ผู้ใช้:Astronott03/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จิตวิทยาองค์การ[แก้]

จิตวิทยาองค์การ(Organizational Psychology)เป็นการนำหลักจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของคนในองค์การ นักจิตวิทยาจะนำแบบทดสอบมาใช้เพื่อคัดเลือกและจัดวางตำแหน่งงานให้เหมาะกับความสามารถของบุคคล และนักจิตวิทยามีหน้าที่ศึกษาวิธีการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน รวมไปถึงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคนในองค์การด้วย[1]

ความหมาย[แก้]

จิตวิทยา หมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมหรืออาการของมนุษย์ รวมถึงการศึกษาว่ามีสิ่งใดบ้างที่ส่งผลทำให้เกิดการแสดงพฤติกรรมต่างๆ แล้วนำข้อมูลต่างๆมาใช้ในการคาดคะเนหรือพยากรณ์การเกิดพฤติกรรมต่างๆ โดยใช้แนวทางของวิทยาศาสตร์เป็นแนวทางในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล[2]

องค์การ หมายถึง การรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง แบบมีเหตุมีผลของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน มีการแบ่งงานและแบ่งหน้าที่กัน มีการจัดลำดับขั้นของการบังคับบัญชาและความรับผิดชอบ[3]

จิตวิทยาองค์การ หมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะการรวมตัวกันในแบบต่างๆของกลุ่มบุคคล ศึกษาปัญหาจากการรวมกลุ่ม และศึกษาวิธีการลดความขัดแย้ง และศึกษาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของคนในองค์การ[4]

ประวัติความเป็นมา[แก้]

ความเป็นมาในอเมริกา[แก้]

ประวัติความเป็นมาของจิตวิทยาองค์การในอเมริกาจะเกี่ยวข้องกับสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง โดยจะยึดระยะเวลาต่างๆของพัฒนาการทางจิตวิทยาองค์การตามคริสต์ศักราชที่เกี่ยวข้องการสงครามโลกเป็นเกณฑ์

ระยะต้น (ค.ศ. 1900-1969)[แก้]

ในสมัยนั้นค่อนข้างที่จะเข้มงวดในการวิจัยเกี่ยวกับจิตวิทยา นักจิตวิทยาส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะศึกษาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดนอกห้องทดลอง เนื่องจากในสมัยนั้นค่อนข้างเข้มงวดกับการทดลอง นักจิตวิทยาจึงทำการทดลองในห้องทดลองเป็นส่วนใหญ่ ในระยะนี้เริ่มมีการใช้จิตวิทยามาใช้กับการทำงานโดยเริ่มใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 เป็นต้นมา

ระยะสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1917-1918)[แก้]

นักจิตวิทยาเริ่มเห็นหนทางที่จะทำให้มองเห็นความสำคัญของจิตวิทยาโดยใช้สงครามเป็นเครื่องมือพิสูจน์ นักจิตวิทยาที่สำคัญในระยะนี้คือ โรเบิร์ต เยิร์กส์ เขาได้แนะนำหลักการทางจิตวิทยามาใช้ในการคัดเลือกทหาร จนในที่สุดกองทัพอเมริกาเห็นว่าควรนำมาใช้ เยิร์กส์ และนักจิตวิทยาคนอื่นๆจึงได้ช่วยกันพัฒนาแบบทดสอบเพื่อใช้ในกองทัพบก ในระยะนี้ถือว่าเป็นการพัฒนาทางด้านจิตวิทยาโดยนำมาใช้ในการแก้ปัญหาทางด้านบุคลากรทางทหาร

ระยะระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1919-1940)[แก้]

ในช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงการทดสอบไปจากเดิมคือ เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ทดสอบกันในห้องทดลองเป็นทดสอบในสภาพแวดล้อมจริงนอกห้องทดลอง การทดสอบที่มีชื่อเสียงที่สุดในช่วงนี้คือการศึกษาฮอว์ธอร์น(Hawthorne Studies) โดยเอลตัน มาโย และคณะจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานกับปัจจัยสภาพแวดล้อมต่างๆในที่ทำงานว่าจะมีผลกับการทำงานหรือไม่ โดยได้แบ่งกลุ่มคนงานเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะมีการนำหลักการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้ เช่นการให้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมเมื่อทำงานได้เกินเกณฑ์ การปรับแสงสว่างและอุณหภูมิในที่ทำงาน และอีกกลุ่มจะไม่มีการนำการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์มาใช้ ผลที่ได้คือไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างไรผลผลิตของทั้ง 2 กลุ่มก็ไม่มีความแตกต่างกัน สรุปผลการศึกษาได้ว่าประสิทธิภาพของงานจะขึ้นอยู่กับขวัญกำลังใจ ความพึงพอใจ หรือสภาพจิตใจการทดลองนี้แสดงให้เห็นความสำคัญทางด้านจิตวิทยาต่อการทำงานในองค์การ ทำให้เกิดแนวคิดการใช้แรงจูงใจเข้ามาใช้กับการบริหารงาน[5]

ระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1941-1945)[แก้]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำหลักการทางจิตวิทยามาใช้กับทางทหาร มีการทำแบบทดสอบชื่อ Army General Classification Test (AGCT) นำมาใช้ประโยชน์ทางทหารในด้านต่างๆ เช่น การคัดเลือกโปรแกรมนายทหาร การจัดโปรแกรมการฝึกอบรม การวิเคราะห์งานและเทคนิค การประเมินผลการทำงาน

ระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ.1945-ปัจจุบัน)[แก้]

ในระยะนี้จะเป็นในรูปแบบของวิชาการ มีการพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสาร นักจิตวิทยาได้ให้ความสนใจจิตวิทยาองค์การมากขึ้น และได้กลายเป็นสาขาหนึ่งของจิตวิทยา ในองค์การต่างๆก็ได้นำหลักของจิตวิทยาองค์การไปใช้ในที่ทำงานมากขึ้น มีการใช้แบบทดสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานอย่างยุติธรรม

ความเป็นมาในยุโรป[แก้]

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรปได้สนใจที่จะนำจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหามนุษย์ในวงการอุตสาหกรรม และเริ่มเป็นปึกแผ่นเมื่อปีค.ศ. 1930 จากความพยายามของนักจิตวิทยาที่จะช่วยเหลือในสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้เกิดการพัฒนาของจิตวิทยาในด้านนี้ จนจิตวิทยาองค์การได้กลายเป็นสาขาหนึ่งของจิตวิทยา[6]

ขอบเขตการศึกษา[แก้]

  1. ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดกับกลุ่มบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการทำงานที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งความขัดแย้งอาจส่งผลกระทบต่อองค์การจึงต้องศึกษาปัญหาและหนทางแก้ไขปัญหา โดยใช้ความรู้ทางจิตวิทยามาประยุกต์ใช้
  2. ปัญหาการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน นักจิตวิทยาต้องใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเข้ามาใช้ตัดสินใจเลือกบุคคลที่จะเข้ามาทำงานเพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ปัญหาการฝึกอบรม การฝึกอบรมเป็นหน้าที่หนึ่งของนักจิตวิทยาองค์การ โดยประยุกต์หลักจิตวิทยาเข้าช่วยในการอบรม เพื่อปรับปรุงและพัฒนาความสามารถของคนในองค์การ
  4. ปัญหาขวัญและความพอใจในการทำงาน ขวัญกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงาน เมื่อคนในองค์การมีขวัญกำลังใจดีก็ย่อมส่งผลให้มีความพอใจในการทำงาน จึงเป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาคือต้องศึกษาว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้คนในองค์การเกิดขวัญและกำลังใจในการทำงาน และมีความพอใจในการทำงาน
  5. ปัญหามนุษยสัมพันธ์ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคน เป็นปัญหาที่สำคัญ การใช้อำนาจในการทำงานมากเกินไปจะทำให้เกิดผลเสีย แต่ถ้าคนในองค์การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากเกินไปก็จะส่งผลเสียเช่นเดียวกัน เพราะอาจจะนัดกันหยุดงานนักจิตวิทยาองค์การจึงต้องนำความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนในองค์การ
  6. ปัญหาความเหนื่อยล้าและเบื่อหน่ายต่องาน นักจิตวิทยาองค์การต้องคอยตรวจสอบและค้นหาวิธีการต่างๆที่จะช่วยลดความเมื่อยล้าไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือต่างเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการทำงาน ซึ่งอาจจะต้องพึ่งพาวิศวกรหรือนักออกแบบที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน นอกจากการเหนื่อยล้าทางกายแล้วอีกปัญหาคือความเบื่อหน่ายซึ่งเป็นปัญหาทางใจ อาจจะเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศในการทำงาน แก้ไขโดยการเปิดเพลงฟังสร้างบรรยากาศหรือปรับแสงสว่างให้พอเหมาะ ก็จะสามารถลดความเหนื่อยล้าได้

โดยสรุปแล้วการทำงานของนักจิตวิทยาองค์การจะแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ บุคคล – บุคคล บุคคล – กลุ่ม บุคคล – วัตถุ และสิ่งที่อยู่ภายในบุคคล การแก้ปัญหาของของนักจิตวิทยาองค์การใช้ความรู้ทางจิตวิทยาหลากหลายสาขามาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางอยู่ 3 ด้าน คือ

