ผีเสื้อหนอนม้วนใบเขานัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผีเสื้อหนอนม้วนใบเขานัน
ขณะเป็นตัวเต็มวัย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Arthropoda
ชั้น: Insecta
อันดับ: Lepidoptera
วงศ์: Tortricidae
สกุล: Fibuloides
สปีชีส์: Fibuloides khaonanensis
ชื่อทวินาม
Fibuloides khaonanensis
(ค.ศ. 2008)

ผีเสื้อหนอนม้วนใบเขานัน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Fibuloides khaonanensis; ชื่อสามัญ: Khao Nan Leaf Rollers) เป็นสัตว์จัดเป็นผีเสื้อกลางคืน หรือ มอสขนาดเล็ก (Microlepidoptera) ในวงศ์ผีเสื้อหนอนม้วนใบ (Family Tortricidae) ที่พบเฉพาะประเทศไทย ซึ่งถูกค้นพบโดย ผศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว

ที่มาของชื่อ[แก้]

ผีเสื้อหนอนม้วนใบเขานัน ได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ว่า Fibuloides khaonanensis ชื่อระบุชนิด "khaonanensis" นั้น ตั้งตามชื่อสถานที่ค้นพบ คือ เขานัน เป็นชื่อทิวเขาที่ตั้งอยู่ในแนวทิวเขานครศรีธรรมราช เขตจังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวัติการค้นพบ[แก้]

ผีเสื้อหนอนม้วนใบเขานันถูกค้นพบโดย ผศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ค้นพบในบริเวณจุดชมบัวแฉก เขานัน อุทยานแห่งชาติเขานัน ต.ทุ่งศาลา อ.สิชล[1] จ.นครศรีธรรมราช ที่ระดับความสูงประมาณ 310 เมตรจากระดับน้ำทะเล ภายใต้โครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศป่าเมฆ สนับสนุนงบประมาณโดยโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) ซึ่งเก็บตัวอย่างได้ 4 ตัวและเป็นเพศผู้ทั้งหมด เก็บได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2549

ลักษณะ[แก้]

ผีเสื้อหนอนม้วนใบเขานันมีความกว้างของปีกขณะกางปีกวัดได้ประมาณ 6.6-6.7 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ามีขนาดเล็กมาก ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนและมีเกล็ดขนาดใหญ่คลุมทั่วตัว ปีกคู่หน้าและปีกคู่หลังมีขนาดไม่เท่ากัน โดยปีกคู่หน้าค่อนข้างแคบและยาวกว่าปีกคู่หลัง (คล้ายกับรูประฆังนอนตะแคง) พื้นปีกสีน้ำตาลเข้มและมีลายแถบสีขาวครีมเล็กๆ คาดบริเวณขอบปีกด้านหน้า ส่วนปีกคู่หลังขนาดปีกใหญ่และกว้างมากกว่าปีกคู่หน้า (คล้ายกับรูปห้าเหลี่ยม) พื้นปีกสีน้ำตาลอ่อน และมีส่วนคล้ายกับเส้นขนละเอียดยาว ขึ้นเรียงกันรอบขอบปีกด้านนอกทั้งสองปีก ส่วนหนวดหนึ่งคู่มีสีน้ำตาลอ่อนลักษณะเรียวยาวคล้ายเส้นด้าย และส่วนขามีเกล็ดสีน้ำตาลแถบสีขาวคาดสลับเป็นปล้องขึ้นคลุมทั่วทั้งสามคู่ นอกจากนี้บริจาคด้านข้างส่วนท้องปล่องที่ 4, 5, 6 และ 7 มีกลุ่มแถบเกล็ดพิเศษขึ้นคลุมอีกด้วย

แหล่งที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจาย[แก้]

ผีเสื้อหนอนม้วนใบเขานันมีแหล่งที่อยู่อาศัยในป่าดิบชื้นและแพร่กระจายอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขานัน จ.นครศรีธรรมราช

อ้างอิง[แก้]

  1. "ผีเสื้อหนอนม้วนใบเขานัน". BIOGANG.[ลิงก์เสีย]

เอกสารประกอบ[แก้]

  • ทัศนัย จีนทอง. ผีเสื้อหนอนม้วนใบเขานัน ; ชีวิตที่เพิ่งพบใหม่. วารสาร อพวช. ISSN 1905-1514