให้หนานพรหมินทร์ เพราะเนื่องจากหนานพรหมินทร์เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน มีสำนวนโวหารเสมอ จึงเรียกว่า พระญาพรหมโวหาร ก็เป็นได้ [14]

อ้างอิง[แก้]

  1. มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
  2. มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
  3. มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
  4. มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
  5. มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
  6. ยุทธพร นาคสุข. คร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กวีนิพนธ์ที่ค้นพบใหม่ของพระญาพรหมโวหาร. เชียงราย: สยามโฆษณาและการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2547
  7. ยุทธพร นาคสุข. คร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กวีนิพนธ์ที่ค้นพบใหม่ของพระญาพรหมโวหาร. เชียงราย: สยามโฆษณาและการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2547
  8. ยุทธพร นาคสุข. คร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กวีนิพนธ์ที่ค้นพบใหม่ของพระญาพรหมโวหาร. เชียงราย: สยามโฆษณาและการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2547
  9. สงวน โชติสุขรัตน์. คนดีเมืองเหนือ. นนทบุรี: ศรีปัญญา. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2552
  10. มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
  11. ยุทธพร นาคสุข. คร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กวีนิพนธ์ที่ค้นพบใหม่ของพระญาพรหมโวหาร. เชียงราย: สยามโฆษณาและการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2547
  12. มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561
  13. ยุทธพร นาคสุข. คร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร กวีนิพนธ์ที่ค้นพบใหม่ของพระญาพรหมโวหาร. เชียงราย: สยามโฆษณาและการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2547
  14. มงคล ถูกนึก. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอนุสาวรีย์กวีเอกล้านนา พระญาพรหมโวหาร ประวัติและผลงานพระญาพรหมโวหาร วัดป่าแภ่งสิงห์ชัยในสายธารประวัติศาสตร์เขลางค์นคร. ลำปาง: ลำปางบรรณกิจพริ้นติ้ง. พิมพ์ครั้งที่ 1, 2561