ผู้ใช้:Great680/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สวัสดี

ภาษาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Thailand Linguistics Olympiad: LOT) เป็นการแข่งขันเพื่อคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ดำเนินการโดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) โดยมีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานมูลนิธิ

ประวัติ[แก้]

การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2564 โดยภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ริเริ่ม โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ และได้ส่งผู้แทนไปร่วมการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Linguistics Olympiad หรือ IOL) เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2565

ตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน[แก้]

ตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทยมีองค์ประกอบหลัก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ภาพนามธรรมของศิลาโรเซตตา (Rosetta Stone) อักษรย่อภาษาอังกฤษ LOT และอักษรย่อภาษาไทย ภอท.

ศิลาโรเซตตา จารขึ้นโดยใช้อักขระสามชนิด คือใช้อักขระไฮโรกลิฟิก (Hieroglyphic) และอักขระดิมอติก (Demotic) เพื่อจารภาษาอียิปต์ และใช้อักขระกรีกเพื่อจารภาษากรีก เมื่อมีการค้นพบศิลาโรเซตตานั้น ยังไม่มีผู้ใดอ่านอักขระไฮโรกลิฟิกได้ แต่เพราะการจารเนื้อความเดียวกันในสองภาษาด้วยอักขระสามชนิดจึงทำให้สามารถถอดรหัสอักขระไฮโรกลิฟิกได้

การแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกในต่างประเทศมักมีโจทย์ปัญหาประเภทศิลาโรเซตตามาให้ผู้เข้าแข่งขันแก้อยู่เสมอ โจทย์ปัญหาประเภทศิลาโรเซตตาคือโจทย์ปัญหาสองภาษา ภาษาหนึ่งเป็นภาษา (หรือระบบสัญลักษณ์ที่คล้ายภาษา) ที่ผู้แก้โจทย์ไม่ทราบ และอีกภาษาหนึ่งคือภาษาแม่ของผู้แก้โจทย์ ("Solverese") โจทย์ประเภทนี้อาจให้ผู้แก้โจทย์แปลภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง หรือแก้โจทย์อื่นๆ เกี่ยวกับภาษาที่ผู้แก้โจทย์ไม่ทราบ

ในส่วนของตัวย่อภาษาอังกฤษของการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย แม้ว่าชื่อการแข่งขันภาษาอังกฤษจะเป็น Thailand Linguistics Olympiad แต่การย่อชื่อการแข่งขันภาษาอังกฤษ ย่อด้วย LOT เพื่อสื่อถึงการลำดับคำตามภาษาไทย สังเกตได้จากตราสัญลักษณ์ที่วาง L O และ T อยู่ในตำแหน่งเดียวกับ ภ อ และ ท ตามลำดับ

นอกจากนี้ที่ตัวอักษรย่อภาษาไทย ภอท. ยังมีสัญลักษณ์ที่เป็นเส้นโค้งและเส้นตรงกำกับ สัญลักษณ์ดังกล่าวสะท้อนภาพอวัยวะที่ใช้ในการผลิตเสียงเชิงสัทศาสตร์ของแต่ละอักษร ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการออกแบบสัญลักษณ์แทนเสียงที่เรียกว่า วจนะที่มองเห็น (visible speech) สัญลักษณ์ทั้งสามที่กำกับอักษรย่อภาษาไทย ภอท. แสดงอวัยวะที่ใช้ในการผลิตเสียงที่แตกต่างกันคือ <ภ> /pʰ/ ริมฝีปาก <อ> /ʔ/ เส้นเสียง และ <ท> /tʰ/ ปลายลิ้นที่ไปแตะปุ่มเหงือก ตามลำดับ

วิธีการคัดเลือกและลักษณะข้อสอบ[แก้]

การแข่งขันจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี โดยผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกสถานที่สอบที่สะดวกจากศูนย์สอบ 4 ศูนย์สอบ คือ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้สอบที่ได้คะแนนสูงสุดในการแข่งขันรอบแรกประมาณ 20-30 คน จะได้รับคัดเลือกเพื่อเข้าอบรมความรู้และทักษะเชิงวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์ และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Linguistics Olympiad หรือ APLO) ซึ่งเป็นการแข่งขันในระดับภูมิภาค ในช่วงเดือนเมษายน หลังจากนั้น คณะกรรมการจะคัดเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกเอเชียแปซิฟิก จำนวน 4 คน เป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันภาษาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศในช่วงเดือนกรกฎาคม

ข้อสอบจะไม่ทดสอบความรู้ทางด้านภาษาหรือภาษาศาสตร์ แต่จะทดสอบทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลภาษาด้วยการสังเกตและการใช้ตรระกะ และความสามารถในการพูดหลายภาษาจะเป็นประโยชน์เพียงแค่ทำให้ทราบว่าภาษาต่าง ๆ ใช้งานอย่างไร โดยข้อสอบจะมีจำนวน 3 ข้อ และมีเวลาสอบ 2 ชั่วโมง

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]