  1. ให้ความสนใจกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน
  2. ให้ความสนใจด้านมนุษยสัมพันธ์
  3. ให้ความสนใจด้านสุขภาพ และการปรับตัวของคนงาน[7]

บทบาทหน้าที่ของนักจิตวิทยาองค์การ[แก้]

ทิฟฟิน และแมคคอร์มิก ได้อธิบายถึงหน้าที่และกิจกรรมของนักจิตวิทยาองค์การไว้ 4 ประการ คือ การวิจัย การเป็นที่ปรึกษา การพัฒนาโปรแกรม และการประเมินผลบุคคล ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหน้าที่พื้นฐาน โดยรายละเอียดของทั้ง 4 ประการมีดังนี้

  1. การวิจัย คือการค้าคว้าหาข้อมูลต่างๆเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆหรือนำมาพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน
  2. การเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่คนในองค์การเกี่ยวกับปัญหาที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมด้านความถนัดในการทำงาน การฝึกอบรมด้านการจัดการและให้การปรึกษาแนะนำในด้านอื่นๆ
  3. การพัฒนาโปรแกรม นักจิตวิทยาองค์การจะช่วยในการจัดการโปรแกรมต่างๆ เช่น การฝึกอบรม การทดสอบบุคลากร การประเมินผล โดยใช้ความรู้และเทคนิคทางด้านจิตวิทยา
  4. การประเมินผลบุคคล นักจิตวิทยาองค์การจะต้องทำการประเมินตามวัตถุประสงค์ตามที่องค์การต้องการ

นอกจากหน้าที่หลัก 4 ประการ นี้นักจิตวิทยาองค์การยังมีหน้าที่อื่นๆแยกย่อยออกไปอีก เช่นการพัฒนาแบบทดสอบ การแปลผล การสัมภาษณ์บุคคลเพื่อทำการวิจัย และให้ข้อเสนอแนะกับหัวหน้างานหรือบุคลากรด้านการจัดการ เพื่อเป็นหลักในการดำเนินงานในองค์การ[8]

สาขาจิตวิทยาองค์การ[แก้]

จิตวิทยาองค์การมีแยกย่อยออกเป็นสาขาต่างๆ ดังนี้

จิตวิทยาบุคคล เป็นการนำความรู้ด้านความแตกต่างของบุคคล มาใช้คัดเลือกหรือกำหนดให้ทำงานตามความถนัดของบุคคล รวมไปถึงการประเมินผลความสามารถของบุคคล การจัดอันดับผลงานของคนในองค์การและการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพในการทำงาน

พฤติกรรมองค์กร เป็นการศึกษาผลกระทบขององค์การที่มีต่อบุคคลภายในองค์การ โดยหลักแล้วจะเน้นที่บทบาทและพฤติกรรม ผลกระทบของแรงกดดันในองค์การต่อบุคคล ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อองค์การ

การพัฒนาองค์กร สาขานี้จะศึกษาการที่จะทำอย่างไรให้องค์การเกิดการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง ซึ่งนักจิตวิทยาองค์การจะต้องวินิจฉัยองค์การ แล้วนำข้อมูลที่วินิจฉัยแล้วมาใช้[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (ม.ป.ป.). จิตวิทยา Psychology. หน้า 14
  2. จิตวิทยา Psychology ความหมายของจิตวิทยา ขอบข่ายของจิตวิทยา ความสำคัญของจิตวิทยา ประวัติและความเป็นมาของจิตวิทยา
  3. โยธิน ศันสนยุทธ . (2530). มนุษยสัมพันธ์ จิตวิทยาการทำงานในองค์การ. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์ ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ. หน้า 15
  4. ภาควิชิจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. (2528). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพมหานคร. หจก. คุณพินอักษรกิจ. หน้า 19
  5. กลุ่มทฤษฎีองค์การเชิงพฤติกรรมศาสตร์ - มณีรัตน์ สุวรรณวารี - GotoKnow
  6. รศ.ขนิษฐา วิเศษสาธร และ รศ.มุกดา ศรียงค์. (2542). จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ. งานตำราและเอกสารการพิมพ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม หน้า 3-14
  7. รศ.ขนิษฐา วิเศษสาธร และ รศ.มุกดา ศรียงค์. (2542). จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ. งานตำราและเอกสารการพิมพ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม หน้า 19-22
  8. รศ.ขนิษฐา วิเศษสาธร และ รศ.มุกดา ศรียงค์. (2542). จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ. งานตำราและเอกสารการพิมพ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม หน้า 18-19
  9. Writer -ตอนที่ 3 จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร