ผู้ใช้:26พฤษภา58
วันพยาธิแพทย์ไทย ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคมของทุกปี โดยราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดให้มีขึ้นเป็นครัังแรกในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งครบรอบ 40 ปีของการจากไปของศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส พยาธิแพทย์ไทยคนแรก ซึ่งมีคุณูปการต่อวงการแพทย์ ไม่เฉพาะแต่พยาธิวิทยาเท่านั้น แต่กว้างขวางครอบคลุมทั้งการศึกษาแพทยศาสตร์ การก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ไทยแห่งที่ 2 และ 3 ต่อวงการวิชาชีพแพทย์ไทย วงการสาธารณสุขไทย และเทคนิคการแพทย์ไทยอีกด้วย เนื้อหาในบทความนี้แนะนำให้รู้จักพยาธิแพทย์และศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส พยาธิแพทย์ไทยคนแรก เพื่อให้ทราบความสำคัญของปูชนียาจารย์ทางการแพทย์ของไทย ซึ่งทางราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทยกำหนดวันพยาธิแพทย์ไทยขึ้นเพื่อให้สังคมไทยได้รู้จักพยาธิแพทย์มากขึ้น
พยาธิแพทย์คือใคร
[แก้]“พยาธิแพทย์ (Pathologist)” (อ่านว่า “พะ-ยา-ทิ-แพด”) เป็นชื่อเรียกแพทย์ที่ทำงานทางด้านพยาธิวิทยา (Pathology) (อ่านว่า “พะ-ยา-ทิ-วิด-ทะ-ยา”) เป็นศัพท์บัญญัติหนึ่งที่หนังสือศัพท์แพทยศาสตร์ของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ให้ไว้สำหรับศัพท์แพทย์ภาษาอังกฤษ “Pathologist” ซึ่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ผู้ที่ทำงานทางด้านพยาธิวิทยาอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ก็ได้ ส่วนมากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งในประเทศไทย ก็จะเป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาพยาธิชีววิทยา (Pathobiology) (อ่านว่า “พะ-ยา-ทิ-ชี-วะ-วิด-ทะ-ยา”) จึงมีศัพท์บัญญัติอีกคำหนึ่งคือ “นักพยาธิวิทยา” (อ่านว่า “นัก-พะ-ยา-ทิ-วิด-ทะ-ยา”) สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานทางด้านพยาธิวิทยา และอาจจะมีที่เป็นทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในคนเดียวกันที่ทำงานทางด้านพยาธิวิทยา แต่ทว่ามีจำนวนน้อยมากในประเทศไทย
พยาธิวิทยาคืออะไร
[แก้]“พยาธิวิทยา (Pathology)” เป็นชื่อเรียกสาขาวิชาทางการแพทย์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยความเจ็บไข้ เป็นการสมาสระหว่างคำว่า “พยาธิ” (อ่านว่า “พะ-ยา-ทิ”) กับ “วิทยา” แต่เนื่องจากคำว่า “พยาธิ” (อ่านว่า “พะ-ยาด”) ในอีกความหมายหนึ่งที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคือ “ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งอย่างน้อยในระยะหนึ่งของชีวิตจะเป็นปรสิตอยู่ในมนุษย์และสัตว์ ชนิดตัวแบน เช่น พยาธิใบไม้ พยาธิตัวตืด ชนิดตัวกลมหรือหนอนพยาธิ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิแส้ม้า ดังนั้น ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้บ่อยว่า “พยาธิวิทยา” เป็นวิชาว่าด้วยตัวพยาธิ และ “พยาธิแพทย์” เป็นแพทย์ที่ตรวจวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวพยาธิ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การศึกษาเกี่ยวกับตัวพยาธินั้นเป็นเพียงสาขาวิชาหนึ่งในพยาธิวิทยาที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ปรสิตวิทยา” (อ่านว่า “ปะ-ระ-สิด-วิด-ทะ-ยา”) (หมายเหตุ : ในสมัยก่อนเรียก “ปาราสิตวิทยา” หรือ Parasitology และนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านตัวพยาธิ เรียกว่า “นักปรสิตวิทยา” หรือ “parasitologist”)
ประวัติความเป็นมาของพยาธิวิทยาในประเทศไทย
[แก้]ในอดีต เมื่อปี พ.ศ. 2462 มีพยาธิแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ Aller Gustin Ellis (Aller G. Ellis, A.G. Ellis หรืออาจารย์เอลลิส) เข้ามาในประเทศไทยเพื่อช่วยเหลืองานด้านการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลศิริราช นับเป็นการก่อตั้งแผนกพยาธิวิทยาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในครั้งนั้น ยังไม่มีศัพท์บัญญัติ จึงเรียกทับศัพท์ว่า “แผนกปาโถโลยี” โดยเริ่มเปิดบริการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อจากการผ่าตัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2462 ซึ่งก่อนหน้านั้น ไม่มีการตรวจวินิจฉัยด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยพยาธิแพทย์เลย นับเป็นการเริ่มต้นบทบาทของพยาธิแพทย์ในทางการแพทย์ของไทยสำหรับงานทางด้านศัลยพยาธิวิทยา (Surgical Pathology) ซึ่งเป็นงานบริการสำคัญอย่างหนึ่งของสาขาพยาธิวิทยากายวิภาค (Anatomical Pathology หรือ Anatomic Pathology) โดยมีงานสำคัญอีกอย่างหนึ่งในสาขานี้ของพยาธิวิทยาคือ การตรวจศพ (Autopsy หรือ Postmortem examination) เพื่อหาสาเหตุการตายของผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล
พยาธิแพทย์ไทยคนแรกคือใคร
[แก้]พยาธิแพทย์ไทยคนแรกที่ปรากฏในประวัติศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันของไทยคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส (บรรดาศักดิ์ในอดีตคือ “หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์” บรรดาลูกศิษย์ของท่านจึงนิยมเรียกท่านว่า “อาจารย์หลวงเฉลิมฯ”) ท่านจบการศึกษาแพทยศาสตร์ (แพทย์ประกาศนียบัตร) จากโรงเรียนราชแพทยาลัย สังกัดจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2460 นับเป็นแพทย์ศิริราชรุ่นที่ 23 และเริ่มต้นทำงานเป็นครั้งแรกด้วยการรับราชการในห้องตรวจเชื้อของโรงพยาบาลศิริราช ก่อนที่จะมีการก่อตั้งแผนกปาโถโลยี ท่านได้ช่วยงานพยาธิวิทยาให้กับอาจารย์เอลลิสอยู่ 1 ปี จากนั้น ในปี พ.ศ. 2463 ท่านได้รับประทานทุนส่วนพระองค์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 6 ให้ไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขศาสตร์ที่ Johns Hopkins School of Hygiene and Public Health (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2461) และท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าเรียนที่สถาบันแห่งนี้ และสำเร็จหลักสูตร ได้รับปริญญาเอกทางสาธารณสุขศาสตร์ (Dr. P.H.) เมื่อปี พ.ศ. 2466 ซึ่งวิทยานิพนธ์ของท่านคือ LABORATORY METHODS FOR THE DIAGNOSIS OF VARIOLA (วิธีทางห้องปฏิบัติการสำหรับการวินิจฉัยโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษหรือ Smallpox) ต่อมาท่านได้อาสาสมัครเป็นผู้ช่วยในภาควิชาพยาธิวิทยาและจุลชีววิทยา (Department of Pathology and Bacteriology) ณ โรงเรียนแพทย์ Johns Hopkins ฝึกฝนและดูงานเป็นเวลา 2 ปี (2466-2467) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว Prof. Dr. William G. MacCullum ปรมาจารย์ทางพยาธิวิทยาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยนั้นเป็นหัวหน้าภาควิชาอยู่ จากนั้นท่านกลับมารับราชการเป็นอาจารย์แพทย์แผนกพยาธิวิทยา และรับตำแหน่งหัวหน้าแผนกต่อจากอาจารย์เอลลิสในปี พ.ศ. 2471 จนถึงปี พ.ศ. 2485 จึงได้ไปรับตำแหน่งอธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต่อมาเป็นอธิบดี กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2488 และสุดท้ายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนที่ 14 ดำรงตำแหน่งอยู่ 1 ปี 1 เดือน ระหว่างวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501
ผลงานวิจัยของอาจารย์หลวงเฉลิมฯ
[แก้]ผลงานวิจัยของอาจารย์หลวงเฉลิมฯ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในสมัยนั้นคือการค้นพบวงจรชีวิตของพยาธิตัวจี๊ด (Life cycle of Gnathostoma spinigerum) ที่ท่านได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง ใช้เวลารวม 5 ปีในการวิจัยจนได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานไว้ในวารสารทางแพทย์ระดับนานาชาติชื่อ Journal of Parasitology ฉบับเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2476 หลังจากนั้น ก็มีงานวิจัยตีพิมพ์ต่อเนื่องในเรื่องนี้ในวารสารเดียวกันอีก 2 เรื่อง รวมทั้งวิทยานิพนธ์สำหรับปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตของศาสตราจารย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ ตันสุรัต เรื่องเกี่ยวกับอาหารที่นำโรคพยาธิตัวจี๊ดมาสู่คน ความโดดเด่นในทางวิชาการของท่านนั้นเป็นที่ยอมรับในสมัยนั้น ท่านเป็น 1 ใน 2 คนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ประยุกต์ร่วมกับพระอัพภันตราพาธพิศาล (ศาสตราจารย์ นายแพทย์กำจร พลางกูร) ในปี พ.ศ. 2485 (หมายเหตุ : เนื่องจากอาจารย์หลวงเฉลิมฯ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับพยาธิตัวจี๊ด อาจจะทำให้คนไทยเข้าใจผิดมากขึ้นไปอีกว่าพยาธิแพทย์ทำงานค้นคว้าเกี่ยวกับตัวพยาธิ แต่ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น และประกอบกับการหาสาเหตุของความเจ็บไข้ก็นับเป็นหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของพยาธิแพทย์ จึงไม่ควรแปลกใจว่า วิชาว่าด้วยจุลชีพต่าง ๆ ที่เรียกว่า “จุลชีววิทยา” และ “ปรสิตวิทยา” นับเป็นสาขาหนึ่งของพยาธิวิทยาด้วย)
ความสามารถอื่น ๆ ของอาจารย์หลวงเฉลิมฯ
[แก้]อาจารย์หลวงเฉลิมฯ เป็นอาจารย์สอนวิชาพยาธิวิทยาที่นักเรียนแพทย์ในสมัยนั้นประทับใจในการสอนเรื่องยาก ๆ ให้เป็นเรื่องง่าย เช่น เรื่องการอักเสบ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญของวิชาแพทย์ อาจารย์แพทย์และศิษย์เก่าหลายท่านบันทึกไว้ว่าอาจารย์หลวงเฉลิมฯ สอนได้ดีมาก ทำให้เข้าใจและเห็นพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง อาจารย์หลวงเฉลิมฯ เป็นอาจารย์แพทย์ที่ทุ่มเทอย่างมากให้กับการเรียนการสอนวิชาพยาธิวิทยา และขยายออกไปครอบคลุมวิชาแพทย์ทั้งหมดด้วย ท่านมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของไทยได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2490 และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 3 ของไทยในปี พ.ศ. 2502 ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ผลงานในด้านบริหารของอาจารย์หลวงเฉลิมฯ
[แก้]อาจารย์หลวงเฉลิมฯ มีความสามารถในงานบริหารที่โดดเด่น ทำให้ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญตามลำดับจนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น อาจารย์หลวงเฉลิมฯ มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มองค์กรและสถาบันสำคัญทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยตามลำดับ ดังนี้
- พ.ศ. 2470 สโมสรแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภายหลังรวมกับแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม ในปี พ.ศ. 2476 เป็น “แพทยสมาคมแห่งกรุงสยามและสโมสรแพทย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ในปี พ.ศ. 2490)
- พ.ศ. 2478 สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2490 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน) โดยใช้เวลาเพียงข้ามปีนับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงมีพระราชปรารภให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ให้มีปริมาณมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชน เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จมาพร้อมกับพระราชอนุชา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9) ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่แพทย์และพยาบาล ณ ศิริราชพยาบาล เมื่อปี พ.ศ. 2489 ซึ่งในขณะนั้น อาจารย์หลวงเฉลิมฯ ดำรงตำแหน่งอธิบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์อยู่ ซึ่งศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้เขียนบทความเรื่อง “ผู้สร้างโรงเรียนแพทย์มาตรฐานด้วยมือเปล่า” สดุดีอาจารย์หลวงเฉลิมฯ ไว้ในหนังสืออนุสรณ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส
- พ.ศ. 2491 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2500 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (เปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2512)
- พ.ศ. 2500 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2502 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รำลึกถึงอาจารย์หลวงเฉลิมฯ ในวันพยาธิแพทย์ไทย
[แก้]อาจารย์หลวงเฉลิมฯ มีโรคเบาหวานและความดันเลือดสูงเป็นโรคประจำตัว แต่ก็ควบคุมได้ดี สามารถมีกิจกรรมทางสังคมกับเพื่อนฝูงญาติมิตรได้อย่างสม่ำเสมอตลอดมา ท่านถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2518 สิริอายุได้ 78 ปี 9 เดือน 7 วัน ซึ่งราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดให้วันครบรอบ 40 ปีของวันถึงแก่อนิจกรรมของท่านคือ วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 เป็นวันพยาธิแพทย์ไทยเป็นครั้งแรก เพื่อรำลึกถึงคุณูปการต่าง ๆ ที่อาจารย์หลวงเฉลิมฯ ได้สร้างสรรค์ให้แก่ประเทศไทย และส่งเสริมให้พยาธิแพทย์ไทยทั่วประเทศร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่สังคมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้สังคมได้รู้จักพยาธิแพทย์มากขึ้น และได้ทราบความสำคัญตลอดจนบทบาทหน้าที่ของพยาธิแพทย์ที่มีต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยให้ดีขึ้น
อ้างอิง
[แก้]1) หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส วันที่ 1 กันยายน 2518
2) หนังสืออนุสรณ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เนื่องในงานสดุดีเกียรติคุณ ระลึกถึง และจัดหาทุนศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี เสาร์ที่ 29 พฤษภาคม 2519 โดยคณะกรรมการจัดหาทุนศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส เพื่อส่งเสริมการศึกษาทางการแพทย์